สไปโนซอรัสผู้น่าเกรงขามอาจเก้กังเมื่อต้องว่ายน้ำ

สไปโนซอรัสผู้น่าเกรงขามอาจเก้กังเมื่อต้องว่ายน้ำ

ภาพกราฟิกของสไปโนซอรัส ขณะใช้ชีวิตในแหล่งน้ำเพื่อล่าเหยื่อ
ศิลปกรรมโดย Davide Bonadonna

สไปโนซอรัส ผู้น่าเกรงขามอาจเก้กังเมื่อต้องว่ายน้ำ

ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ไดโนเสาร์ความยาวมากกว่า 50 ฟุต กำลังเดินด้อมมองหาเหยื่ออยู่ยังบริเวณอ่าวโบราณของโมร็อกโกในปัจจุบัน ด้วยอาวุธอันตรายคือขากรรไกรยาวที่คล้ายกับจระเข้ มันคือ “สไปโนซอรัส” (Spinosaurus aegyptiacus) และประเด็นที่ว่าเจ้าไดโนเสาร์กินเนื้อตัวนี้สามารถล่าเหยื่อในน้ำได้หรือไม่นั้น เป็นข้อถกเถียงในวงการวิทยาศาสตร์มานาน

ในปี 2014 รายงานการค้นพบโดย Nizar Ibrahim นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ระบุว่า สไปโนซอรัสน่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตในน้ำ พวกมันว่ายน้ำตลอดจนดำน้ำได้เสียด้วยซ้ำ เพื่อล่าเหยื่อจำพวกปลา และนี่เป็นไดโนเสาร์บกตัวแรกที่เชื่อกันว่ามีความสามารถแบบนั้น อย่างไรก็ตามผลการศึกษาใหม่ล่าสุดชี้ว่า แม้ปลาจะเป็นอาหารหลักของสไปโนซอรัส แต่พวกมันไม่ใช่นักว่ายน้ำตัวยง

รายงานการวิเคราะห์ทางบรรพชีวินวิทยานี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร PeerJ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2018 ด้วยโปรแกรมจำลองการว่ายน้ำของมันผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ผลการวิจัยชี้ว่าสไปโนซอรัสน่าจะถนัดลอยตัวในน้ำมากกว่า ทว่าด้วยน้ำหนักตัวที่มากอาจส่งผลให้ร่างกายของมันเอียงไปมา

“งานวิจัยของผมขัดแย้งกับสมมุติฐานของ Ibrahim และหากทีมของเขาไม่สามารถหาหลักฐานใหม่ๆ มาล้มล้างได้ ไดโนเสาร์ตัวนี้ก็คือไดโนเสาร์ที่ว่ายน้ำไม่ได้” Don Henderson ภัณฑารักษ์ด้านไดโนเสาร์ จากพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยา Royal Tyrrell ในรัฐแอลเบอร์ตา แคนาดากล่าว

ขณะนี้แม้จะยังไม่มีข้อยืนยันที่ชัดเจนว่าสไปโนซอรัสเคลื่อนไหวในน้ำอย่างไร ทว่ารายงานการค้นพบใหม่อาจพอยุติข้อถกเถียงเกี่ยวกับการหาอาหารของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมานี้ได้ “ร่างกายของสไปโนซอรัสแสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้มมีขึ้นเพื่อปรับตัวสำหรับการดำและว่ายน้ำ” Tom Holtz นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย เสนอความคิดเห็น

 

ไม่มีวันจมที่แท้จริง?

พิจารณาแบบยังไม่คำนึงถึงว่าไดโนเสาร์เหล่านี้ว่ายน้ำอย่างไร ทั้งสไปโนซอรัส และไดโนเสาร์อื่นๆ ในวงศ์สไปโนซอร์อาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่ต้องมีแหล่งน้ำ จากหลักฐานทางฟอสซิล เกล็ดปลาถูกพบในท้องของสไปโนซอรัส และโครงกระดูกของพวกมันก็ปรากฏในพื้นที่ที่เคยเป็นชายฝั่งหรือเส้นทางที่แม่น้ำไหลผ่านมาก่อน

ขากรรไกรของสไปโนซอรัสมีความคล้ายคลึงกับปลาไหลหอก (Pike Conger eels) ทั้งคู่มีปากเรียวแหลม มีฟันรูปกรวยผิวเรียบ ซึ่งช่วยในการจับปลาลื่นๆ ในน้ำ นอกเหนือไปกว่านั้น องค์ประกอบทางเคมีที่ได้จากฟอสซิลซึ่งยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันชี้ว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในน้ำเช่นเดียวกับจระเข้ ในปัจจุบัน

“เราพบเอกสารงานวิจัยที่น่าตื่นเต้นมากมายบรรยายหลักฐานว่าเจ้าตัวนี้ชอบน้ำมากแค่ไหน” Ibrahim กล่าว ในฐานะของนักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัย Portsmouth “ส่วนรายละเอียดที่ว่าพวกมันว่ายน้ำอย่างไรนั้นยังคงต้องพึ่งพาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น”

สไปโนซอรัส
โครงกระดูกของสไปโนซอรัส ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา
ภาพถ่ายโดย Rebecca Hale

ในการหาคำตอบ Henderson สร้างโมเดลสามมิติของสไปโนซอรัสขึ้นมา โดยอ้างอิงข้อมูลจากการค้นพบฟอสซิลของ Ibrahim เมื่อปี 2014 ตัวเขามุ่งความสนใจไปที่กระโดงบนหลังของมัน ซึ่งมีน้ำหนักมากถึงร้อยปอนด์ และมีขนาดยาวหลายฟุต นอกจากนั้นเขายังสร้างโมเดลจำลองของแอลลิเกเตอร์และเพนกวินจักรพรรดิขึ้นมาด้วย เพื่อตรวจสอบโมเดลให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

เริ่มแรก Henderson ตรวจสอบว่า เมื่อลอยตัวอยู่ในน้ำ สไปโนซอรัสจะคงส่วนหัวของมันให้ลอยพ้นผิวน้ำได้อย่างไร ผลปรากฏว่าแบบจำลองของเขาระบุว่ามันทำได้ แต่ไม่ได้ดีไปกว่าไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นๆ อย่างทีเร็กซ์ หรือแบรีออนิกซ์ ญาติของมันในวงศ์สไปโนซอร์ และยังพบว่าร่างกายของสไปโนซอรัสแทบจะเรียกได้ว่า “ไม่สามารถจมน้ำได้” แม้จะรวมน้ำหนักความหนาแน่นของกระดูก และปล่อยอากาศออกจากปอดไปแล้วราว 3 ใน 4 ก็ตาม ดูเหมือนว่าก็ยังเป็นการยากที่ไดโนเสาร์ตัวนี้จะดำลงไปยังใต้น้ำ ซึ่งนี่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ในการล่าเหยื่อของมัน

โมเดลของเขายังแสดงให้เห็นอีกว่า จุดศูนย์กลางมวลของสไปโนซอรัสอยู่ที่บริเวณเหนือพื้นที่ตรงกลางของเท้าหลัง นั่นหมายความว่ามันสามารถเดินด้วยขาหลังทั้งสองข้างอย่างแน่นอน ซึ่งจุดนี้ขัดแย้งกับงานวิจัยของ Ibrahim ที่ระบุว่าจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณส่วนหน้าของร่างกาย บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์ชนิดนี้ต้องเดินด้วยขาทั้งสี่ข้าง อันเนื่องมาจากว่าขาหลังของมันนั้นมีขนาดเล็ก และสั้นเมื่อเทียบกับบรรดาญาติๆ ของมัน “ขามันสั้นและอ้วนพี” Holtz กล่าวเสริม จึงเป็นที่มาของสมมุติฐานเดิมว่าขารูปลักษณ์เช่นนี้อาจจะเหมาะกับการว่ายน้ำมากกว่า

ในขั้นต่อมา Henderson มองหาว่า สไปโนซอรัสสามารถทรงตัวในน้ำได้มากน้อยแค่ไหน เขาวิเคราะห์โมเดลตามแนวขวางของสไปโนซอรัส เทียบกับแอลลิเกเตอร์สายพันธุ์อเมริกัน ผลการทดสอบแอลิเกเตอร์โยกตัวโงนเงนไปมา จนในที่สุดก็เจอจุดที่สมดุล แต่สำหรับสไปโนซอรัสมันเอียงไปทางด้านหนึ่ง และคงตัวตรงอยู่แบบนั้น

“ทุกวันนี้บรรดาสัตว์ที่มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ในน้ำอย่างเต่า หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในน้ำ พวกมันไม่ต้องพยายามฝืนให้ร่างกายตั้งตรงในน้ำ” Henderson กล่าว “การตั้งตัวในน้ำไม่ใช่ท่าตามธรรมชาติของสัตว์”

 

ชีวิตในน้ำ

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ Ibrahim น้อมรับผลการวิจัยใหม่นี้ แต่ยังคงมีความกังวลในหลายประเด็น

ประเด็นสำคัญ เขาชี้ว่า Henderson ไม่ได้สร้างโมเดลการวิจัยจากการลงพื้นที่สำรวจฟอสซิลด้วยตัวเอง การวิจัยทางคอมพิวเตอร์ไม่อาจใช้ฟอสซิลอ้างอิงจากแหล่งเดียวได้ “การใช้โมเดลมันเจ๋งมาก แต่จำเป็นต้องมีมากกว่านี้ทั้งโมเดล และฟอสซิล” Ibrahim กล่าว “ทุกวันนี้คำตอบของโลกดึกดำบรรพ์ยังคงอยู่ในกระดูก ไม่ใช่ในคอมพิวเตอร์ ”

ด้าน Holtz เสริมว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่สไปโนซอรัสอาจกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิวัฒนาการไปสู่สัตว์ที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในน้ำอย่างแท้จริง “แน่นอนว่าคุณไม่มีเครื่องมือที่เพียบพร้อมเลยหรอก สำหรับพฤติกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น” ก่อนหน้านี้ Henderson เองเคยจินตนาการว่าสไปโนซอรัสอาจจะคล้ายกับหมีกริซลี่ ซึ่งมีอาหารหลักคือปลา และพวกมันเองก็ไม่มีปัญหาในการเดินลงหรือเดินขึ้นจากน้ำแต่อย่างใด

David Hone นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ ในกรุงลอนดอน เสริมว่า การหาวิธีการว่ายน้ำของสัตว์ไม่ได้เรียบง่ายเหมือนใช้กระดาษลิตมัสทดสอบ (กระดาษที่ใช้ทดสอบความเป็นกรดเป็นด่าง) “นกยางเองก็ว่ายน้ำไม่เก่ง แต่มันใช้เวลาแทบทั้งชีวิตเดินหาปลาในแหล่งน้ำตื้น” เขากล่าว “สัตว์ที่มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ในน้ำ (semi-aquatic) อาจมีแรงขับให้วิวัฒนาการบางอย่าง แต่นี่เรากำลังพูดถึงสัตว์ที่มีระบบนิเวศเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำไม่ใช่หรือ?”

เรื่องมิคาเอล เกรสโค

 

อ่านเพิ่มเติม

เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์กับ ไดโนเสาร์ จะอยู่ร่วมโลกกัน?

 

Recommend