วิดีโอสโลโมชั่นแสดงการบินของฮัมมิงเบิร์ด

วิดีโอสโลโมชั่นแสดงการบินของฮัมมิงเบิร์ด

นกฮัมมิงเบิร์ดอาศัยอยู่เฉพาะในทวีปอเมริกา จากทางตอนใต้ของรัฐอะแลสกาไปจนถึงกลุ่มเกาะเตียร์ราเดลฟวยโก ปัจจุบันมีชนิดพันธุ์ของฮัมมิงเบิร์ดที่รู้จักแล้วราว 340 ชนิด ศูนย์กลางความหลากหลายอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอนดีสซึ่งมีนกฮัมมิงเบิร์ด 290 ชนิดอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นที่ลุ่ม ป่าเมฆคลุมบนยอดเขา และทุกระบบนิเวศที่อยู่ระหว่างนั้น ชนิดพันธุ์ที่เล็กที่สุดอาจมี น้ำหนักไม่ถึงสองกรัม ส่วนชนิดพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดคือนกฮัมมิงเบิร์ดใหญ่ซึ่งพบในเปรูและชิลี มีน้ำหนักราว 20 กรัม

นกขนาดเล็กที่สุดในโลกเป็นเพียงความโดดเด่นหนึ่งในหลายอย่างของนกฮัมมิงเบิร์ด พวกมันเป็นนกจำพวกเดียวที่บินอยู่กับที่กลางอากาศได้ 30 วินาทีหรือนานกว่านั้น เป็นนกจำพวกเดียวที่มี “เกียร์ถอยหลัง” คือบินถอยหลังได้จริงๆ และเป็นเจ้าของสถิติสัตว์มีกระดูกสันหลังซึ่งมีอัตราเมแทบอลิซึมหรือการเผาผลาญเร็วที่สุดในโลก การศึกษาของมหาวิทยาลัยโทรอนโตเมื่อปี 2013 สรุปว่า ถ้านกฮัมมิงเบิร์ดมีขนาดเท่ามนุษย์โดยเฉลี่ย พวกมันจะต้องดื่มน้ำอัดลมกระป๋องขนาด 330 มิลลิลิตรหนึ่งกระป๋องในแต่ละนาทีที่พวกมันบินอยู่กับที่ เพราะพวกมันเผาผลาญน้ำตาลเร็วมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่นกฮัมมิงเบิร์ดจะต่อสู้กันเพื่อครอบครองดงดอกไม้อุดมด้วยน้ำต้อย

ในปี 2011 ไทสัน เฮดริก นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านชีวกลศาสตร์ (biomechanics) ในสัตว์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา วิทยาเขตแชเพิลฮิลล์ ทำการเชื่อมต่อกล้องซึ่งถ่ายภาพได้หนึ่งพันภาพต่อวินาทีเข้ากับกล้องถ่ายภาพรังสีเอกซ์ เพื่อบันทึกการบินของฮัมมิงเบิร์ด

เมื่อเฮดริกไล่ดูภาพตามลำดับ การเคลื่อนไหวครั้งละเล็กละน้อยของกระดูกปีกก็ผสานกันเป็นรูปแบบ จากนั้นเป็นภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แล้วการทำงานของปีกก็เผยออกมาให้เห็น แทนที่จะกระพือปีกด้วยการขยับไหล่ขึ้น-ลง เฮดริกพบว่า นกฮัมมิงเบิร์ดกระพือปีกด้วยการหมุนไหล่ การปรับเปลี่ยนเช่นนี้ทำให้มันมีสิ่งที่เทียบได้กับ “เกียร์สูง” เพื่อให้การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อระยะหนึ่งมิลลิเมตรมากพอจะขับเคลื่อนปีกเป็นวงกว้าง

 

อ่านเพิ่มเติม : ภาพถ่ายจากสารคดีเรื่องนกฮัมมิงเบิร์ดที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกฮัมมิงเบิร์ด วิหคสายฟ้า

Recommend