กบสีม่วงสายพันธุ์ใหม่ ในเทือกเขาอันห่างไกล

กบสีม่วงสายพันธุ์ใหม่ ในเทือกเขาอันห่างไกล

กบสีม่วงสายพันธุ์ใหม่ ในเทือกเขาอันห่างไกล

ทีมนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบกบสายพันธุ์ใหม่ที่หายากในเทือกเขาฆาฏตะวันตก ของประเทศอินเดีย เจ้ากบตัวนี้มีเนื้อตัวเป็นมัน ผิวหนังสีม่วง ขอบดวงตาของมันเป็นสีฟ้า และเอกลักษณ์อันโดดเด่นนั่นคือจมูกที่มีรูปทรงคล้ายกับจมูกหมู

นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อมันว่า กบสีม่วง Bhupathy (Nasikabatrachus bhupathi) เพื่อเป็นเกียรติแก่ด็อกเตอร์ Subramaniam Bhupathy เพื่อนร่วมงานของเขา ผู้ศึกษาเกี่ยวกับสปีชี่ส์ของสัตว์ และเสียชีวิตระหว่างการทำงานในเทือกเขาฆาฏตะวันตก เมื่อปี 2014

ในฐานะของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกแล้ว หน้าตาของกบสายพันธุ์ใหม่สีม่วงอาจดูแปลกประหลาด แต่ผลของร่างกายที่เป็นเช่นนี้ต่อยอดมาจากวิวัฒนาการนับครั้งไม่ถ้วนในการเอาตัวรอด ดวงตาที่เล็ก, จมูกยื่นยาว แขนขาสั้นที่มาพร้อมกับลักษณะคล้ายจอบแข็งๆ ช่วยให้มันสามารถอาศัยอยู่ใต้ดินได้ตลอดชีวิต

กบสีม่วงไม่จำเป็นต้องขึ้นมาบนพื้นดินเพื่อหาอาหาร เจ้ากบอินเดียตัวนี้ใช้ลิ้นยาวของมันในการจับมดและปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดินกินเป็นอาหาร รายงานจาก อลิซาเบธ เพรนดินี นักสัตววิทยาด้านสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งอเมริกา และผู้ร่วมเขียนบทความอธิบายถึงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ในวารสาร Alytes ฉบับล่าสุด

กบสีม่วง Bhupathy เป็นญาติที่ใกล้ชิดกับกบสีม่วงอีกชนิดหนึ่งที่เคยถูกพบในถูมิภาคนี้เมื่อปี 2003 โดยการค้นพบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจากการสนับสนุนของรัฐบาลในการรวบรวมดีเอ็นเอของกบและคางคกทุกชนิดในประเทศ

“สายเลือดของกบตัวนี้มีความเก่าแก่ และมีความหลากหลายต่ำมาก ดังนั้นการค้นพบครั้งนี้จึงเป็นเรื่องพิเศษ” เพรนดินีกล่าว

(เคยสงสัยกันไหม บรรดากบพิษเอาชีวิตรอดจากพิษของตัวเองได้อย่างไร?)

 

ร้องเพลงกลางสายฝน

มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ยั่วยวนให้มันขึ้นมาจากดินได้นั่นก็คือ สายฝน

เมื่อฤดูฝนมาถึง กบสีม่วงตัวผู้จะเริ่มส่งเสียงร้องดังลั่นมาจากใต้พื้นดิน ราเมช อัครวาล นักเขียนอาวุโสผู้ศึกษาเกี่ยวกับโมเลกุลทางชีววิทยาจากศูนย์ชีววิทยาของเซลล์และโมเลกุล ในไฮเดอราบาด ประเทศอินเดียกล่าว

จากนั้นทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมาพบหน้ากันกลางสายฝน หลังพวกมันผสมพันธุ์กัน ไม่กี่วันต่อมาไข่ที่ปฏิสนธิจะฟักเป็นลูกอ๊อด

แต่ลูกอ๊อดเหล่านี้ไม่เหมือนกับลูกอ๊อดทั่วไปของกบสายพันธุ์อื่น ลูกอ๊อดของกบสีม่วง Bhupathy พัฒนาปากของมันให้มีลักษณะคล้ายปลาซัคเกอร์ พวกมันจะใช้ปากยึดตัวเอาไว้กับก้อนหินหลังน้ำตก และกินสาหร่ายด้วยฟันซี่เล็กๆ

Karthikeyan Vasudevan นักชีววิทยาและเพื่อนร่วมงานของอัครวาลที่ CCMB กล่าวว่า ลูกอ๊อดจะเกาะอยู่กับก้อนหินประมาณ 120 วัน “นี่คือช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดที่พวกมันอยู่บนพื้นดิน” เขากล่าว หลังผ่านพ้นระยะของการเป็นตัวอ่อน กบสีม่วงก็จะออกไปผจญโลกและใช้ชีวิตที่เหลือของมันอยู่ใต้ดิน

กบสายพันธุ์ใหม่
ลักษณะของกบมีจมูกยื่นอันเป็นเอกลักษณ์ ดวงตาขนาดเล็ก และแขนขาที่สั้น ซึ่งช่วยให้มันอาศัยอยู่ใต้ดินได้ดี

 

โลกอันมหัศจรรย์ของกบ

“กบคือความมหัศจรรย์ของการปรับตัว” โจดี้ โรเลย์ นักชีววิทยาสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียนและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว

โรเลย์กล่าวว่ามีกบหลากหลายสายพันธุ์ทั่วโลกที่สามารถเอาตัวรอดจากความแห้งแล้ง แต่กบสีม่วง Bhupathy เลือกใช้ชีวิตแบบสุดขั้ว ด้วยการอาศัยอยู่ในโลกใต้ดินอย่างถาวร

การค้นพบนี้เป็นสิ่งที่น่าตกใจ โดยเฉพาะการหาคำตอบว่าเจ้ากบชนิดนี้อยู่ห่างทางสายเลือดแค่ไหนจากญาติสนิทของมัน “กบสีม่วงสองสายพันธุ์ที่ถูกพบมีการวิวัฒนาการแตกต่างจากกบชนิดอื่นๆ อย่างเป็นอิสระ” เธอกล่าว “ญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของมันไม่ได้อยู่ในอินเดีย แต่อยู่ในประเทศเซเชลส์ ทางแอฟริกาตะวันออก”

ผลการค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ยังมีความรู้เฉพาะกบทั่วๆ ไป “แม้กบสีม่วงจะเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ถุกคุกคามมากที่สุด ปัจจุบันสัตว์จำนวน 42 สายพันธุ์ที่เรารู้จักกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เรายังคงไม่รู้ว่ามีกบอีกกี่สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอื่นๆ จำนวนเท่าไหร่” โรเลย์กล่าว

ในความเป็นจริงเธอเล่าว่า ทุกๆ ปี จะมีการเผยแพร่การค้นพบของกบสายพันธุ์ใหม่ๆ กว่า 100 สายพันธุ์ ลงในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ (และยังคงมีอีกมากที่ถูกค้นพบแล้ว แต่ยังต้องรอการตรวจสอบ) พวกเขาคาดหวังว่าเจ้ากบสีม่วงที่มีจมูกเหมือนหมูนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ทางชีววิทยาต่อไปในอนาคต

“โลกเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ ดังนั้นฉันจึงคิดว่าข่าวนี้เป็นข่าวดีที่คู่ควรแก่การฉลอง” โรเลย์กล่าว

โดย เจสัน บิทเทล

 

อ่านเพิ่มเติม

ภาพถ่ายอันน่าทึ่ง! เมื่องูพยายามหนีออกจากปากกบ

Recommend