ดูเหมือนว่าเกราะของไดโนเสาร์ไม่ได้มีไว้แค่ต่อสู้

ดูเหมือนว่าเกราะของไดโนเสาร์ไม่ได้มีไว้แค่ต่อสู้

ดูเหมือนว่าเกราะของไดโนเสาร์ไม่ได้มีไว้แค่ต่อสู้

ไดโนเสาร์ บางชนิดมีเกราะไว้สำหรับช่วยให้มันได้เปรียบยามต่อสู้ แต่สำหรับไดโนเสาร์สายพันธุ์หนึ่งที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียส ร่างกายที่ปกคลุมไปด้วยแผ่นเกราะของมันดูเหมือนว่าจะมีส่วนช่วยในการจับคู่ผสมพันธุ์ด้วย

ผลการศึกษาฟอสซิลของ Borealopelta markmitchelli ไดโนเสาร์หุ้มเกราะ พบว่าแผ่นกระดูกที่อยู่ล้อมรอบคอและไหล่ของมันนั้นมีขนาดใหญ่โตเกินไปสำหรับการต่อสู้ นั่นจึงเป็นไปได้ว่าแผ่นกระดูกเหล่านี้น่าจะมีไว้สำหรับการดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้ามหรือใช้ข่มขวัญคู่แข่งของมัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 110 ล้านปีก่อน เจ้าไดโนเสาร์กินพืชตัวนี้ตาย ร่างของมันจมลงไปยังก้นมหาสมุทรโบราณ ในปี 2011 คนงานเหมืองในแคนาดาค้นพบร่างของมันเข้าโดยบังเอิญ  นับเป็นความโชคดีที่ร่างของมันจมลงในตะกอน ส่งผลให้แร่ธาตุเข้าไปแทนที่เนื้อเยื่อก่อนที่มันจะเน่าเปื่อย ร่างที่กลายเป็นหินทั้งร่างช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาได้ว่าไดโนเสาร์ตัวนี้เคยมีชีวิตอยู่อย่างไร

ในความเป็นจริงการคาดเดาว่าเกราะของสัตว์นั้นถูกใช้เพื่อการต่อสู้และการจับคู่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจนัก ช้างเองก็ใช้งวงของมันในการต่อสู้ ป้องกันตัว และงวงเดียวกันนี้ก็ใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดด้วยเช่นกันหากตัวเมียต้องการที่จะเลือกผสมพันธุ์

“ส่วนใหญ่ของโครงสร้างที่ซับซ้อนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นหางของนก การเปลี่ยนสีของกิ้งก่า หรือเขาในสัตว์สี่เท้า แรงขับที่ทำให้พวกมันวิวัฒนาการสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาล้วนมาจากการคัดสรรทางเพศ” Caleb Brown นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ Royal Tyrrell กล่าว ซึ่งตัวเขาเองกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาไดโนเสาร์ Borealopelta ด้วยทุนสนับสนุนจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ผลการวิจัยเจ้า Borealopelta ใหม่จาก Brown ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ PeerJ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยไม่กี่ชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับไดโนเสาร์หุ้มเกราะ และเป็นงานวิจัยแรกที่มุ่งเป้าไปที่การศึกษาฟอสซิลของเนื้อเยื่อ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“มันยากที่จะพิจารณาการใช้งานจากรูปร่างของอวัยวะ แม้แต่ในสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม” Victoria Arbour นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์หุ้มเกราะโดยเฉพาะ จากพิพิธภัณฑ์ Royal Ontario ผู้ได้เห็นผลการวิจัยใหม่นี้กล่าว “งานวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เยี่ยมยอดเลยทีเดียว”

ตลอดรอบคอของมันแผ่นเกราะที่หุ้มมีขนาดใหญ่และยาวกว่าแผ่นเกราะด้านหลัง

 

เกราะอันโดดเด่น

เมื่อนักวิจัยต้องการศึกษาเกี่ยวกับลำดับชั้นทางสังคมและพฤติกรรมการสืบพันธุ์ในสัตว์นั้นๆ พวกเขามักมองหาโครงสร้างบางอย่างที่เติบโตข้นอย่างรวดเร็วเมื่อสัตว์ดังกล่าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่นเขาของวัว แต่วิธีการเดียวกันนี้ใช้ไม่ได้กับ Borealopelta เนื่องจากการศึกษาจำเป็นต้องมีกระดูกของมัน ซึ่งปัจจุบันโครงกระดูกของไดโนเสาร์ที่พบในแคนาดาตัวนี้ยังคงซุกซ่อนอยู่ภายในเกราะและผิวหนังด้านนอกที่กลายเป็นหิน

ในทางกลับกัน Brown เลือกที่จะศึกษาว่าแผ่นเกราะของมันที่หุ้มอยู่รอบตัวนั้นมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หลังการนับอย่างระมัดระวังไดโนเสาร์ตัวนี้มีแผ่นเกราะรวมทั้งสิ้น 172 แผ่น หรือประมาณการณ์ได้ว่าแผ่นเกราะที่พวกเขาพบนี้เป็นจำนวน 2 ใน 3 จากแผ่นเกราะทั้งหมดที่มันมี โดยแผ่นเกราะด้านหน้ามีขนาดใหญ่และยาวกว่าแผ่นเกราะที่อยู่ทางด้านหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นกระดูกที่อยู่ตรงหัวไหล่ของมัน มีขนาดใหญ่มากและมีรูปร่างไม่ต่างจากเขาของวัว ซึ่งแตกต่างจากแผ่นอื่นๆ ที่มีลักษณะและการเรียงตัวคล้ายแผ่นกระเบื้อง

Brown ยังพบอีกว่าแผ่นเกราะหลายแผ่นทำจากโปรตีนเคราติน บางแผ่นที่อยู่บนหลังของมันมีลักษณะของหนามแหลม ในขณะที่บางแผ่นที่คอมีหนามความยาวมากกว่านิ้ว

ไดโนเสาร์
Jakob Vinther อ้างว่าสีของไดโนเสาร์ Borealopelta เป็นสีน้ำตาลแดง ในขณะที่ส่วนท้องมีสีสว่างกว่า และเกราะขนาดใหญ่ที่หัวไหล่ของมันมีสีสว่างที่สุด หากเป็นจริงสีสันสองสีของมันอาจช่วยให้มันสามารถหลบเลี่ยงจากนักล่าได้

 

รูปแบบที่ถูกกำหนดมาแล้ว

เหตุใด Borealopelta จึงต้องแบกกระดูกแหลมจำนวนมากไว้บริเวณใกล้กับส่วนหัวของมัน? Brown  เชื่อว่าลักษณะจำเพาะนี้ช่วยให้พวกมันสามารถจดจำกันเองได้ว่าไดโนเสาร์ตัวไหนคือสายพันธุ์เดียวกันกับมัน นั่นหมายความว่าแผ่นเกราะเหล่านี้มีความสำคัญในสังคมของไดโนเสาร์พันธุ์นี้ และยังช่วยในการจับคู่ ซึ่งเป็นบทบาทเดียวกันกับที่งาและเขาของสัตว์ในปัจจุบันวิวัฒน์ขึ้น นอกเหนือจากเป็นอาวุธในการต่อสู้

การตีความนี้ต่อยอดมาจากการศึกษาครั้งก่อนหน้าของ Brown ที่เชื่อว่าสีของแผ่นเกราะบริเวณหัวไหล่ของมันนั้นน่าจะมีสีที่สว่างกว่าสีผิวของมันซึ่งเป็นสีน้ำตาลแดง และนั่นจะช่วยให้เกราะที่ว่านี้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามทฤษฎีนี้มีนักวิจัยออกมาโต้แย้ง ว่าเป็นการคาดเดาที่ค่อนข้างมากเกินไปเนื่องจาก หนึ่งขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าเกราะลักษณะนี้มีหลากหลายรูปแบบในไดโนเสาร์หรือไม่ และสองไดโนเสาร์ Borealopelta ตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะที่แตกต่างกันแค่ไหน (เพศของฟอสซิลชิ้นนี้ยังคงไม่ทราบ)

“การศึกษาวิจัยนี้เป็นงานที่ดีมากและน่าเชื่อถือ” David Hone นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลันลอนดอนกล่าว  “แต่ในขณะเดียวกัน การค้นคว้าหาฟอสซิลอื่นๆ เพิ่มเติมจะเป็นการช่วยพิสูจน์ทฤษฎีนี้ได้”

การค้นพบฟอสซิลใหม่ๆ ในอนาคตจะช่วยไขปริศนาในหลายประเด็น และขณะนี้มีการค้นพบฟอสซิงของไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่ยังคงสภาพดีอีกตัวหนึ่งแล้ว ซึ่งยังไม่ได้ถูกนำออกมาจากหิน เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ฟอสซิลของไดโนเสาร์สองตัวนี้จะถูกนำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่ง Arbour เป็นหัวหน้าในการสำรวจครั้งนี้  “ลางสังหรณ์ของฉันบอกว่ามันมีรูปแบบบางอย่างที่คล้ายคลึงกันค่ะ”

เรื่อง มิคาเอล เกรสโค

 

อ่านเพิ่มเติม : ค้นพบไดโนเสาร์คล้ายเป็ดแขนจิ๋วของทีเร็กซ์อาจเป็นอาวุธอันตราย

Recommend