ซากลูกหมาบ่งชี้มนุษย์เลี้ยงหมานานกว่าที่คิด

ซากลูกหมาบ่งชี้มนุษย์เลี้ยงหมานานกว่าที่คิด

ซาก ลูกหมา บ่งชี้มนุษย์เลี้ยงหมานานกว่าที่คิด

สุนัขหรือหมาสุดแล้วแต่ใครจะเรียกคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ และพวกมันได้รับการดูแลเอาใจใส่มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้นเลี้ยงในประวัติศาสตร์มนุษย์เลยทีเดียว รายงานจากผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ลงในวารสาร Journal of Archaeological Science พบว่าผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ดูแลลูกหมาที่ป่วยอยู่นานหลายสัปดาห์ก่อนที่มันจะตายลง

ในปี 1914 ทีมนักวิจัยขุดค้นหลุมศพใน Oberkassel ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณชานเมือง Bonn ของเยอรมนี พวกเขาพบซากของสุนัข ร่างของมนุษย์ชายและหญิง ทั้งหมดถูกฝังอยู่พร้อมกับข้าวของจำนวนมากที่ทำมาจากเขากวาง กระดูก และฟัน ซึ่งสามารถย้อนอายุได้ไกลถึงในสมัยยุคหินเก่า หรือราว 14,000 ปีก่อน

การค้นพบครั้งนี้นับได้ว่าเป็นหลุมศพที่มีความเก่าแก่ที่สุดที่พบสุนัขและมนุษย์ถูกฝังอยู่เคียงข้างกัน และอาจเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของการเลี้ยงสุนัขในฐานะสัตว์เลี้ยง

และล่าสุด จากผลการศึกษาใหม่พบว่า ลูกสุนัขไม่ได้แค่ถูกเลี้ยงเท่านั้น แต่พวกมันยังได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีอีกด้วย ข้อมูลจากหลุมศพที่ขุดค้นได้ Luc Janssens สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัย Leiden พบปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนเกิดขึ้นกับฟันของสุนัข

(รู้หรือไม่ว่าลูกสุนัขเองก็มีช่วงวัยที่น่ารักที่สุด)

“ผมค่อนข้างโชคดีเพราะผมเป็นทั้งสัตวแพทย์และนักโบราณคดี” Janssens กล่าว “นักโบราณคดีมักไม่ค่อยมองหาร่องรอยของโรคเท่าไหร่ แต่ในฐานะของสัตวแพทย์แล้วผมมีประสบการณ์อย่างมากในด้านนี้” ผลการวิเคราะห์พบว่าลูกสุนัขตัวดังกล่าวมีอายุ 28 สัปดาห์ ในตอนที่มันตาย ร่องรอยบนฟันเผยให้เห็นว่ามันติดเชื้อไวรัสเมื่ออายุได้ราว 19 สัปดาห์ และอาจทุกข์ทรมานจากอาการของโรคอยู่นานอย่างน้อย 5 – 6 สัปดาห์

(ว่าแต่เหตุใดสุนัขต้องกินอึด้วย?)

สำหรับอาการของโรคก็ได้แก่ ไข้, กินอาหารไม่ได้, อาเจียนและท้องร่วง และเกิดอาการต่อรับบประสาทเช่นการชัก ในช่วงสัปดาห์ที่สามของการป่วย

“เนื่องจากโรคภัยเป็นสิ่งที่คุกคามชีวิตของสุนัขอย่างมาก โดยเฉพาะกับสุนัขในช่วงวัย 19 – 23 สัปดาห์” Liane Giemsch ภัณฑารักษ์ผู้ร่วมวิจัยจากพิพิธภัณฑ์แฟรงก์เฟิร์ต “มันอาจรอดชีวิตมาได้ระยะหนึ่งจากความดูแลและการรักษาของมนุษย์” ความดูแลที่ว่าน่าจะหมายถึงการช่วยให้สุนัขได้รับความอบอุ่นและความสะอาด ได้รับอาหารและน้ำอย่างเต็มที่ เนื่องจากว่าหากไม่ได้รับการดูแล ลูกสุนัขไม่น่าที่จะรอดมาได้นานขนาดนี้

ปัจจุบันยังไม่อาจทราบได้ว่า มนุษย์เริ่มต้นเลี้ยงสุนัขในช่วงเวลาใด สถานที่ไหน

“เท่าที่ข้อมูลในปัจจุบันมี เป็นที่ชัดเจนว่ามนุษย์เราเริ่มเลี้ยงสุนัขมาตั้งแต่ 15,000 ปีก่อน” Keith Dobney นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Liverpool ผู้ไม่มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้กล่าว “แต่หากจะหาว่าเริ่มแรกจริงๆ เลยนั้นคือช่วงเวลาใด ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียง นักวิชาการบางคนก็ระบุว่ามนุษย์เราเลี้ยงสุนัขมาตั้งแต่สามหมื่นปีที่แล้ว”

ส่วนแรงจูงใจที่ทำให้มนุษย์เลี้ยงสุนัขนั้นยังไม่อาจเข้าใจได้ชัด มีหลายทฤษฎีเชื่อว่ามนุษย์ใช้สุนัขช่วยในการล่าสัตว์และปกป้องสัตว์ที่ล่ามาได้ แต่หลักฐานจากหลุมศพในเยอรมันบ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัขมีอะไรที่มากกว่านั้น

Janssen, Giemsch และทีมงานของพวกเขากล่าวว่า การค้นพบซากของลูกสุนัขครั้งนี้นับเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ดูแลสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง การดูแลเอาใจใส่สัตว์ทำนองนี้ขับเคลื่อนด้วยความเห็นอกเห็นใจในตัวเรา หรือพูดได้ว่าเกิดขึ้นจากความผูกพัน

(รู้หรือไม่ว่าความรักที่เรามอบให้สุนัขกำลังทำให้มันอ้วน!)

“หลักฐานนี้ชี้ให้เห็นว่าลูกสุนัขตัวนี้มีความหมายพิเศษต่อใครบางคน และความผูกพันระหว่างสองสายพันธุ์ที่ต่างกันเริ่มต้นมาตั้งแต่ 14,000 ปีก่อน” Dobney กล่าว

ดูเหมือนว่าเมื่อสุนัขป่าวิวัฒนาการมาเป็นสุนัขบ้าน มนุษย์เองก็วิวัฒนาการให้ผูกพันกับพวกมันเช่นกัน

เรื่อง Mary Bates

 

อ่านเพิ่มเติม

จากหมาป่าสู่หมาบ้าน: กว่าจะมาเป็นเพื่อนรักแสนรู้ของมนุษย์

Recommend