บนเส้นทางแห่งกาลเวลาในอัฟกานิสถาน

บนเส้นทางแห่งกาลเวลาในอัฟกานิสถาน

บนเส้นทางแห่งกาลเวลาใน อัฟกานิสถาน

เป็นเวลาห้าปีแล้วที่ผมเดินเท้าย่ำโลกโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า เดินเท้าท่องโลกออกจากอีเดน (Out of Eden Walk) อันเป็นการย้อนรอยการเดินทางของบรรพชนยุคแรกเริ่มผู้ออกท่องโลกในยุคหิน การจาริกไปอย่างไม่หยุดหย่อน วันแล้ว แม่น้ำเล่า เดือนแล้ว ทวีปเล่า ไปตามเส้นทางที่ท้ายที่สุดแล้วจะครอบคลุมระยะทางกว่า 34,000 กิโลเมตร เป็นไปเพื่อแสวงหาความอัศจรรย์ของโลกในทุกโมงยาม

มาตีเยอ ปาเลย์ ช่างภาพชาวฝรั่งเศส มาสมทบกับผมเพื่อร่วมเดินเท้าข้ามฉนวนวาคาน (Wakhan Corridor) ในอัฟกานิสถาน ปราการตามรรมชาตินี้เร้นกายอยู่หลังกำแพงเทือกเขาฮินดูกูช เป็นพื้นที่แคบๆ ยาว 320 กิโลเมตรที่กั้นแบ่งระหว่างทาจิกิสถาน และปากีสถาน ไปจรดกับปราการภูเขาน้ำแข็งทางตะวันตกของจีน ฉนวนที่ขีดเขียนโดยรัสเซียและอังกฤษให้เป็นเขตกันชนระหว่างจักรวรรดิในเอเชียของตนในศตวรรษที่ 19 ทุกวันนี้มีชาวไร่และกลุ่มชนเร่ร่อนราว 17,000 คนอาศัยอยู่ในท้องทุ่งเก่าแก่และหมู่บ้านกำแพงหินกลางหุบเขา นี่คือทางออกสู่เอเชียใต้ของผม

เราข้ามพรมแดนทาจิกิสถานที่เมืองอิชคาชิม เวลาผ่านมา 16 ปีแล้วตอนที่ผมเดินย่ำฝุ่นในอัฟกานิสถานในฐานะนักข่าวสงคราม นี่ไม่ใช่ดินแดนที่ผมจดจำได้

ความทรงจำเกี่ยวกับอัฟกานิสถานของผมวนเวียนกับกลุ่มชายติดอาวุธในรถกะบะไฮลักซ์ และแรงอัดจากระเบิดหนัก 230 กิโลกรัมที่ทิ้งลงมาจากฝูงบิน บี-52 ของสหรัฐฯ ในทางกลับกัน ฉนวนวาคานที่ยากจน ห่างไกลเกินพรรณนา และมีเทือกเขาฮินดูกูช ช่วยปกป้องจากความรุนแรง ดูเหมือนโอเอซิสแห่งสันติสุข เราเดินท่องไปอย่างปราศจากความกลัว ผ่านท้องทุ่งข้าวสาลีที่สุกปลั่ง กลุ่มชาวไร่ต้อนวัวให้เดินเป็นวงกลมเพื่อนวดข้าวตามวิถีดั้งเดิม กังหันน้ำโบราณใช้โม่แป้ง ชาวไร่วาคีพื้นเมืองเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์สายกลางที่เรียบง่าย พวกผู้หญิงไปไหนมาไหนโดยไม่คลุมผ้า ตามยอดเขาห่มหิมะมีเพียงเสือดาวหิมะเดินลาดตระเวนแทนกองทหาร ไม่มีใครแบกปืน นี่คือชนบทอัฟกานิสถานในแบบที่ควรเป็น

อัฟกานิสถาน
ใกล้สุดแดนตะวันออกของฉนวนวาคาน ถนนกลายเป็นทางเดินเท้า เด็กหญิงบิดหางวัวของครอบครัวเพื่อเร่งให้มันเดินกลับบ้านในหมู่บ้านนิชต์คาวร์ ทิวเขาที่เห็นอยู่ไกลออกไปซึ่งอาบไล้ด้วยแสงอาทิตย์ยามบ่าย คือจุดที่ซาโลเพกมุ่งหน้าไปในมหากาพย์การเดินเท้าข้ามโลกของเขา

“เราอยู่ในช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ที่สุดแล้ว” เดอร์วิช อาลี คนเลี้ยงแกะบอกกับผม “ในช่วงทศวรรษ 1990 เราไม่มีปัญญา แม้แต่จะซื้อชา ตอนนี้ชีวิตดีขึ้นมากครับ”

คุชนามามัช ภรรยาผู้ใจดีของอาลีอบแป้งนานหรือขนมปังแผ่นแบนๆ ที่ยังมีเนื้อธัญพืชร้อนๆให้เรา ขณะที่เรากางเต็นท์บนสนามหญ้าแคบๆ ของพวกเขา ทิวต้นป๊อปลาร์พลิ้วไหวตามสายลมที่พัดผ่าน ภูมิภาควาคานที่เคยอัตคัตเริ่มเขียวขจี แปลงเพาะปลูก ปกคลุมก้นหุบเขาลึกที่เคยโล่งเตียน ชาววาคีบางส่วนได้ลิ้มรสมะเขือเทศและสควอชที่ปลูกเองเป็นครั้งแรก นี่เป็นผลจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ต้นแอพริคอตออกดอกก่อนฤดูกาลถึงสองเดือน และกระแสน้ำที่ไหลบ่าจากการละลายของธารน้ำแข็งก็ทำให้การชลประทานทำได้ง่ายขึ้น

ทว่าสักวันหนึ่งธารน้ำแข็งแห่งเทือกเขาฮินดูกูชและปามีร์จะเหือดแห้งไป และความหิวโหยอันเก่าแก่จะหวนคืนมา กระนั้น ในวันคืนดีๆ ที่ผมย่างเท้าผ่าน หุบเขาไร้ถนนของฉนวนวาคานให้ความรู้สึกเหมือนดินแดนที่ผมมุ่งหน้าตามหามาทั้งชีวิต ฝูงกาบินวนว่อนเหนือท้องฟ้าสดใสสุดสายตา ในเดือนกันยายน ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์บนที่สูงของกลุ่มชนเร่ร่อนชาวคีร์กีซในวาคานตะวันออกอาบไล้แสงอาทิตย์ที่แผดกล้าดูเหลืองอร่ามดั่งอำพัน ก้อนหินมนใหญ่ขนาดเท่าบ้านทอประกายราวกระจกบานมหึมาเหนือลาดเขาเปล่าเปลือย ผิวหน้าของมันถูกขัดเรียบราวกระจกโดยกำแพงน้ำแข็งที่อันตรธานไปนานแล้วสมัยน้ำแข็งปรากฏขึ้นเป็นวงรอบ สมัยน้ำแข็งรอบถัดไปจะทำลายหลักฐานเรือกสวนไร่นาอันเปราะบางของอาลีจนหมดสิ้นและชะล้างร่องรอยทางเดินของรถถังที่โซเวียตทิ้งไว้ในที่ราบวาคานเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ร่องรอยเหล่านี้ดูราวกับเพิ่งเกิดขึ้น และในที่สุด ชาววาคีคนใหม่จะปรากฏกายขึ้นเพื่อนวดข้าว ไล่วัวให้เดินวนไปบนรวงข้าวสาลีที่เพิ่งตัด ราว 3,600 รอบตามการคำนวณของผมเพื่อให้ได้ขนมปังแผ่นกลมสักแผ่น ทุกอย่างล้วนมีวงรอบของมัน

อัฟกานิสถาน
โอมินา เบกุม พักผ่อนในกระท่อมที่สร้างขึ้นบนหลังคาบ้านของเธอในวูชเออร์กันต์ โครงสร้างชั่วคราวที่ที่ทำจากกิ่งไม้ ใบไม้และหญ้านี้เรียกว่า คาปา ในช่วงฤดูร้อนคาปาช่วยให้ร่มเงาระหว่างวันและที่หลับนอนเย็นสบายยามค่ำคืน

เช้าวันที่ 23 กันยายน ท่ามกลางหมอกน้ำแข็งหนาทึบ เราเริ่มออกเดินอีกครั้งพร้อมลาขนสัมภาระสองตัว เพื่อมุ่งหน้าไปยัง เออร์ชาดพาส (Irshad Pass) ช่องเขาสูงร้างผู้คนใกล้กับจุดบรรจบของเทือกเขาฮินดูคูชและการาโกรัม กั้นแบ่งระหว่างอัฟกานิสถาน และปากีสถาน

เออร์ชัดพาสอยู่สูงกว่าระดับทะเล 4,979 เมตร เราขึ้นถึงยอดก่อนพระอาทิตย์ตก ปาเลย์ถึงกับเต้นฉลองชัยอย่างกะปลกกะเปลี้ย ผมหอบหายใจเอากาศที่ทั้งบางเบาและหนาวเหน็บเข้าไป รู้สึกเหมือนถูกมีดโกนกรีดที่ปอด เมื่อไร้ซึ่งที่หลบพักหรือไม้ฟืน ช่องเขานี้จึงเป็นพื้นที่อันตรายต่อการพักแรม แต่เรามีทางเลือกไม่มากนัก ความมืดคืบคลานจากหุบเขาลึกเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว เราตอกหมุดเต็นท์ลงในดินที่แข็งและเย็นเยือกราวแผ่นเหล็ก ผมออกมานอกเต็นท์ท่ามกลางความมืดมิดและลมกระหน่ำเพียงครั้งเดียว เพื่อห่มกระชับผ้าใบที่ปลิวสะบัดให้กับลา

กองกำลังรักษาความปลอดภัยนอกเครื่องแบบของปากีสถานจับกุมพวกเราในคืนถัดมา ระหว่างพักแรมทางปลายด้านตะวันออกของเทือกเขาฮินดูกูช เราได้แจ้งให้รัฐบาลทราบถึงแผนการเข้าปากีสถานผ่านทางเออร์ชัดพาส และมีวีซ่าที่ออกให้ล่วงหน้าแล้ว ทว่าเจ้าหน้าที่พร้อมปืนเอเค -47 ยืนยันว่า เราลักลอบเข้าสู่เขตหวงห้าม และขับรถพาเราไปยังเมืองชายแดนชื่อกิลกิต

อัฟกานิสถาน
หลังดิ้นรนกับหิมะ ความหนาวเหน็บ และลาที่อ่อนล้า พอล ซาโลเพก ก้าวย่างก้าวท้ายๆ ในฉนวนคาวานของอัฟกานิสถาน ขณะที่เขาและมาตีเยอ ปาเลย์ ช่างภาพ เดินทางผ่านเออร์ชัดพาสเข้าสู่ปากีสถาน เมื่อขึ้นถึงยอดช่องเขาตอนพระอาทิตย์ตก ซาโลเพกบอกว่า “แม้จะเหนื่อยจนแทบขาดใจ แต่ผมก็ตะลึงกับแสงที่เห็น เป็นแสงที่ทำให้คุณคิดถึงการเกิดแสงที่คุณลืมตาเห็นตอนเกิด”

บ่ายวันถัดมา เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพาเราไปขึ้นเครื่องเที่ยวบินเที่ยวแรกออกจากปากีสถาน ก่อนที่เหตุการณ์ทั้งหมดจะกลายเป็นเรื่องเข้าใจผิด ผมได้รับอนุญาตให้กลับเข้าปากีสถานได้ภายในไม่กี่วัน เพื่อเริ่มการเดินทางที่สะดุดลงอีกครั้ง แต่ในคืนที่เราเดินทางถึงนครในอาหรับที่ร้อนอบอ้าวหลังถูกเนรเทศออกจากปากีสถาน ผมยังใส่กางเกงเดินหิมะแสนโสโครกอยู่เลย ผมรู้สึกมึนชาไปหมด ตอนที่ยืนงงๆ ต่อคิวตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินที่อึกทึกด้วยสรรพเสียง ผมจ้องมองมือที่เกรียมแดด และหวนนึกถึงอัสดงเหนือเออร์ชัดพาส พระอาทิตย์กลมสีจางเลือนหายไปหลังหลืบเมฆฝน ช่วงเวลาราวสองนาทีที่ทุกสรรพสิ่งดูเรืองรองในแสงสีเงินยวง ลำแสงสีทองเหลือบเงินสาดส่องอาบไล้เทือกเขาการาโกรัม จุดประกายให้ยอดเขาห่มหิมะที่เรียงตัวทอดยาวสู่สุดเปลายโลก ลำแสงที่มล้างความรันทดในหัวใจ ลำแสงที่ผมพอจะนึกภาพออกว่า ได้ก้าวย่างไปพร้อมกับเพื่อนมนุษย์ สู่ความหวังที่รอคอยอยู่ ณ ดินแดนใหม่

เรื่อง พอล ซาโลเพก

ภาพถ่าย มาตีเยอ ปาเลย์

 

อ่านเพิ่มเติม

ธรรมชาติอันงดงามในปากีสถาน

Recommend