สายธารแห่งศรัทธาชนในพิธีกุมภ์เมลา

สายธารแห่งศรัทธาชนในพิธีกุมภ์เมลา

พิธีกุมภ์เมลา
รัฐบาลอินเดียจัดตารางรถไฟเที่ยวไปและกลับจากเมืองอัลลาฮาบาดหลายร้อยเที่ยวระหว่างพิธีกุมภ์ เที่ยวขาออกจากเมืองดูจะเป็นช่วงเวลาเคร่งเครียดที่สุด เมื่อความรู้สึกร่วมแรงร่วมใจอันเป็นจิตวิญญาณของเทศกาลนี้อาจแผ่วลงในหมู่ผู้จาริกแสวงบุญที่มุ่งหน้ากลับบ้าน

เมื่อปี 2007 บทความวิชาการชิ้นหนึ่งเสนอแนวคิดว่าขณะที่ประชากรในเมืองเมืองหนึ่งเพิ่มสูงขึ้นนั้น ระดับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเมืองนั้นก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย และในอัตราที่เร็วขึ้น โดยส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกิจกรรมการสร้างสรรค์หลายอย่าง ตั้งแต่ศิลปะ ความรู้ ไปจนถึงความมั่งคั่ง “ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อเกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น เฉลี่ยราวร้อยละ 10 ถึง 15 เลยเชียวครับ” เดิร์ก เฮลบิง นักสังคมวิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทความดังกล่าว อธิบาย “ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่ามีแรงขับทางสังคมที่ทรงพลังคอยขับเคลื่อนเราให้มุ่งไปสู่การอยู่ร่วมกัน”

เงื่อนไขหรือปัจจัยที่แฝงอยู่ในข้อได้เปรียบของการอยู่อาศัยในเมืองมีอยู่ว่า โครงสร้างพื้นฐานของเมืองนั้นต้องเอื้ออำนวยให้เกิดข้อได้เปรียบนั้นด้วย ความร่าเริงบันเทิงใจหมู่ไม่อาจช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพดีขึ้นได้ หากนํ้าดื่มของพวกเขายังสกปรกปนเปื้อน

ปี 2013 ที่ผ่านมาไม่ปรากฏการระบาดลุกลามของโรคติดต่อร้ายแรงใด ๆ ในเมืองอัลลาฮาบาด “นคร” หรืออาณาบริเวณของพิธีกุมภ์ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 25 ตารางกิโลเมตร พื้นที่พักอาศัยแบ่งออกเป็น 14 เขตแต่ละเขตมีโรงพยาบาล สถานีตำรวจ ถนนหนทาง ร้านขายของชำ ตลอดจนแหล่งจ่ายไฟฟ้าและนํ้าดื่มของตนเอง เจ้าหน้าที่ผู้จัดพิธีกุมภ์วางแผนงานโดยคำนึงถึงการบริหารจัดการฝูงชนเป็นหลักตัวอย่างเช่น เส้นทางออกจากจุดลงอาบนํ้าต่าง ๆ จะกว้างกว่าเส้นทางเข้าราวสองเท่าหน้าที่บริหารจัดการฝูงชนปีนี้ตกเป็นของอโลก ศรมา จเรตำรวจประจำเขตอัลลาฮาบาด ตอนที่เราพบกันในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เขาอธิบายให้ฉันฟังว่า ยุทธศาสตร์พื้นฐานของเขาประกอบด้วยการเคลื่อนย้ายและการแบ่งฝูงชนโดยใช้เส้นทางอ้อมเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพฝูงชนที่สะสมแออัดตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ

หนึ่งในจุดเสี่ยงที่ว่าคือสถานีรถไฟหลักของเมือง จึงมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์เมื่อขบวนรถไฟมาถึง “จะมีการรายงานเข้ามาทุกครั้งเมื่อมีฝูงชนจำนวนมากกว่า 500 คน เพราะผมต้องเปิดพื้นที่รองรับไว้ครับ” ศรมาบอกและเสริมว่า “เราระบุจุดเสี่ยงได้ก็จริงครับ แต่ก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไรหรือที่จุดไหน”

ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุเหยียบกันตายที่สถานีรถไฟในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตอนที่เกิดเหตุนั้น ไรเคอร์เดินทางกลับประเทศไปแล้ว แต่ฉันจำการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งที่เขากับทีมงานขอให้กัลป์วาสีคนหนึ่งบรรยายความรู้สึกตอนอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่สถานีรถไฟ เธอผู้นั้นบอกว่า “ผู้คนคิดว่าพวกเขาแข็งแรงกว่าคุณ พวกเขานึกอยากจะผลักคุณไปไหนก็ได้” จากนั้น พอผู้สัมภาษณ์ขอให้บรรยายความรู้สึกขณะเข้าร่วมเทศกาลเมลา “ผู้คนจะห่วงใยคุณ ปฏิบัติต่อคุณอย่างสุภาพค่ะ ‘คุณแม่มานี่เลย [พวกเขาว่า] เชิญตามสบายเลย’”

ในอีเมลที่ส่งมาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส ไรเคอร์เขียนว่า สาเหตุที่เป็นไปได้ประการหนึ่งของเหตุเหยียบกันตายครั้งนั้นคือ อาจเป็นเพราะเหล่าผู้จาริกแสวงบุญไม่ได้อยู่ในรูปของฝูงชนเชิงจิตวิทยาอีกต่อไป ส่วนคนที่อยู่รอบ ๆ ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่ใหญ่กว่าอีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้แข่งขันแย่งชิงที่นั่งบนรถไฟเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน

พิธีกุมภ์เมลา
ขณะอาบไล้แสงสีทองยามเย็นผู้จาริกแสวงบุญดื่มดํ่านํ้าศักดิ์สิทธิ์บริเวณใกล้จุดบรรจบของแม่นํ้าคงคาและยมุนาโดยไม่ห่วงว่านํ้าอาจปนเปื้อนมลพิษ เพราะพวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า มีนํ้าอมฤตหรือนํ้าทิพย์แห่งชีวิตอมตะเจือปนอยู่

นักจิตวิทยาไม่ได้ปฏิเสธว่า สิ่งเลวร้ายอาจเกิดขึ้นได้ในฝูงชน ถ้าเป้าหมายของฝูงชนมุ่งไปสู่การทำลายล้าง นั่นย่อมเป็นเป้าหมายที่มีโอกาสกลายเป็นจริงในที่สุด กระนั้น  พวกเขาก็แย้งว่า ความร่าเริงบันเทิงใจหมู่อาจเป็นแรงขับทรงพลังที่ทำให้เกิดหรือนำไปสู่สิ่งดี ๆ ได้ และนั่นคือสิ่งที่เรามองข้ามมาตลอด ตอนที่ฉันพบกับเลวีนครั้งแรกเมื่อปี 2009 เขาเพิ่งสรุปผลการวิเคราะห์คลิปจากโทรทัศน์วงจรปิดที่บันทึกเหตุทะเลาวิวาทจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามสถานที่สาธารณะในเขตเมืองของอังกฤษ เลวีนสรุปว่าผู้เห็นเหตุการณ์มีบทบาทชี้นำว่าการเผชิญหน้าจะกลายเป็นความรุนแรงหรือไม่

พูดอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อมีแนวโน้มที่อาจเกิดความรุนแรง  ฝูงชนสามารถส่งอิทธิพลให้เกิดความสงบขึ้นได้ นี่เป็นการค้นพบที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ว่าด้วยความเพิกเฉยของผู้เห็นเหตุการณ์ (bystander effect) ซึ่งระบุว่า คนจำนวนหนึ่งจะสละความรับผิดชอบส่วนบุคคลของตนขณะอยู่ในฝูงชน โดยยืนดูเฉย ๆ ขณะเหตุร้ายเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ที่ผ่านมา ไรเคอร์และทีมงานทำการศึกษาฝูงชนทางศาสนา แฟนกีฬาฟุตบอลขบวนพาเหรดทางการเมือง และผู้ชมเทศกาลดนตรี

“การประพฤติตนตามความเชื่อของคุณเมื่ออยู่ในหมู่กัลป์วาสีจะมีรูปแบบแตกต่างจากเมื่ออยู่ในหมู่ผู้ชมคอนเสิร์ตดนตรีร็อก แต่กระบวนการพื้นฐานเป็นสิ่งเดียวกันครับ” ไรเคอร์อธิบาย

“พิธีกุมภ์ประสบความสำเร็จเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับผสมกับการร่วมแรงร่วมใจทางจิตวิทยาครับ” ไรเคอร์บอก แต่ในสังคมอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้ากว่านี้ พลังแห่งการร่วมแรงร่วมใจมักถูกละเลย และเราอาจกำลังชดใช้กรรมนั้นกันอยู่ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้นตลอด 50 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เร็วเท่าอัตราการเพิ่มขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ  ผลที่ตามมาคืออายุขัยเฉลี่ยของชาวอเมริกันตกลงจากที่เคยติดอันดับโลก จนปัจจุบันนี้อยู่ในอันดับไล่เลี่ยกับชิลีและโปแลนด์ คำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งตามข้อสังเกตของลิซา เบิร์กแมน นักวิทยาการระบาดทางสังคม ก็คือชาวอเมริกันกลายเป็นคนโดดเดี่ยว ตัดขาดจากสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นบทเรียนในเรื่องนี้คือ จงรักเพื่อนบ้านของท่าน เพราะเพื่อนบ้านของท่านจะช่วยเกื้อหนุนให้ท่านประสบกับความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังเช่นที่วศิษฏ์ นารายณ์ มิศรากัลป์วาสีซึ่งเป็นคุณครูเกษียณวัย 69 ปี อธิบายให้ฉันฟัง

แต่อุปสรรคมีอยู่ว่า การเข้าร่วมฝูงชนเชิงจิตวิทยานั้นไม่ได้ง่ายดังใจนึก ขณะทอดสายตามองแม่นํ้าสีนํ้าตาลไหลเชี่ยว และยิ่งรู้ว่ามีเชื้อโรคร้ายอย่างแบคทีเรียโคลิฟอร์มจากอุจจาระปะปนอยู่ ฉันไม่อาจโน้มน้าวให้ตัวเองเชื่อได้เลยว่า กำลังมองดูนํ้าทิพย์แห่งชีวิตอมตะ นั่นหมายความว่าคุณต้องมีอัตลักษณ์แบบหนึ่งมาตั้งแต่เกิดจึงจะสามารถรู้สึกร่วมได้กระนั้นหรือ คำตอบคือไม่จำเป็น การเปลี่ยนความเชื่อเกิดขึ้นได้

ลึกเข้าไปใน “นคร” กุมภ์ที่ผุดขึ้นในชั่วข้ามคืน ฉันพบกับคีตา อหุชา ผู้บอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนความเชื่อของเธอให้ฉันฟัง คีตาผู้เคยใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในสหรัฐฯ บอกว่า เธอ “เป็นคนระแวงสงสัยในเรื่องความเชื่อทางศาสนามาตั้งแต่เกิด และประพฤติตนนอกลู่นอกทางทุกรูปแบบ” จนกระทั่งได้ฟังนักบวชฮินดูรูปหนึ่งแสดงธรรมที่เมืองแดลลัส รัฐเทกซัส เมื่อปี 2007 “ท่านพูดเรื่องความไม่จีรังยั่งยืนของความสัมพันธ์ในโลกวัตถุค่ะ” เธอเล่า “เรื่องนี้กระทบใจฉันอย่างแรง” เธอกลายเป็นศิษย์ของนักบวชรูปนั้น แล้วชีวิตของเธอก็กลับมีความหมายขึ้นมา

“ในคัมภีร์ภควัทคีตาเขียนไว้ว่า  หมู่มิตรสหายผู้ไม่เชื่อในการแสวงหาสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์คือมิตรสหายที่ไร้ค่า” คีตาบอกฉัน เธอพยายามบรรยายความรู้สึกขณะอยู่ท่ามกลางฝูงชนซึ่งล้วนกำลังแสวงหาสิ่งเดียวกันกับเธอ สุดท้ายเธอเลือกใช้คำว่า “ตัวลอย”

แต่เราสามารถรู้สึกหรือสัมผัสกับพลังอัศจรรย์แห่งความร่าเริงบันเทิงใจหมู่โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความเชื่อเสมอไป ดังเช่นประสบการณ์ที่เกิดกับชายคนหนึ่งในเทศกาลเมลาเมื่อปี 1896 เขาบันทึกไว้ว่า “ช่างน่าอัศจรรย์ใจเหลือเกินที่พลังแห่งศรัทธาเช่นนั้นสามารถผลักดันฝูงชน ทั้งคนเฒ่าคนแก่  คนอ่อนแอ คนหนุ่มสาว และคนป่วยไข้ ให้หลั่งไหลมาร่วมงานระลอกแล้วระลอกเล่า โดยปราศจากความลังเลหรือโอดครวญต่อการเดินทางอันเหลือเชื่อเช่นนั้น ทั้งยังอดทนแบกรับความยากเข็ญที่ตามมาโดยไม่ปริปากบ่นแม้สักคำ” ชายผู้นี้คือชาวอเมริกันนามว่า มาร์ก ทเวน

เรื่อง ลอรา สปินนีย์

ภาพ อเล็กซ์ เว็บบ์

 

อ่านเพิ่มเติม

ไม่มีอารยันและดราวิเดียนแท้ในอินเดีย

Recommend