ความรู้ว่าด้วยพระเมรุมาศ

ความรู้ว่าด้วยพระเมรุมาศ

เรียบเรียงโดย  ปณธาดา  ราชกิจ

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อภินันทนาการพร้อมนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย พฤศจิกายน 2551

 

แนวคิดและความเชื่อ

ตามคติความเชื่อแต่โบราณของไทยนั้น พระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากสมมติเทพ เมื่อถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ทุกพระองค์จะเสด็จสู่ทิพยสถาน ณ พระสุเมรุบรรพต (เขาพระสุเมรุ) การถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพจึงเปรียบเสมือนการส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยและการสร้างพระเมรุมาศก็เปรียบได้กับการจำลองเขาพระสุเมรุมาประดิษฐาน ณ โลกมนุษย์

ในทางพระพุทธศาสนา การสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ สามารถอธิบายโดยใช้แนวคิดเรื่องไตรภูมิ กล่าวคือ พระเมรุมาศนั้นเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลหรือภพภูมิทั้งสาม ส่วนอาคารที่รายรอบเปรียบได้กับเขาสัตตบริภัณฑ์ วิมานท้าวจตุโลกบาล และยังมีเหล่าทวยเทพ ณ สวรรค์ชั้นฟ้า พร้อมทั้งสัตว์ต่างๆในป่าหิมพานต์อีกด้วย

 

พระเมรุมาศในอดีต

ในอดีตการจัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพมีความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในสมัยอยุธยามีธรรมเนียมว่า หลังเสร็จการพระบรมศพหรือพระศพ สถานที่ที่ใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพจะอุทิศเพื่อสร้างวัดหรือเจดีย์ เช่น สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสุริโยทัย ได้สถาปนาเป็นพระเจดีย์วิหารและได้ชื่อว่า ”วัดสบสวรรค์” เป็นต้น ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๔๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการพูนดินหน้าพระวิหารแกลบเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับถวายพระเพลิง จึงอาจถือเป็นสถานที่ถาวรแห่งแรกสำหรับงานพระบรมศพตามราชประเพณี โดยไม่ต้องสร้างวัดหรือวิหารหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีเหมือนแต่ก่อน

การปลูกสร้างพระเมรุมาศในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีความยิ่งใหญ่อลังการ ตามหลักฐานจดหมายเหตุเกี่ยวกับพระเมรุมาศสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่า ”พระเมรุมาศ…โดยขนาดใหญ่ ชื่อ ๗ วา ๒ ศอก โดยลง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ มียอด ๕ ภายในพระเมรุทองนั้น ประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณวิจิตรต่างๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศพระเมรุราย แลสามสร้าง”

 

พระเมรุมาศสมัยต้นรัตนโกสินทร์

งานออกพระเมรุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ถือเป็นงานยิ่งใหญ่สมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณี กอปรกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีให้กลับคืนมา เพื่อเป็นแบบแผนของแผ่นดินสืบไปในภายภาคหน้า การพระเมรุในยุคนั้นจึงได้จัดตามราชประเพณีโบราณอย่างยิ่งใหญ่ รวมไปถึงการสร้างพระเมรุมาศและเครื่องประกอบต่างๆด้วย

การสร้างพระเมรุมาศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงปลายรัชกาลที่ ๕ ยึดหลักการสร้างตามโบราณราชประเพณี กล่าวคือพระเมรุมาศมีขนาดใหญ่ ตัวพระเมรุมี ๒ ชั้น โดยมีพระเมรุทองอยู่ภายในพระเมรุชั้นนอกที่ทำเป็นยอดปรางค์ สำหรับพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่าเป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่สร้างตามคตินิยมเช่นนี้

 

พระเมรุมาศสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนมชีพอยู่นั้น พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งให้ทำงานพระเมรุมาศของพระองค์แต่พอเผา กล่าวคือให้ตัดทอนการพระบรมศพและพระเมรุมาศให้เล็กลงพอแค่ถวายพระเพลิงได้ ไม่ต้องใหญ่โตเกินความจำเป็นเพราะเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและทรัพยากรชาติอย่างสูง อีกทั้งพระเมรุมาศนั้นสร้างครั้งเดียวแล้วก็รื้อ ไม่ใช่ถาวรวัตถุแต่อย่างใด ครั้นพอถึงงานพระเมรุมาศของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงสนองพระราชประสงค์ในพระบรมชนกนาถ และได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันด้วย

 

พระเมรุมาศสมัยปัจจุบัน

ในรัชกาลปัจจุบัน การก่อสร้างพระเมรุมาศยังคงยึดหลักการตามแนวพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้มีการเพิ่มแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากโบราณราชประเพณีให้คุ้มค่าสูงสุดอีกด้วย การก่อสร้างจึงคำนึงถึงการใช้วัสดุอย่างประหยัด และสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อได้อีกด้วย อย่างพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานหลักการสำคัญแก่กรมศิลปากรว่า หลังถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว วัสดุต่างๆต้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีก ซึ่งแนวพระราชดำรินี้กรมศิลปากรได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อมา สำหรับพระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (เรียกว่า “พระเมรุ” มีลักษณะเช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับพระพิธีพระศพ พระราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์”) ก็ได้มีการเลือกใช้วัสดุที่ก่อสร้างได้ง่าย ไม่เปลืองทรัพยากร และก่อประโยชน์สูงสุด จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ เพื่อสนองแนวพระราชดำริ อาทิ โครงสร้างของเรือนต่างๆ โดยรอบมณฑลพิธีนั้น จากเดิมที่ใช้ไม้ในการสร้างก็ปรับเปลี่ยนเป็นเหล็ก ซึ่งเป็นการลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้ว

พระเมรุมาศ
แบบร่างพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาวิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น เป็นกุฎาคารลักษณะเป็น ”เรือนยอด” หรือเรือนที่มีหลังคาต่อเป็นยอดแหลม เป็นพระเมรุทรงยอดปราสาทจตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปักด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาวเจ็ดชั้น) อันเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศ รูปแบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมนั้นคล้ายพระเมรุของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

ฐานพระเมรุจัดทำเป็นสองระดับ ระดับแรกเรียกว่า ฐานชาลา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรกตรงกลางเป็นโคมประทีปแก้ว ด้านในมีรูปเทวดาประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ระดับที่สองหรือฐานบนเรียกว่า ฐานพระเมรุ เป็นฐานสิงห์ มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้งสี่ทิศ ที่เชิงบันไดมีรูปสัตว์หิมพานต์ตั้งประกอบอยู่ด้านละหนึ่งคู่ แสดงความเป็นป่าหิมพานต์ตามคติไตรภูมิ

พระเมรุมาศ
พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระเมรุทั้งด้านในและด้านนอกประดับตกแต่งด้วยลวดลายใกล้เคียงกับพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่วิจิตรสวยงามเรียบง่าย ทำด้วยผ้าทองย่นฉลุลายซ้อนทับกระดาษสี ซึ่งใช้สีทองและสีแดงเป็นหลัก

ตัวพระเมรุนั้นจะตั้งอยู่ศูนย์กลาง รายล้อมด้วยอาคารต่างๆภายในขอบรั้วราชวัติ สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยมีพระที่นั่งทรงธรรมอยู่ด้านหน้า ส่วนสถาปัตยกรรมอันเป็นอาคารประกอบต่างๆมีดังนี้

 

อาคารประกอบที่ตั้งในบริเวณเดียวกับพระเมรุ / พระเมรุมาศ

๐  ซ่างหรือสำส้าง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างขึ้นที่มุมทั้งสี่บนชาลาพระเมรุ (ฐานชาลา) ที่ตรงนี้ใช้สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมตลอดงานพระเมรุโดยจะมีพระพิธีธรรม ๔ สำรับนั่งอยู่ประจำซ่าง และจะผลัดกันสวดทีละซ่างเวียนกันไป

๐  หอเปลื้อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกตรงมุขด้านหลังของพระเมรุ โดยหันหน้าเข้าหาพระเมรุ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยมีฝากั้นโดยรอบ ใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บพระโกศทอง (ชั้นนอก) หลังจากที่ได้เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานแล้ว และยังใช้สำหรับเป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆในการพระราชพิธีด้วย

 

อาคารประกอบโดยรอบพระเมรุ / พระเมรุมาศ

๐  พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารโถงยาว ตั้งอยู่ตรงข้ามมุขด้านหน้าของพระเมรุมาศ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุ นอกจากนั้นพระที่นั่งทรงธรรมยังเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ และที่นั่งของคณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

๐  ศาลาลูกขุน เป็นอาคารโถงทรงโรง สร้างตรงปลายปีกพระที่นั่งทรงธรรมทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ

๐  ทับเกษตร เป็นอาคารที่ปลูกริมแนวรั้วราชวัติสร้างเป็น อาคารโถงหลังคาทรงปะรำ (หลังคาแบน) ใช้เป็นสถานที่สำหรับข้าราชการพักและฟังสวดพระอภิธรรม

๐  ทิม เป็นอาคารหลังคาปะรำ ด้านหน้าเปิดโล่งที่สร้างติดรั้วราชวัติจำนวน ๘ หลัง ใช้สำหรับเจ้าพนักงานพระสงฆ์ แพทย์หลวง ไว้พัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมพระศพด้วย

๐  พลับพลายก ในงานพระเมรุมีทั้งหมด ๓ หลัง พลับพลายกสนามหลวง (ตั้งอยู่นอกรั้วราชวัติ) สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จรับพระศพลงจากราชรถ

      พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จส่งพระศพขึ้นราชรถ

พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับทอดพระเนตรกระบวนและถวายบังคมพระศพ

๐  รั้วราชวัติ เป็นแนวรั้วที่กั้นเป็นเขตปริมณฑลของพระเมรุทั้งสี่ด้าน

พระเมรุมาศ
อาคารประกอบโดยรอบพระเมรุมาศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

เทวดาและสัตว์หิมพานต์

เทวดารอบพระเมรุนั้นเปรียบเสมือนเหล่าทวยเทพในแต่ละชั้นภูมิที่จะคอยส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย โดยพระเมรุมาศครั้งนี้จัดสร้างเทวดาจำนวน ๔๒ องค์ เป็นเทวดานั่งถือบังแทรกที่มีโคมประทีปแก้วอยู่ตรงกลางรายล้อมพระเมรุจำนวน ๒๒ องค์ สลับกับเทวดายืนถือฉัตรผ้าลายฉลุทองจำนวน ๒๐ องค์ ใบหน้าและภูษาเขียนลายตามแบบไทย

สัตว์หิมพานต์เปรียบเสมือนสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มีหลายเผ่าพันธุ์และฤทธิ์ต่างกัน ในครั้งนี้ได้เลือกสัตว์ทวิบาทผสมสัตว์ปีกและนางสวรรค์ จำนวน ๖ รูป หรือ ๓ คู่ ได้แก่ ”กินรี” ตั้งอยู่หัวบันไดทางทิศตะวันตก ”อัปสรสีหะ” (รูปครึ่งคนครึ่งสิงห์) ตั้งอยู่หัวบันไดทางทิศเหนือ และ ”นกทัณฑิมา” (ครุฑยืนถือกระบองหรือไม้เท้าที่คอยปกป้องไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามา) ตั้งอยู่หัวบันไดทางทิศใต้

พระเมรุมาศ
พระมหาพิชัยราชรถ

 

พระโกศจันทน์

เป็นพระโกศที่สร้างด้วยไม้จันทน์หอมนำมาแปรรูปให้เป็นแผ่นบางโกรกฉลุเป็นลวดลายต่างๆ ให้มีขนาดและสีต่างๆกัน (เป็นสีไม้ตามธรรมชาติ) แล้วนำลายไม้นั้นมาซ้อนติดกันเป็นชั้น ซึ่งจะเกิดเป็นลวดลายต่างๆ เป็นศิลปะงานซ้อนไม้ที่เป็นเอกลักษณ์อันวิจิตรราวกับงานแกะสลักเสร็จแล้วจึงนำทั้งหมดไปประกอบกับโครงหลัก (โครงเหล็ก) เป็นพระโกศไม้จันทน์ที่ถอดแบบและความงดงามมาจากพระโกศทอง

ในสมัยโบราณการประดิษฐ์พระโกศจันทน์ขึ้นก็เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพ ซึ่งพระโกศจันทน์นี้จะเผาไปพร้อมกันด้วยแต่ในปัจจุบันไม่ได้มีการเผาพระโกศจันทน์ไปพร้อมกันแต่ยังคงตั้งอยู่ที่พระจิตกาธานขณะถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงเช่นเดิม โดยจะเลี้ยงน้ำที่พระโกศจันทน์ให้ชุ่มตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟเผานั่นเอง อย่างพระโกศจันทน์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) นั้นภายหลังได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

พระเมรุมาศ
ริ้วกระบวนพระราชอิสริยยศตอนพระยานมาศสามลำคานเชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากพระบรมมหาราชวังไปยังพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

 

ริ้วกระบวนกับงานพระเมรุ

ริ้วกระบวนนั้นถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งของงานพระบรมศพหรือพระศพ เพราะตลอดพระราชพิธีนั้นจะมีการจัดริ้วกระบวนในขั้นตอนต่างๆ อยู่หลายครั้ง องค์ประกอบสำคัญในการจัดกระบวนก็คือเครื่องอัญเชิญต่างๆ ที่มีรูปแบบและหน้าที่ที่ต่างกันดังนี้

 

พระมหาพิชัยราชรถ

ราชรถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๘) ใช้สำหรับทรงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นสำหรับพระศพพระบรมวงศ์ที่มีการออกพระเมรุนั้นก็ให้เป็นไปตามพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ พระมหาพิชัยราชรถนั้นเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้งแรกนั้นพระมหาพิชัยราชรถใช้ทรงพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เพื่อเชิญออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๙ และได้เคยใช้ทรงพระบรมศพรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ กระทั่งพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสำหรับงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในครั้งนี้ก็จะนำพระมหาพิชัยราชรถมาใช้ในการเชิญพระศพด้วย

 

พระเวชยันตรราชรถ

ราชรถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่นกัน ใช้สำหรับทรงพระบรมศพหรือพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงราชศักดิ์สูง พระเวชยันตรราชรถนั้นมีความคล้ายคลึงพระมหาพิชัยราชรถแทบจะทุกประการ แตกต่างกันที่รายละเอียดและความสูงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในรัชกาลที่ ๑ พระเวชยันตรราชรถได้ใช้ทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่พระโกศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีซึ่งทรงพระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุในคราวเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๒

ในคราวงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่๘ นั้น ได้เชิญพระเวชยันตรราชรถมาเชิญพระบรมศพแทนพระมหาพิชัยราชรถที่ทรุดโทรมและอยู่ระหว่างการบูรณะ แต่ก็ได้ออกหมายเรียก ”พระมหาพิชัยราชรถ” ตามโบราณราชประเพณี

 

ราชรถน้อย

ราชรถน้อยมีลักษณะคล้ายราชรถองค์ใหญ่ทุกประการ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก มีทั้งหมด ๓ องค์ ซึ่งการจัดริ้วกระบวนในอดีตนั้น องค์หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับทรงสวดนำกระบวน องค์ที่สองเป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศหรือพระโกศ และอีกองค์ใช้สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับเพื่อโปรยทาน ในรัชกาลปัจจุบันจัดริ้วกระบวนราชรถน้อยเพียง ๑ องค์สำหรับ สมเด็จพระสังฆราชประทับทรงสวดนำกระบวนเท่านั้น

 

พระยานมาศสามลำคาน

เป็นพระราชยานชั้นสูงฐานย่อมุมไม้สิบสอง ๓ ชั้น ใช้กำลังแบก ๖๐ นาย พระยานมาศสามลำคานนี้ใช้เชิญพระโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังพระมหาพิชัยราชรถ และใช้อีกครั้งในการเชิญพระโกศจากพระมหาพิชัยราชรถเวียนรอบพระเมรุมาศ

 

เกรินบันไดนาค

เป็นเกรินเครื่องเลื่อนเชิญพระโกศพระบรมศพหรือพระศพขึ้นสู่ที่สูงหรือลงสู่ที่ต่ำ เรียกกันทั่วไปว่า เกรินกว้าน หรือกว้านเกริน มีลักษณะเป็นเกรินชักรอกทำด้วยไม้ประกอบกว้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เกรินบันไดนาคนั้นมีอยู่ 2 ชุด ชุดหนึ่งใช้เลื่อนเชิญพระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นสู่บุษบกของพระมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และอีกชุดหนึ่งใช้เลื่อนเชิญพระโกศลงจากบุษบกของพระมหาพิชัยราชรถมาประดิษฐานที่พระยานมาศสามลำคานที่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง

พระเมรุมาศ
พระที่นั่งราเชนทรยาน

 

พระที่นั่งราเชนทรยาน

เป็นพระที่นั่งราชยานทรงบุษบก สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทอง มีคานหามประจำ ๔ คาน องค์บุษบกประกอบด้วยฐาน ๒ ชั้น มีเครื่องประดับอันเป็นองค์ประกอบสำคัญแสดงถึงพระราชอำนาจคือรูปครุฑยุดนาค ๑๔ ตัวโดยรอบ พระที่นั่งราเชนทรยานใช้เชิญพระโกศพระอัฐิจากพระเมรุมาศกลับสู่พระบรมมหาราชวัง

 

พระวอสีวิกากาญจน์

เป็นพระราชยานประเภทมีหลังคา เป็นพระวอไม้แกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ทรงหลังคาคฤห์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้สำหรับเชิญผอบพระสรีรางคาร จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง

 

เทคโนโลยีกับพระเมรุ

การสร้างพระเมรุแต่ละยุคสมัยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมไปตามกาลเวลา ในยุคปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับงานพระเมรุ ซึ่งรวมถึงงานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในครั้งนี้ด้วย

 

ลิฟต์

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางวิศวกรรมของการก่อสร้างพระเมรุที่มีการติดตั้งระบบลิฟต์ในพระเมรุ เพื่อเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ เนื่องจากบันไดพระเมรุมีความชัน โดยการออกแบบและก่อสร้างลิฟต์จะทำให้สวยงามกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมไทยของพระเมรุที่สุด

Recommend