ความลับของดินแดนแห่ง ความสุข ทั่วโลก

ความลับของดินแดนแห่ง ความสุข ทั่วโลก

เรื่อง แดน บิวต์เนอร์

ภาพถ่าย คอรี ริชาร์ดส์ และแมตทิว เพลีย์

คนที่มีความสุขที่สุดในโลกคือใครกันนะ

อาจเป็นอาเลคันโดร ซูญีกา พ่อวัยกลางคนผู้มีสุขภาพดีและเข้าสังคมอย่างน้อยวันละหกชั่วโมง เขานอนหลับอย่างน้อยเจ็ดชั่วโมงในคืนส่วนใหญ่ เดินไปทำงาน และกินผักผลไม้เกือบทุกวัน อาเลคันโดรทำงานที่เขารักกับเพื่อนร่วมงานที่เขารู้สึกดีสัปดาห์ละไม่เกิน 40 ชั่วโมง อีกสองสามชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์เขาจะทำงานอาสาสมัคร ช่วงสุดสัปดาห์ เขาเข้าโบสถ์และเอาใจตัวเองด้วยการดูฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาโปรด โดยสรุปแล้ว เขาเลือกทำสิ่งที่เอื้อให้ตัวเองมีความสุขทุกวัน ตัวเลือกก็ไม่ยากเพราะเขาอาศัยอยู่ท่ามกลางคนแบบเดียวกันในหุบเขาเซนทรัลแวลลีย์อันเขียวชอุ่มและอบอุ่นของคอสตาริกา

ซิดเซ เคลมเมนเซน คือคู่แข่งอีกคนที่เป็นไปได้ เธออยู่กับสามีที่เอาใจใส่และลูกเล็กๆสามคนในชุมชนแบบเคหะรวม (cohousing community) ที่ผูกพันใกล้ชิดกับครอบครัวอื่นๆ เธอเป็นนักสังคมวิทยาซึ่งเป็นงานที่ท้าทายและปลุกเร้าเธอให้ลุกขึ้นมาทำอะไรได้ทุกวัน เธอกับครอบครัวขี่จักรยานไปทำงาน ซื้อของ และไปโรงเรียน ซึ่งช่วยให้เด็กๆแข็งแรง เธอจ่ายภาษีสูงจากเงินเดือนที่ไม่สูงนัก แลกกับบริการทางสาธารณสุขและการศึกษาสำหรับครอบครัว รวมทั้งเป็นหลักประกันรายได้หลังเกษียณ ในเมืองออลบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก ที่เธออาศัยอยู่ ผู้คนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะคอยดูแลไม่ให้พวกเขาประสบกับเรื่องร้ายๆที่หนักหนาสาหัสเกินไป

แล้วยังมีดักลาส ฝู ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอีกคน เขาขับรถบีเอ็มดับเบิลยูราคา 750,000 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่บ้านราคา 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาแต่งงานแล้ว มีลูกกิริยามารยาทเรียบร้อยสี่คนที่เรียนหนังสือเก่งเข้าขั้นยอดเยี่ยม เขาทำงานสี่อย่างเพื่อส่งตัวเองเรียน และเปิดบริษัทที่ค่อยๆเติบโตจนกลายเป็นวิสาหกิจข้ามชาติมูลค่า 59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาใช้เวลาสัปดาห์ละประมาณ 60 ชั่วโมงทำธุรกิจและทำงานการกุศล เขาเป็นที่เคารพรักของพนักงาน เพื่อนร่วมงาน และสังคมในวงกว้าง แม้จะทำงานหนักเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ แต่ฝูยอมรับว่าเขาคงสร้างชีวิตแบบนี้ที่ไหนไม่ได้อีกแล้วนอกจากสิงคโปร์

สิงคโปร์ : โครงสร้างที่เรียกกันว่า ต้นไม้ยักษ์ (Supertree) สว่างไสวด้วยแสงไฟจากพลังแสงอาทิตย์ และเป็นที่อยู่ของต้นไม้กว่า 200 ชนิด คือจุดเด่นของการ์เดนส์บายเดอะเบย์ สวนที่สร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจงบนพื้นที่กว่า 630 ไร่นี้สะท้อนความทะเยอทะยานของสิงคโปร์ที่มุ่งจะเป็นเมืองชั้นแนวหน้าของโลก ซึ่งหยั่งรากอยู่ในค่านิยมตามขนบแบบเอเชีย ได้แก่ ความปรองดอง ความเคารพ และการทำงานหนัก

อาเลคันโดร ซูญีกา, ซิดเซ เคลมเมนเซน และดักลาส ฝู คือสามเส้นเกลียวที่แตกต่างกันของความสุข ทว่าถักทอรวมกันเพื่อสรรค์สร้างความสุขอันยั่งยืน ผมเรียกเส้นเกลียวทั้งสามนี้ว่า ความรื่นรมย์ จุดมุ่งหมาย และความภาคภูมิใจ พวกเขายังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ส่งเสริมเส้นเกลียวเหล่านั้นด้วย การพูดคุยกับคนเหล่านี้และสำรวจประเทศบ้านเกิดของพวกเขาจะทำให้เรารู้ความลับว่า ทำไมผู้คนในดินแดนดังกล่าวจึงมีความสุขกว่าผู้คนในที่อื่นๆมากนัก

เริ่มจากซูญีกาผู้ไม่ต่างจากชาวคอสตาริกาคนอื่นๆอีกมากที่รู้สึกรื่นรมย์กับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเต็มเปี่ยม นักวิทยาศาสตร์เรียกความสุขแบบของเขาว่า ความสุขจากประสบการณ์ (experienced happiness) หรือผลกระทบเชิงบวก แบบสำรวจวัดค่าความสุขประเภทนี้ด้วยการถามว่า ผู้ตอบแบบสอบถามยิ้ม หัวเราะ หรือรู้สึกเป็นสุขบ่อยแค่ไหนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา คอสตาริกาไม่ใช่แค่ประเทศที่มีความสุขที่สุดในลาตินอเมริกา แต่ยังเป็นประเทศที่คนตอบว่า มีความรู้สึกเชิงบวกในแต่ละวันมากกว่าดินแดนอื่นใดในโลกด้วย

เคลมเมนเซนคือเส้นเกลียวแห่งความสุขของชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยจุดมุ่งหมายของชาวเดนมาร์ก เช่นเดียวกับความสุขรูปแบบอื่นๆทั้งหมด ความสุขนี้เชื่อว่า ความต้องการพื้นฐานต้องได้รับการดูแลเพื่อให้คนสามารถทำตามความปรารถนาในเรื่องงานและการใช้เวลาว่างได้ นักวิชาการเรียกความสุขแบบนี้ว่า ความสุขภายใน (eudaimonic happiness) มาจากภาษากรีกโบราณที่แปลว่า “มีความสุข” อาริสโตเติล ผู้เชื่อว่าความสุขที่แท้มาจากชีวิตที่มีความหมายหรือการได้ทำในสิ่งที่มีค่าคู่ควร เป็นผู้ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลาย แกลลัปโพลล์วัดความสุขรูปแบบนี้จากการถามว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม “เรียนรู้หรือได้ทำอะไรน่าสนใจเมื่อวานนี้” ในประเทศเดนมาร์กซึ่งครองอันดับชาติที่มีความสุขสูงสุดในยุโรปต่อเนื่องที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา สังคมที่นั่นวิวัฒน์ไปจนถึงจุดที่ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตที่น่าสนใจได้ไม่ยาก

และเป็นไปตามชื่อเสียงของสิงคโปร์ที่ว่ากันว่า มีพลังขับอันรุนแรงให้ประสบความสำเร็จ ความทะเยอทะยานและความสำเร็จของฝูเป็นตัวแทนของเส้นเกลียวแห่งความสุขจาก “ความพึงพอใจในชีวิต” (life satisfaction) นักสังคมศาสตร์มักวัดความสุขแบบนี้ด้วยการขอให้ผู้คนให้คะแนนชีวิตตัวเองจากศูนย์ถึง 10 สิงคโปร์คือผู้นำด้านความพึงพอใจในชีวิตเกือบตลอดกาลในเอเชีย

สิงคโปร์ : ชาวสิงคโปร์จำนวนมากชอบการจับจ่ายซื้อของ ช็อปส์แอตมารีนาเบย์แซนด์สคือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งมี ร้านค้าหรู ภัตตาคารระดับบน และเรือสำปั้นล่องในคลอง สิงคโปร์ดูแลคนทำงานให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม บริการทางสาธารณสุข และที่อยู่อาศัย ทั้งยังส่งเสริมวิสาหกิจและการสร้างผู้ประกอบการ ทำให้เกิดเศรษฐีเงินล้าน จำนวนมาก

นักวิจัยซึ่งตีพิมพ์รายงานประจำปีเรื่องความสุขโลก (World Happiness Report) พบว่า ความสุขของมนุษย์ประมาณสามในสี่มาจากปัจจัยหกประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (healthy life expectancy) คุณภาพของความสัมพันธ์ทางสังคม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไว้วางใจ และอิสรภาพในการใช้ชีวิตที่เหมาะกับตัวคุณ ปัจจัยเหล่านี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลและคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ พูดอีกนัยหนึ่งคือ ดินแดนที่มีความสุขที่สุดจะบ่มเพาะความสุขให้ผู้คนของตนเอง

ซูญีกา, เคลมเมนเซน และฝู ทำตามจุดมุ่งหมายอย่างมุ่งมั่นจริงจัง แต่ไม่ได้แลกมาด้วยความสุขและเสียงหัวเราะพวกเขาภูมิใจกับสิ่งที่ทำอยู่และสิ่งที่ทำสำเร็จแล้ว ในหลายกรณี พวกเขาสามารถทำได้เพราะดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่ทั้งประเทศ ชุมชน ย่าน และครอบครัว คอยส่งพลังที่มองไม่เห็นผลักดันให้พวกเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่เส้นทางของการมีสุขภาวะในระยะยาว

 

อ่านเพิ่มเติม : ชีวิตบนเกาะซึ่งหนาแน่นที่สุดในโลกชมกรรมวิธีการทำช็อกโกแลตแบบโบราณ

Recommend