ชีวิตระทมใต้เงาโบโกฮาราม

ชีวิตระทมใต้เงาโบโกฮาราม

โบโกฮาราม
Ya Kaka ผู้ถูกลักพาตัวไปตอนอายุ 15 ปี ถ่ายภาพมื้ออาหารของเธอจากร้าน Panera Bread เธอเล่าให้ฟัง่วาระหว่างถูกคุมขัง เธอคิดถึงครอบครัวและอาหารดีๆ

ในหมู่บ้านของ Ya Kaka เมื่อใครสักคนให้กำเนิดลุูก เธอจะได้สิทธิพิเศษสามารถว่างเว้นจากความรับผิดชอบที่ต้องทำได้ เพื่อดูแลลูก แต่ไม่ใช่กับในค่ายของโบโกฮาราม เธอได้รับการปฏิบัติเช่นทาสและได้กินอาหารเพียงน้อยนิด และเมื่อคลอดลูกออกมา เธอคิดอย่างเดียวว่าจะต้องหนีออกไปจากที่นี่ให้ได้ เธอพบกับเด็กหญิงอีกสามคนที่คิดแบบเดียวกัน ทั้งหมดจึงวางแผน “พวกเธอพูดว่า เราต้องหนี หนีไปให้ได้” Ya  Kaka กล่าว “จากนั้นเพียงสองสามวันต่อมา เราก็หนีจริงๆ”

ส่วน Hauwa เล่าว่าเธอเริ่มวางแผนที่จะหนีก็ตอนที่ร่างกายส่งสัญญาณว่าเธอใกล้จะคลอดลูก เธอไม่สามารถคลอดลูกในค่ายได้ เพราะจะไม่มีใครช่วยเธอ “ฉันรู้ว่าถ้าคลอดลูกในนั้นต้องตายแน่ๆ” เธอกล่าว “ต้องหนีอย่างเดียว”

โบโกฮาราม
เสื้อผ้าใหม่และสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กสาวที่หนีรอดจากโบโกฮารามมาได้ เพราะมันช่วยให้พวกเธอสามารถกลับเข้าสู่สังคม

 

โศกนาฏกรรมซ้ำสอง

เด็กสาวทั้งคู่ใช้เวลาหลายสัปดาห์รอนแรมในป่ากว่าจะเจอที่ปลอดภัย น่าเศร้าที่ทารกไม่สามารถรอดชีวิตได้ ชะตากรรมต่อมาที่พวกเธอต้องเจอหลังหลบหนีจากโบโกฮารามมาได้แล้วกลับพบว่าครอบครัวไม่ยอมรับ หรือไม่ก็ไม่มีครอบครัวรอพวกเธออีกแล้ว พวกเธอเดินเตร็ดเตร่ไปทั่วเมืองอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง พร้อมด้วยเสื้อผ้าที่ขาดรุ่งริ่ง ทั้งยังไม่สามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตเช่นเดิมในสังคมได้ เมื่อถูกตราหน้าว่าเป็นเจ้าสาวของโบโกฮาราม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่านี่คือโศกนาฏกรรมซ้ำสอง ซึ่ง Hauwa เล่าเรื่องราวให้ฟังเมื่อเดินทางไปถึงเมืองไมดูกูรี

Hauwa บอกเล่าถึงวิธีที่ผู้คนเลือกปฏิบัติต่อเธอตามท้องถนน เมื่อรู้ว่าเธอคือ “เจ้าสาวของโบโกฮาราม” พวกเขาพูดจาถากถาง เยาะเย้ย หลายชุมชนไม่ให้การต้อนรับด้วยความกลัวว่าภรรยาของกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้อาจโดนล้างสมองไปแล้ว และอาจจุดระเบิดฆ่าตัวตายได้ทุกเมื่อ ในขณะที่ Ya Kaka เองเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน

โบโกฮาราม
Ya Kaka หัวเราะระหว่างเข้ารับบริการทำเล็บเท้า ในนครนิวยอร์ก

ทั้งคู่ขอความช่วยเหลือจากองค์กร Too Young To Wed เพื่อให้พวกเธอได้ชีวิตใหม่คืนมา ทางองค์กรมอบสิ่งของที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและส่งพวกเธอให้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียน

 

โปรดช่วยเหลือเจ้าสาวโบโกฮาราม

เวลาผ่านไปไม่กี่ปี ทั้ง Ya Kaka และ Hauwa เปลี่ยนจากเหยื่อผู้รอดชีวิตมาเป็นผู้ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือ ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น เรื่องราวจากพวกเธอกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจและช่วยเหลือเด็กสาวคนอื่นๆ ที่ยังคงต้องทนทุกข์ ในบ้านเกิดที่เธอจากมา Hauwa เล่าว่าไม่มีใครอยากฟังเรื่องของเจ้าสาวโบโกฮาราม แต่ที่สหรัฐอเมริกานั้นแตกต่าง พวกเธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดจนความเห็นใจ และภาคภูมิใจในสิ่งที่พวกเธอทำ

สำหรับเด็กสาวแล้ว เนื้อหาในสารที่พวกเธอกำลังส่งออกไปนั้นง่ายดาย: บางครั้งการเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเปลี่ยนเสื้อผ้าก็ช่วยผู้รอดชีวิตจากโบโกฮารามได้มากแล้ว นอกจากนั้นการศึกษายังเป็นสิ่งสำคัญ หากบรรดาเด็กสาวผู้รอดชีวิตมีโอกาสได้กลับเข้าโรงเรียนอีกครั้ง “พวกเธอจะหาวิธีเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้” Ya Kaka กล่าว ซึ่งองค์กร Too Young To Wed เป็นผู้ออกทุนการศึกษาให้แก่ทั้งคู่ และพวกเธอคาดหวังว่าในอนาคตจะได้เป็นนักกฎหมายหญิง

โบโกฮาราม
ทั้งคู่แบ่งปันประสบการณ์เลวร้ายที่เจอมาให้กับ Judy Woodruff ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว PBS NewsHour “ทั่วโลกต้องให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเด็กสาวที่ถูกจับตัวไป ส่งพวกเธอกลับเข้าเรียน ให้พวกเธอมีความหวังในชีวิตอีกครั้ง” Hauwa กล่าวกับ Woodruff

แม้กระทั่งตอนนี้ เด็กสาวจากเมืองดับชีก็ยังคงต้องการความช่วยเหลือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ตัดขาดภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียออกจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยความรุนแรง

“ยังมีอีกหลายคนที่ติดอยู่ในค่าย” Hauwa กล่าว “พวกเขาจะไม่ได้ออกมาแบบเป็นๆ”

ตลอดเวลาที่พวกเธออยู่ในสหรัฐฯ เด็กสาวได้รับคำชื่นชมซึ่งจะบันดาลความกล้าหาญให้แก่พวกเธอในการต่อสู้ต่อไป “คำพูดเหล่านั้นช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น” Hauwa กล่าว “ที่เรากล้าหาญเช่นนี้ก็เพราะเราเชื่อว่าโลกยังไม่ทอดทิ้งเราค่ะ” Ya Kaka กล่าวเสริม

เรื่อง Alexandra E. Petri

ภาพถ่าย Stephanie Sinclair

โบโกฮาราม
Hauwa หนีออกมาในช่วงที่เธอใกล้จะคลอดลูก ในที่สุดเธอก็คลอดลูกในป่าระหว่างการเดินทางกลับเมืองไมดูกูรี แต่เด็กไม่รอดชีวิต
โบโกฮาราม
บรรยากาศของท้องถนนในเมืองไมดูกูรี

 

อ่านเพิ่มเติม

เมื่อเกิดในอัฟกานิสถาน เด็กหญิงบางคนเลือกใช้ชีวิตในร่างเด็กชาย

Recommend