พายุฝุ่นที่เกิดขึ้นในอินเดีย เหตุใดจึงส่งผลถึงตาย?

พายุฝุ่นที่เกิดขึ้นในอินเดีย เหตุใดจึงส่งผลถึงตาย?

พายุฝุ่น ที่เกิดขึ้นในอินเดีย เหตุใดจึงส่งผลถึงตาย?

ฤดูมรสุมของอินเดียปีนี้เข้าถล่มภูมิภาคทางตอนเหนือแบบไม่ได้มาเงียบๆ แต่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วจำนวนอย่างน้อย 100 คน จาก พายุฝุ่น ที่เกิดขึ้นในคืนวันพุธคืนเดียวที่ผ่านมา (2 พฤษภาคม 2018)

สำนักข่าวท้องถิ่นรายงาน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากกระแสลมแรงที่พัดเอาสิ่งของหรือโครงสร้างสาธารณะหล่นทับ และมีอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บจากภัยธรรมชาติครั้งนี้

ปกติแล้วพายุฝุ่นเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ในอินเดีย และในปีก่อนๆ มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากพายุฝุ่นรวมแล้วไม่กี่สิบรายเท่านั้น แต่สำหรับปีนี้ระดับความรุนแรงของพายุเป็นที่สร้างความประหลาดใจให้แก่เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยา โดยเดินทางจากรัฐราชสถานทางตะวันตกเข้าสู่รัฐอุตตรประเทศและพัดถล่มกรุงนิวเดลี ในเวลาอันสั้น

พายุฝุ่น
แรงงานในสนามกีฬา Noida เผชิญกับผลกระทบจากพายุฝุ่นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2018
ภาพถ่ายโดย Virendra Singh Gosain, Hindustan Times

Hemant Gera เลขานุการหน่วยงานจัดการภัยพิบัติของราชสถานให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว บีบีซี ว่า “ผมทำงานนี้มา 20 ปี แต่ไม่เคยเห็นอะไรรุนแรงเท่านี้มาก่อน”

“คนร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากคือพายุฟ้าผ่าที่ถล่มตลอดทั้งคืน รวมทั้งยังมีลมแรงที่พัดเอาฝุ่นละอองมากมายมาด้วย” Bob Henson นักอุตุนิยมวิทยาและนักเขียนจาก Weather Underground กล่าว “ลมที่เกิดขึ้นแรงจนเรียกได้ว่าเป็น downburst ซึ่งความรุนแรงของมันพอๆ กับพายุที่เกิดขึ้นในภาคกลางและตะวันออกของสหรัฐเลยทีเดียว”

สำหรับ downburst นั้นเป็นคำเรียกของช่วงเวลาที่กระแสลมพุ่งลงในแนวดิ่งจากเมฆสู่พื้นดินด้วยความเร็วมหาศาลก่อนจะกระจายออกไปในทุกทิศทาง หรือที่เรียกว่า ไมโครเบิร์สต์ (Microburst) โดยในช่วง downburst นั้นสามารถทำให้เครื่องบินตกได้เลยทีเดียวด้วยความเร็วลมที่มากกว่า 320 กิโลเมตร

(เมื่อพายุมาทุกคนหาที่หลบ แต่ นักวิจัยเหล่านี้กลับวิ่งเข้าใส่)

พายุฝุ่น
ภาพจำลองการเกิดไมโครเบิร์สต์ (Microburst) โดยนาซ่า
พายุฝุ่น
ชาวบ้านมองดูผนังที่พังถล่มจากความรุนแรงของพายุในเขต Agra ของรัฐอุตตรประเทศ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2018
ภาพถ่ายโดย AFP, Getty Images

รายงานจาก Henson ฝุ่นละอองที่พัดมากับพายุนั้นไม่ได้ช่วยให้พายุรุนแรงขึ้น แต่แรงลมต่างหากที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ด้านสำนักข่าว Hindustan ระบุว่าสภาพอากาศที่อุ่นผิดปกติของภูมิภาคดังกล่าวเป็นตัวการสำคัญที่ทวีความรุนแรงของพายุขึ้น ซึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานว่าอุณหภูมิในราชสถานสูงถึง 45 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

Ken Waters ผู้เชี่ยวชาญด้านพายุฝุ่นจากองค์กรสภาพอากาศแห่งชาติชี้ว่า พายุฝุ่นนั้นอันตรายมากกว่าที่คาดคิด “ส่วนใหญ่แล้วพายุฝุ่นส่งผลต่อการจราจร เมื่อลมแรงพัดเอาฝุ่นละอองมามากมายทัศนวิสัยจะเป็นศูนย์ คุณอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าลงไปอยู่บนถนนแล้ว” เขากล่าว และเสริมว่าในขณะเดียวกันพายุฝุ่นก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน

เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม

เตือนภัยพายุสายฟ้า

Recommend