อลังการศิลปะบนใบไม้

อลังการศิลปะบนใบไม้

อลังการ ศิลปะบนใบไม้

พวกเราชอบเก็บใบไม้ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพียงเพื่อชื่นชมใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง เรากิน กวาด และมองหาร่มเงาของใบไม้ ความที่ใบไม้มีอยู่ทุกหนแห่ง เราจึงไม่ค่อยเห็นคุณค่าของพวกมัน แต่แม้เราจะไม่เห็นค่า ใบไม้ก็ยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไป นั่นคือการเปลี่ยนแสงให้เป็นพลังงานชีวิต

ถ้าเราเก็บใบไม้สักกำมาเพื่อศึกษา เราคงไม่อาจมองข้ามความหลากหลายของพวกมัน เพราะเหตุใดใบไม้จึงมีความหลากหลายเช่นนี้ ไม่ว่าจะใหญ่ เล็ก หนา บาง ซับซ้อน เรียบง่าย โค้งงอ หรือเป็นหยัก คำคุณศัพท์เหล่านี้เป็นเพียงความแตกต่างเบื้องต้นที่นักพฤกษศาสตร์พยายามจัดประเภทใบไม้ที่มีความหลากหลาย แต่หากมองข้ามโครงสร้างทั้งหมดแล้ว ใบไม้ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เหมือนกัน นั่นคือการชูคลอโรพาสต์ขึ้นรับแสงแดด แล้วรูปทรงที่แตกต่างกันนี้มีประโยชน์อย่างไร?

ศิลปะบนใบไม้ เฟิน
เฟิน: ครั้งหนึ่งผืนป่าเคยปกคลุมไปด้วยใบเฟินที่พลิ้วไหว เฟินสมัยใหม่บางชนิดมีคุณสมบัติเหมือนไม้ต้น แต่ส่วนใหญ่เป็นพืชขนาดเล็ก ใบเฟินจะพยายามชูช่อให้พ้นพื้นที่ป่าและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตเพื่อรับแสงอาทิตย์

การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) เป็นกุญแจหนึ่งที่ช่วยไขปริศนาในเรื่องนี้ ใบไม้ในทะเลทรายมักมีขนาดเล็ก ผิวหนา มันวาวคล้ายเคลือบด้วยขี้ผึ้ง หรือมีหนาม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของวิธีการไม่กี่อย่างที่วิวัฒนาการใช้รับมือกับการขาดแคลนน้ำ ส่วนพืชพรรณในป่าดิบชื้นมักมีใบแคบ และมีส่วนปลายรูปหยดน้ำเรียวยาว เพื่อระบายน้ำส่วนเกิน ส่วนในพื้นที่หนาวเย็น เรามักจะพบใบไม้ที่มีขอบหยักเหมือนฟันเลื่อยอย่างใบต้นเบิร์ชและเชอร์รี่ แม้ว่าเหตุผลของการวิวัฒน์รูปร่างเช่นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงก็ตาม

(ค้นพบต้นไม้เก่าแก่ที่สุดในยุโรป และยังคงเติบโตอยู่)

ทั้งนี้ใบไม้ทุกใบคือผลงานชิ้นเอกที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ คาดกันว่าใบไม้ในปัจจุบันอาจกำลังวิวัฒน์เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมในเมือง ซึ่งมีทั้งมลพิษ ความแห้งแล้ง ความร้อนรุนแรง และของเสียจากสัตว์ แต่อาจต้องใช้เวลาหายชั่วรุ่น เพื่อให้การคัดเลือกโดยธรรมชาติได้ลองผิดลองถูกจนกว่าจะได้รูปแบบที่เหมาะสม

สภาพอากาศ การแข่งขัน และการป้องกันตนเอง ล้วนเป็นปัจจัยทางวิวัฒนาการที่อธิบายความหลากหลายของใบไม้ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเราลองหยิบใบไม้สองใบจากสวนหลังบ้าน เราก็ยังไม่อาจเข้าใจความแตกต่างหลักๆ ระหว่างใบไม้สองใบนี้ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่นักธรรมชาติวิทยาใช้เวลาศึกษาและอธิบายมาเป็นพันปี วิวัฒนาการสามารถสลักเสลารูปแบบที่เหมือนกันได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ภายใต้สภาพแวดล้อมเหมือนๆ กัน ทว่าความพลิกแพลงแปลกใหม่และความบังเอิญก็อาจเอื้อให้วิวัฒนาการสร้างสรรค์งานอันซับซ้อนลุ่มลึกประหนึ่งภาพวาดแนวนามธรรมขึ้นมาได้เช่นกัน

(พบกับต้นไม้กินแมลงจอมเห็นแก่ตัว)

ศิลปะบนใบไม้ สาหร่ายทะเล
สาหร่ายทะเล: กิ่งก้านที่ยื่นออกมาอาจดูเหมือนพืชทั่วไป แต่ที่จริงแล้วนี่คือสาหร่ายทะเล ซึ่งมีวิวัฒนาการเป็นเอกเทศจากพืช ความคล้ายคลึงกันนี้แสดงให้เห็นว่า กระแสธารของวิวัฒนาการมักไหลมาบรรจบกัน
ศิลปะบนใบไม้ ใบองุ่น
องุ่น: เลือดไหลเวียนผ่านเส้นเลือดในร่างกายมนุษย์โดยไม่ไหลออกนอกร่างกาย ส่วนใบองุ่นนั้นเปิดกว้างสู่เอกภพ ก๊าซต่างๆ จะแพร่จากเส้นใบสู่ผิวใบที่ซึ่งการแลกเปลี่ยนระหว่างน้ำกับคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้น

เราไม่ควรคาดหวังว่าจะเข้าใจใบไม้ที่มีขนสั้นหนานุ่ม หรือใบไม้หยักที่มีขนคล้ายใยแมงมุมทุกๆ ใบ บางครั้งการถอยฉากออกมาและชื่นชมกับผลงานชิ้นเอกก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าผลงานชิ้นนั้นจะแขวนอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือห้อยลงมาจากกิ่งก้านต้นไม้ในสวนสาธารณะก็ตาม พวกใบไม้ไม่อินังขังขอบหรอกว่าเราจะสังเกตเห็นหรือชมเชยพวกมันหรือไม่ เพราะสิ่งที่ทำให้พวกมันระเริงใจ คือแสงอาทิตย์ที่นำพาอาหารมาให้ในแต่ละวันต่างหาก

เรื่อง ร๊อบ ดันน์

ภาพ หนังสือ Impressions of Nature: A History of Nature Printing ของรอดเดอริก เคฟ

ศิลปะบนใบไม้ บัวสาย
บัวสาย: ปากใบ (stomata) ของบัวสายทำงานคล้ายกับสนอร์เกิลที่เปิดสู่ด้านบนเพื่อรับอากาศ
ศิลปะบนใบไม้ ต้นทิสเซิล
ต้นทิสเซิล: เกิดเป็นต้นทิสเซิลแท้จริงแสนลำบาก พวกมันชูช่อไม่สูงจากพื้นดินที่ซึ่ง วัว แกะ และสัตว์กินหญ้าอื่นๆ ตระเวนหากิน กลยุทธ์ป้องกันตัวด้วยหนามไม่ได้ผลเสมอไป บางครั้งต้นทิสเซิลก็ถูกแทะเล็มหรือไม่ก็ถูกเด็ด เช่นตัวอย่างที่เห็นอยู่นี้

 

อ่านเพิ่มเติม

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือสะพานต้นไม้จริงที่ปลูกในอินเดีย

Recommend