เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

ปัจจุบัน ความเสี่ยงจากปัญหาหมอกควันทวีความรุนแรงขึ้น ประเด็นสำคัญมาจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม นักสิ่งแวดล้อมโทษข้าวโพดว่าเป็นตัวการสำคัญของปัญหาหมอกควัน ภาคเหนือเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 4.7 ล้านไร่ นับว่ามากที่สุดในประเทศไทย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทนแล้ง ต้องการนํ้าน้อย และปลูกง่าย มีตลาดรับซื้อไม่อั้น เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ซึ่งมีความต้องการมหาศาล สะท้อนถึงความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของเราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรรุกป่าเพื่อแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพด และมักเผาตอซังเพื่อเตรียมการปลูกรอบใหม่ซึ่งจะเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ถนนลาดยางอย่างดีพาเราลัดเลาะไปตามหุบเขาสูงชัน แต่น่าทึ่งที่ยอดดอยสูงชันขนาดเดินขึ้นยังยาก กลับถูกยึดครองด้วยดงข้าวโพดเขียวขจี เกษตรกรมากกว่า 7,000 รายของที่นี่ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก จนได้รับการขนานนามว่า “หุบเขาแห่งข้าวโพด”

ส่วนที่จังหวัดน่าน พื้นที่ปลูกข้าวโพดมากเป็นอันดับสามของประเทศ ก็กลายเป็นหุบเขาเหี้ยนเตียนในช่วงเทศกาลเผา เดชา สงค์ประเสริฐ นักธุรกิจคนสำคัญของจังหวัดน่าน เล่าให้ผมฟังว่า “ลองดูสิ เวลาถามคนดอยว่าที่ดินของเขาอยู่ไหน เขาชี้แบบนี้” เขาควํ่ามือลงแล้วแบมือ เป็นคำตอบติดตลกทำนองว่าทุกทิศทุกทาง “ของเขาทั้งนั้น”

ถ้าไร่ข้าวโพดในจังหวัดน่านหรือเชียงใหม่เป็นตัวการของหมอกควัน นั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว คำถามคือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดน้อยที่สุดในบรรดาจังหวัดภาคเหนือ คือประมาณ 9,000 ไร่ (เป็นเรื่องแปลกที่บริษัทนายทุนใหญ่ตีตลาดไม่ได้) ทำไมจึงเผชิญกับภัยหมอกควันหนักหนาสาหัสที่สุด ครั้งล่าสุดที่ผมอยู่ที่นั่น ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM 10 อยู่ในระดับเกินกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุบสถิติจังหวัดอื่น ๆ หลายเท่าตัว

ผมรู้สึกแสบตาเมื่อขี่มอเตอร์ไซค์และหายใจติดขัดตลอดเวลา เครื่องบินหลายเที่ยวไม่สามารถลงจอดได้ และผู้โดยสารที่เร่งรีบต้องหันไปใช้บริการรถตู้หรือรถทัวร์แทน ผู้คนเก็บตัวในห้องแอร์และอีกไม่กี่วันจะมีการแข่งวิ่งมาราธอนเป็นเรื่องตลกร้ายสำหรับนักวิ่งปอดเหล็ก

สมญาดินแดนสามหมอกที่ประกอบด้วยหมอกม่านฝน หมอกนํ้าค้าง และหมอกควัน เป็นความจริงที่เด่นชัด โดยเฉพาะในยามหน้าร้อนที่อุณหภูมิแตะ 40 องศาเซลเซียส พื้นที่เกือบร้อยละ 90 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นป่าไม้ จึงค่อนข้างชัดเจนว่า วัตถุประสงค์การเผาของชาวบ้านที่นี่คือการหาของป่า

หมอกควัน, ไฟป่า, หมอกควันภาคเหนือ, หมอกควันเชียงใหม่, ไฟป่า, ไฟป่าภาคเหนือ
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นวัดที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติ (การพรากของเขียวถือเป็นอาบัติ) แต่พระสงฆ์ที่วัดถํ้าผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ต้องร่วมแรงกันตัดไม้ เพื่อสร้างแนวกันไฟป้องกันไฟป่า

สุริยน สังข์สุข สหายช่างภาพที่นั่น พาผมซ้อนมอเตอร์ไซค์วิ่งจากตัวเมืองไปถึงอำเภอปางมะผ้า เพื่อไปเยี่ยมพี่น้องชาวลาหู่ ระหว่างทางเราหยุดมองจากยอดดอยลูกหนึ่ง ภาพหมู่บ้านลูกข้าวหลามเดิมที่เคยน่าตื่นตาสำหรับผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา คือภาพของหมู่บ้านเล็ก ๆ กระจุกตัวกลางหุบเขาลึก บัดนี้กลับซ่อนอยู่ในม่านหมอกคล้ายมีใยแมงมุมยักษ์ห่อหุ้มทั้งหมู่บ้านเอาไว้ ขากลับเราบึ่งมอเตอร์ไซค์เข้าเมืองในช่วงพลบคํ่า ตลอดรายทางคดโค้ง เราเห็นเปลวเพลิงเป็นแนวยาวเผาผลาญภูเขาทั้งลูกก็มี เป็นหย่อมๆ ก็มี กองไฟมีมากตลอดทางจนนับไม่ไหว และบางช่วงก็ลุกลามไปติดกอไม้แห้ง

สุริยนชี้ให้ดูกองไฟเล็ก ๆ กองหนึ่งและบอกว่า นี่เป็นกองไฟที่เพิ่งเริ่มจุด นั่นแสดงว่ามือเพลิงอยู่ไม่ไกล จากตรงนี้ “คนเก็บของป่าจะจุดไฟขาเดินออกจากป่าแล้วก็กลับบ้านครับ” เขาบอก

ขณะที่ทางการจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือสั่งการให้ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร โดยดูข้อมูลจุดความร้อนหรือฮอตสปอตจากดาวเทียม แล้วสั่งการไล่ลงไปจนถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะทราบทันทีว่า เปลวไฟมาจากแปลงเกษตรของลูกบ้านคนใด ทว่าการควบคุมไฟในจังหวัดแม่ฮ่องสอนหนักหนาสาหัสกว่ามาก จุดความร้อนส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ และหลายจุดเป็นดอยสูงชันที่เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่ายังต้องเอามือก่ายหน้าผาก สุรพล พนัสอำพล
ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยอมรับกับผมว่า “ความยากของการจัดการไฟป่าที่นี่คือ จะทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนครับ”

ไฟป่าในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจผลาญเศษซากไม้แห้งและใบตองตึงที่ทับถมจนป่าเหี้ยนเตียนก็จริง แต่ไม้ยืนต้นจะรอดจากเปลวเพลิง ไม้ยืนต้นเหล่านี้เป็นแหล่งขุมทรัพย์ลํ้าค่าของชาวบ้านในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นั่นคือเห็ดป่า โดยเฉพาะเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ ตามคำเรียกของคนทางนั้น

เมื่อป่าถูกเปลวไฟโหมจนโล่งเตียนแล้ว ปลายฤดูร้อนต่อฤดูฝน (ราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน) จะเป็นช่วงที่ลมมรสุมหอบฝนมาโปรย สลับกับไอร้อนจากแดดจัดสภาพอากาศแบบนี้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตประเภทเชื้อราและเห็ด เห็ดถอบจะเติบโตอยู่ตามรากของต้นตึงซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่พบทั่วไป

เห็ดถอบทำรายได้มหาศาลให้ชาวบ้าน แต่ละครอบครัวต่างเฝ้ารอช่วงเวลากอบโกย เห็ดลิตรหนึ่ง (ขายเป็นลิตร) ขายได้ 200-250 บาท “พี่หนุ่ม” พ่อค้าเห็ดถอบรายใหญ่คนหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า ในฤดูเห็ดออกตลอดทั้งเดือนเขาแทบไม่ได้ลงจากรถกระบะเลย เพราะต้องขับรถรับส่งเห็ดเข้า-ออกจังหวัดเชียงใหม่ และสำรองเงินไว้วันละกว่าห้าแสนบาท เพื่อจ่ายค่าเห็ดให้เครือข่ายชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน พ่อค้าเห็ดถอบรายนี้เล่าว่าเห็ดถอบจากแม่ฮ่องสอนเรียกว่า เห็ดถอบหนัง เป็นเห็ดถอบที่มีรสชาติดีกว่าเห็ดถอบทั่วไปในจังหวัดอื่นๆ และแน่นอนว่าราคาย่อมสูงกว่า “ชาวบ้านออกรถใหม่มอเตอร์ไซค์ใหม่กันได้ก็ช่วงนี้แหละครับ”

ความเชื่อเรื่องเผาป่าเพื่อหาเห็ดถอบแบ่งออกเป็นสองขั้ว ด้านหนึ่งคือความเชื่อที่ว่า หากไม่เผาป่า จะไม่มีเชื้อขี้เถ้าให้เห็ดสำหรับเจริญเติบโต อีกด้านหนึ่งบอกว่า การเผาช่วยให้เดินเข้าไปหาเห็ดได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องคอยแหวกเศษใบไม้ที่ทับถมบนดินและง่ายต่อการขุด แต่นันทินี ศรีจุมปา นักวิชาการด้านเห็ดจากศูนย์วิจัยพืชสวน จังหวัดเชียงราย อธิบายว่า ”ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องเผานะคะ แต่เชื่อว่าที่ชาวบ้านเผาคงเพื่อให้หาเห็ดได้ง่ายขึ้น”

หมอกควันจากการเผาป่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวแม่ฮ่องสอนไปแล้วจริงหรือ สำหรับชาวเมืองที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียง หรือชาวบ้านที่ได้ประโยชน์จากการหาของป่านั้นอาจจะใช่ แต่สำหรับเสนีย์ อังคะรุด มองเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง เจ้าของธุรกิจรีสอร์ตและร้านไวน์แห่งใหม่ใจกลางเมืองแม่ฮ่องสอนผู้นี้ออกตัวว่า หมอกควันไฟป่าไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเขาเท่าไรนัก เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่สิ่งที่เขาเรียกร้องคือคุณภาพอากาศที่ดีซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี “ผมว่ามันไม่ยุติธรรมครับ คนเผาได้ประโยชน์ แต่คนอยู่ต้องทนอากาศอย่างนี้จะบอกว่าชินคงไม่ใช่ ผมว่าเราต้องจัดระเบียบกันใหม่แล้วเราจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไปหรือ”

(อ่านต่อหน้า 4)

Recommend