ภารกิจพิทักษ์ ปากแม่น้ำโอกาวางโก

ภารกิจพิทักษ์ ปากแม่น้ำโอกาวางโก

เรื่อง เดวิด ควาเมน

ภาพถ่าย คอรี ริชาร์ดส์ 

เมื่อมองจากอวกาศ ดินดอนสามเหลี่ยมโอกาวางโกแผ่กว้างอยู่บนภูมิประเทศทางเหนือของบอตสวานา นี่คือพื้นที่ชุ่มน้ำอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งบนพื้นพิภพ กอปรด้วยทางน้ำและลากูนหลายหลากที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิต อีกทั้งหนองบึงที่เกิดตามฤดูกาลในภูมิภาคที่มีความแห้งแล้งรุนแรงของแอฟริกา

ดินดอนสามเหลี่ยมแห่งนี้ไม่ได้ไหลออกสู่ทะเล หากอยู่เฉพาะในแอ่งคาลาฮารีเท่านั้น โดยสิ้นสุดลงตามแนวตะเข็บด้านตะวันออกเฉียงใต้แล้วกลืนหายไปใต้ผืนทรายของทะเลทรายคาลาฮารี  ที่นี่อาจถือเป็นโอเอซิสขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่พักพิงอันชุ่มเย็นของช้าง ฮิปโป จระเข้ และหมาในแอฟริกา  เรื่อยไปจนถึงแอนทิโลปเขตชุ่มน้ำ หมูป่า ควายป่า สิงโต ม้าลาย และนกที่มีอยู่อย่างหลากหลายน่าอัศจรรย์  ไม่ต้องพูดถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

น้ำเกือบทั้งหมดมาจากแองโกลา เพื่อนบ้านของบอตสวานาซึ่งอยู่ห่างออกไปสองประเทศ  ต้นน้ำมาจากเขตที่สูงชุ่มชื้นซึ่งมีฝนตกชุกบริเวณตอนกลางของแองโกลาไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยไหลเชี่ยวในแม่น้ำสายหลักอย่างคูบังโก และไหลช้ากว่าในแม่น้ำคูอิโต ก่อนจะมารวมกันเป็นทะเลสาบต้นน้ำ และไหลซึมช้าๆ ผ่านที่ราบน้ำท่วมถึงที่เป็นทุ่งหญ้า ชั้นดินที่มีพีตทับถม และชั้นทรายเบื้องล่าง ลงสู่ลำน้ำสาขาต่างๆ แม่น้ำคูอิโตและคูบังโกบรรจบกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ขึ้นที่ชายแดนทางใต้ของแองโกลา นี่คือแม่น้ำโอกาวางโกซึ่งไหลผ่านฉนวนคาพริวี (ผืนดินแคบๆ ในนามีเบีย) เข้าสู่บอตสวานา โดยเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีมวลน้ำไหลเข้ามา 9.4 ล้านล้านลิตรต่อปี หากปราศจากน้ำที่แองโกลามอบเป็นของขวัญให้บอตสวานานี้ ดินดอนสามเหลี่ยมโอกาวางโกจะสิ้นสูญ

“โครงการพื้นที่ธรรมชาติโอกาวางโก” ของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก คือความพยายามในการสำรวจ และช่วยปกป้อง ต้นน้ำของดินดอนสามเหลี่ยมแห่งนี้ โครงการเริ่มต้นเมื่อปี 2015 โดยการสำรวจแม่น้ำคูอิโตในแองโกลาซึ่งช่วงที่อยู่ใกล้ต้นน้ำเล็กและแคบจนทีมงานต้องลากเรือที่บรรทุกของเต็มลำอยู่นานถึงแปดวัน

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นหรือในอนาคตอันใกล้ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแองโกลา ทั้งการใช้ที่ดิน การผันน้ำ ความหนาแน่นของประชากร และการค้าขาย ทำให้การคาดการณ์อันมืดมนนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริง นั่นคือสาเหตุที่ทำให้คนบางกลุ่มให้ความสนใจแม่น้ำคูอิโตและคูบังโกอยู่เงียบๆ และเพราะเหตุใดกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าหน้าที่รัฐบาล นักวางแผนทรัพยากร และนักสำรวจหนุ่มสาวจอมทรหด ซึ่งรวมตัวกันได้เพราะการชักจูงจากนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ชาวแอฟริกาใต้ผู้มีความมุ่งมั่นแรงกล้าชื่อ สตีฟ บอยส์ และทุนสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟิก เริ่มความพยายามใหญ่หลวงในโครงการสำรวจ เก็บข้อมูล และส่งเสริมการอนุรักษ์ ที่ชื่อ “โครงการพื้นที่ธรรมชาติโอกาวางโก” (Okavango Wilderness Project) ผู้ร่วมโครงการเหล่านี้รับรู้ว่า สุขภาวะและอนาคตของดินดอนสามเหลี่ยมโอกาวางโกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เช่นเดียวกับสุขภาวะและอนาคตของพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแองโกลา

ทีมของบอยส์ได้รับความเห็นชอบจากทางการแองโกลาและได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศให้ศึกษาวิจัยแม่น้ำคูอิโตและคูบังโก ซึ่งถือเป็นโครงการอันทะเยอทะยานอย่างยิ่ง โดยจะสำรวจทุกตารางกิโลเมตรของแม่น้ำสองสาย รวมลำน้ำสาขาบางสาย สำรวจประชากรสัตว์ป่า สุ่มตรวจคุณภาพน้ำ ศึกษาการใช้ประโยชน์ของมนุษย์และผลกระทบตามแนวตลิ่ง จัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สาธารณชนเข้าถึงได้ และพยายามทำความเข้าใจว่าน้ำสะอาดจากแถบตะวันออกเฉียงใต้ของแองโกลามอบชีวิตให้แก่ดินดอนสามเหลี่ยมโอกาวางโกในบอตสวานาอย่างไร

การสำรวจซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วแปดครั้งทั้งยากลำบากและละเอียดถี่ถ้วน การสำรวจครั้งแรกเริ่มเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2015 บอยส์กับทีมสำรวจซึ่งเดินทางโดยมีขบวนรถแลนด์โรเวอร์ของฮาโลทรัสต์ (HALO Trust) ซึ่งเป็นองค์กรเก็บกู้กับระเบิดนานาชาตอคอยคุ้มกันไปถึงทะเลสาบต้นน้ำคูอิโต พวกเขานำเครื่องมือน้ำหนักรวมกันหลายตันและเรือโมโคโรเจ็ดลำไปเพื่อขนคนและสัมภาระล่องแม่น้ำ หลังพายเรือไปสุดความยาวของทะเลสาบในวันแรก ทีมสำรวจพบว่า ทางออกของแม่น้ำคูอิโตคือลำธารสายเล็กที่มีน้ำลึกแค่เอวและกว้างราวหนึ่งเมตรเท่านั้น เรือโมโคโรที่ยาวหกเมตรไม่สามารถแล่นผ่านได้  พวกเขาต้องลากเรือที่มีของเพียบแปล้ ฝ่าดงหญ้าสูงริมธารน้ำแคบๆ และเก็บข้อมูลระหว่างทางไปด้วย เรือโมโคโรพวกนี้ทำจากไม้และไฟเบอร์กลาส ไม่ได้ขุดจากไม้มะเกลือหรือไม้อื่นๆ แบบดั้งเดิม แต่ก็ยังหนักมากเมื่อบรรทุกของเต็มลำ พวกเขาลากเรือไปทุกวันนานกว่าหนึ่งสัปดาห์กว่าจะถึงจุดที่แม่น้ำคูอิโตกว้างพอให้สัญจรได้ จากนั้นพวกเขาก็ขึ้นเรือพร้อมไม้พายและถ่อ แต่ก็ต้องเผชิญสิ่งท้าทายรูปแบบใหม่ นั่นคือจระเข้กับฮิปโป

สตีฟ บอยส์ หัวหน้าโครงการ (ขวา) นั่งพักกับนีล กาลีนัส ผู้สร้างภาพยนตร์ของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ในบรรดา สิ่งท้าทายทั้งหมดที่บอยส์เผชิญในช่วงเวลากว่าสิบปีของงานวิทยาศาสตร์ภาคสนามที่มีเป้าหมายเพื่อพิทักษ์โอกาวางโก เช่น การเจรจาต่อรอง เรือที่พลิกคว่ำ และทุ่นระเบิด การถูกฝูงผึ้งหยาดน้ำโจมตีเป็นเพียงอีกเรื่องเท่านั้น

ความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดที่โครงการพื้นที่ธรรมชาติโอกาวางโกเผชิญ ไม่ใช่ลำพังแค่การทำความเข้าใจระบบอันซับซ้อนนี้ แต่ยังต้องโน้มน้าวทางการแองโกลาและชาวแองโกลา ให้ช่วยกันอนุรักษ์แม่น้ำคูอิโตและคูบังโกให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ นั่นคือไหลอย่างเสรีและสะอาดไม่มีมลพิษหรือการผันน้ำมากเกินไป ผ่านภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่ยังไม่เสียหายจากการทำไม้ การเผาถ่าน การเผาป่าเพื่อไล่ต้อนล่าสัตว์ การล่าและขายเนื้อสัตว์ป่า โครงการเกษตรต่างๆ ที่ต้องใช้ปุ๋ยปริมาณมาก การทำเหมือง หรือการใช้ประโยชน์เชิงทำลายอื่นๆ นี่คือภารกิจเร่งด่วนที่ไม่ใช่งานง่ายเลย

แม่น้ำโอกาวางโก
กิจกรรมประมงเพื่อยังชีพมีความสำคัญต่อชาวบ้านในลุ่มน้ำคูอิโตและคูบังโกมาช้านาน เมื่อมีอุปกรณ์จับปลาที่ดีขึ้น พวกเขาก็จับปลาได้มากขึ้น มีปลาให้รมควันและขนใส่จักรยานยนต์หรือเรือขุดไปยังตลาดในพื้นที่ได้มากขึ้น บอยส์และคนอื่นๆ กังวลว่า การจับปลาลักษณะนี้อาจไม่ยั่งยืน

ผู้มองโลกแง่ดีบางคนเสนอว่า ภูมิประเทศริมฝั่งแม่น้ำคูอิโตและคูบังโกเหมาะจะพัฒนาให้เป็นจุดหมายทางการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ที่ตั้งกระท่อมพักแรมระดับไฮเอนด์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมสัตว์ป่าที่ประชากรฟื้นคืนกลับมา พวกเขาเสนอให้รวมจุดท่องเที่ยวลักษณะนี้ไว้ในเส้นทางท่องเที่ยวท้องถิ่น ควบคู่กับค่ายพักแรมในโอกาวางโกซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่า อีกความหวังหนึ่งคือ รัฐบาลบอตสวานาและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่นั่นอาจเล็งเห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับดินแดนมหัศจรรย์ของตน กล่าวคือหากปราศจากแม่น้ำคูอิโตและคูบังโก ก็จะไม่มีดินดอนสามเหลี่ยมโอกาวางโก และดำเนินการอย่างมองการณ์ไกล ด้วยการเสนอข้อตกลงร่วมกันที่จะจ่ายเงินให้แองโกลาเป็นค่าจัดส่งน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจะเรียกว่าค่าไถ่น้ำ หรือ “พันธบัตรน้ำ” แบบที่บอยส์เสนอ ก็ฟังดูสมเหตุสมผล แต่ความสมเหตุสมผลและการมองการณ์ไกลอาจเป็นความคาดหวังที่ยากจะเกิด เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยปัญหาทรัพยากร ทว่าดินดอนสามเหลี่ยมโอกาวางโกนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดได้ยาก คู่ควรจะได้รับความห่วงกังวลจินตนาการ และการทุ่มเทความพยายามมากเป็นพิเศษ

ระหว่างนี้ การเปลี่ยนแปลงในแองโกลา ตามที่บอยส์บอกผม กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว “ถ้าเราเริ่มงานนี้ในอีกสามปีข้างหน้า คงไม่เหลืออะไรให้คุ้มครองแล้วครับ” อนาคตเคลื่อนมาดั่งแม่น้ำที่หลากไหลผ่านชีวิตผู้คน

แอ่งมักกาดิกกาดีเป็นทะเลเกลือราบเรียบที่หลงเหลือจากทะเลสาบยุคโบราณ ซึ่งครั้งหนึ่งอุดมไปด้วยสรรพชีวิต และปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของบอตสวานาตอนเหนือ จนการขยับของรอยเลื่อนเปลี่ยนทิศทางการไหล ของแม่น้ำที่เป็นต้นน้ำไป ปัจจุบัน ชนเผ่าคอยซันจะพานักท่องเที่ยวมาชมความเวิ้งว้างอันงดงาม และอนาคตที่อาจเกิดขึ้นกับดินดอนสามเหลี่ยมโอกาวางโกหากขาดน้ำ

 

อ่านเพิ่มเติม : 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติในแอฟริกาการล่าจะช่วยปกป้องสัตว์ป่าได้จริงหรือ

Recommend