ธรรมชาติบำบัด พลังบำบัดของธรรมชาติ

ธรรมชาติบำบัด พลังบำบัดของธรรมชาติ

ธรรมชาติบำบัด : ธรรมชาติส่งผลต่อร่างกายและสมองของเราอย่างไร

เมื่อเราพาตัวเข้าใกล้ธรรมชาติขึ้นอีกอีกนิด ไม่วาจะเป็นผืนป่าบริสุทธิ์ หรือต้นไม้ในสวนหลังบ้าน เรากำลังช่วยให้สมองที่ตึงเครียดได้ผ่อนคลาย

“เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าการดื่มด่ำกับทิวทัศน์ทางธรรมชาติอันตระการตาเป็นครั้งคราว…ส่งผลดีต่อสุขภาพและกำลังวังชาของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสุขภาพและกำลังของสติปัญญา” เฟรเดอริก ลอว์ โอล์มสเตด ภูมิสถาปนิก เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียปกป้องป่าในหุบเขาโยเซมิทีจากการโหมพัฒนาเมื่อปี 1865  ตลอดเวลาที่ผ่านมา การศึกษามากมายที่ชี้ชัดว่าคำพูดของโอล์มสนั้น เป็นจริง

  • เดวิด เสตรเยอร์ นักจิตวิทยากลุ่มการรู้คิด มหาวิทยาลัยยูทาห์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสนใจของมนุษย์เป็นพิเศษ และเป็นนักท่องไพร ไม่คุยโทรศัพท์หรือส่งข้อความขณะขับรถเพราะเขารู้ว่าสมองมีแนวโน้มจะทำผิดพลาดเมื่อทำหลายอย่างพร้อมกัน  เขาวิจับพบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือทำให้คนส่วนใหญ่ขับรถแย่ลงไม่ต่างจากการดื่มแอลกอฮอล์  เขารู้ว่าชีวิตสมัยใหม่ส่งผลกระทบกับผู้คนอย่างไร และรู้ด้วยว่ายาถอนพิษที่ได้ผลชะงัดคือ “ธรรมชาติ”
  • สมองมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรกลหนัก 1.4 กิโลกรัมที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  สมองเหนื่อยง่ายมาก  เมื่อคนเราใช้ชีวิตช้าลง  วางมือจากงานอันยุ่งเหยิงและดื่มด่ำกับธรรมชาติงดงามรอบตัว ไม่เพียงแต่ร่างกายที่ฟื้นตัว แต่สมองก็สดชื่นด้วย  เสตรเยอร์พบว่านักศึกษาที่ออกตั้งแคมป์ท่องป่านานสามวัน แก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ได้ดีขึ้นร้อยละ 50  สามวันในป่าจึงเป็นการทำความสะอาดสมองลักษณะหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่กับธรรมชาตินานพอ  “ในวันที่สาม ประสาทสัมผัสของผมปรับตัวดีขึ้น ผมได้ยินเสียงและได้กลิ่นที่ไม่เคยสัมผัสได้มาก่อน  ผมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมากขึ้น”

    ในอุทยานแห่งชาติบูคันซันซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่านกลางเมืองของกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้และศูนย์กลางชีวิตทันสมัยอันตึงเครียด ฮงซุงอวิน พนักงานขาย ล้มตัวลงนอนพักหลังเดินป่า อุทยานแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละประมาณห้าล้านคน
  • ปัญหาสาธารณสุขระดับมหัพภาค เช่น โรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า และสายตาสั้นที่เป็นกันอย่างแพร่หลายล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการใช้เวลาในร่มอย่างชัดเจน ผลักดันให้สเตรเยอร์และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆกลับมาให้ความสนใจกันอีกครั้งว่า ธรรมชาติส่งผลต่อร่างกายและสมองของเราอย่างไร ความก้าวหน้าทางประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาทำให้พวกเขาเริ่มตรวจวัดสิ่งที่เคยเป็นปริศนามืดมนได้ และผลการตรวจวัดสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ฮอร์โมนเครียด อัตราการเต้นของหัวใจ คลื่นสมอง ไปจนถึงเครื่องหมายโปรตีน ก็บ่งชี้ว่า ยามที่เราใช้เวลาอยู่ในพื้นที่สีเขียว “มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในตัวเรา” ตามที่สเตรเยอร์อธิบายไว้

    ในสิงคโปร์ซึ่งหมายจะเป็น “นครกลางสวน” สีเขียวของหมู่ไม้ที่หลั่นลดเป็นช่อชั้นลงมาจากโรงแรมหรูแห่งหนึ่งสร้างความผ่อนคลายให้แขกผู้แหวกว่ายอยู่ในสระว่ายน้ำและผู้คนบนท้องถนนเบื้องล่าง “ป่าคอนกรีตทำลายจิตวิญญาณมนุษย์” ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้
  • ไม่นานมานี้ นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกซิเตอร์ สหราชอาณาจักร วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพวะของชาวเมือง 10,000 คน และใช้แผนที่ความละเอียดสูงบันทึกที่อยู่ของผู้ให้ข้อมูลในช่วงเวลากว่า 18 ปี พบว่า ผู้อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวมากกว่ามีความทุกข์ทรมานทางจิตใจน้อยกว่า  แม้จะตัดตัวแปรเรื่องรายได้ การศึกษา และการจ้างงาน (ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพ) ออกแล้วก็ตาม
  • ปี 2009 ทีมนักวิจัยชาวดัตช์พบว่า ผู้อาศัยอยู่ในรัศมีหนึ่งกิโลเมตรรอบพื้นที่สีเขียวมีอัตราการเกิดโรค 15 โรคต่ำลง เช่น ภาวะซึมเศร้า อาการวิตกกังวล โรคหัวใจ เบาหวาน หืด และไมเกรน
  • ทีมนักวิจัยนานาชาติสำรวจสุขภาพของชาวโทรอนโตกว่า 31,000 คน พบว่า ผู้อาศัยในบริเวณที่มีต้นไม้มากกว่า มีอัตราการเต้นของหัวใจและระบบย่อยอาหารดีพอๆ กับผู้มีรายได้สูงกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ และอัตราการเสียชีวิตและปริมาณฮอร์โมนเครียดในระบบไหลเวียนโลหิตที่ต่ำลงก็สัมพันธ์กับการอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวเช่นกัน
  • ริชาร์ด มิตเชลล์ นักวิทยาการระบาดจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สกอตแลนด์ พบว่าผู้อาศัยใกล้สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวอื่นๆ มีอัตราการเสียชีวิตและเจ็บไข้ได้ป่วยต่ำกว่า แม้จะไม่เคยเข้าไปใช้พื้นที่เหล่านั้นเลย

    ธรรมชาติเสมือนช่วยบำบัดได้ มาทิลดา ฟัน เดน บอช นักวิจัยชาวสวีเดนทำให้อาสาสมัครเครียดโดยให้ทำข้อมสอบคณิตศาสตร์และจำลองการสัมภาษณ์งาน แต่เมื่อให้นั่งพักในห้องซึ่งจำลองสภาพให้เหมือนป่าที่มีเสียงนกร้อง ไม่นานอัตราการเต้นของหัวใจอาสาสมัครก็คืนสู่ภาวะปกติ
  • แพทย์หญิงมาทิลดา ฟัน เดน บอช พบว่าหลังการคำนวณทางคณิตศาสตร์อันเคร่งเครียด คนที่ได้นักพังอู่ท่ามกลางฉากธรรมชาติและเสียงนกร้อง ในห้องจำลองเสมือจริงสามมิติเป็นเวลา 15 นาที ความหลากหลายในอัตราการเต้นของหัวใจซึ่งลดต่ำลงเพราะความเครียด กลับมาเป็นปกติได้เร็วกว่า คนที่นั่งพักในห้องโล่งๆ
  • ที่ทัณฑสถานสเนกริเวอร์ ทางตะวันออกของรัฐออริกอน นักโทษขังเดี่ยวมีพฤติกรรมสงบขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกายวันละ 40 นาที สัปดาห์ละหลายวันในห้องสีฟ้าที่เปิดวิดีทัศน์ธรรมชาติไว้ เมื่อเทียบกับนักโทษในห้องออกกำลังกายซึ่งไม่มีวิดีทัศน์

    ใน “โรงเรียนอนุบาลป่า” ที่ลังเนาอัมอัลบิส ชานเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เด็กๆใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันเรียนในป่า ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรก็ตาม พวกเขาหัดผิวปาก ก่อไฟ และสร้างที่เล่นซ่อนแอบ พวกเขารู้จักสำรวจสิ่งต่างๆ ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้บอกว่า โรงเรียนลักษณะนี้ช่วยบ่มเพาะความมั่นใจในตนเองและจิตวิญญาณเสรีให้เด็กๆ
  • การเดินป่า 15 นาที ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาอย่างเห็นได้ชัด  ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นที่นำโดย โยชิฟุมิ มิยะซะกิ มหาวิทยาลัยชิบะ ส่งอาสาสมัคร 84 คนไปเดินเล่นในป่าเจ็ดแห่ง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจำนวนเท่ากัน เดินอยู่ตามย่านกลางใจเมือง ปรากฏว่ากลุ่มที่เข้าป่ามีฮอร์โมนเครียดหรือคอร์ติซอลลดลงร้อยละ 16  ความดันโลหิตลดลงร้อยละ 2 และอัตราการเต้นของหัวใจลดลงร้อยละ 4
  • มิยะซะกิเชื่อว่าร่างกายมนุษย์ผ่อนคลายเมื่ออยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันรื่นรมย์ เพราะเรามีวิวัฒนาการขึ้นมาในธรรมชาติ เขาบอกว่าประสาทสัมผัสของเราผ่านการปรับตัวมาเพื่อตีความข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้และสายน้ำ ไม่ใช่การจราจรหรือตึกระฟ้า
  • แพทย์หญิงนูชิน ราซานี แห่งโรงพยาบาลเด็กเบนีออฟฟ์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแซนแฟรนซิสโก ฝึกกุมารแพทย์ประจำคิลนิกผู้ป่วยนอกให้เขียนใบสั่งยาให้ผู้ป่วยเด็กและครอบครัวไปเยือนพื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน
  • ศาสตราจารย์ลีซา ตือร์ไวเนน และทีมงานจากสถาบันทรัพยการธรรมชาติของฟินแลนด์ แนะนำให้ประชาชนออกไปสัมผัสธรรมชาติเดือนละห้าชั่วโมง โดยแบ่งเป็นการเยือนชั่วระยะสั้นๆ สัปดาห์ละหลายครั้งเพื่อขจัดความหดหู่

    เมื่อฤดูหนาวอันเทาทึมห่มคลุมสวีเดน การว่ายน้ำในช่องน้ำแข็งเป็นการปลดปล่อยชั้นดีสำหรับคนใจถึง โจชัวและเซซีเลียเพลิดเพลินกับการแช่น้ำเป็นเวลาสั้นๆ ในทะเลสาบแคลล์ทอร์ปสเยินใกล้กรุงสตอกโอล์มในเดือนกุมภาพันธุ์ “นี่คือวิธีใกล้ชิดธรรมชาติยามสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยครับ” โจชัวบอก
  • ธรรมชาติยังอาจทำให้เรามีน้ำจิตน้ำใจกับตัวเองมากขึ้นด้วย  เกรก แบรตแมน นักวิจัยจากสแตนฟอร์ด กับทีมงานสแกนสมองอาสาสมัคร 38 คนก่อนและหลังการเดินเป็นเวลา 90 นาที ทั้งในสวนขนาดใหญ่และถนนอันจอแจ ใจกลางเมืองแพโลแอลโต  ในกลุ่มที่เดินท่องธรรมชาติพบว่า กิจกรรมทางไฟฟ้าลดลงบริเวณสมองกลีบหน้าผากส่วนหน้า ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับการคิดวกวนจนเกิดอาการซึมเศร้า  แต่กิจกรรมทางไฟฟ้าดังกล่าวไม่ลดลงในกลุ่มที่เดินกลางเมือง
  • จากคำบอกเล่าของอาสาสมัครเองพบว่า ผู้เดินท่องธรรมชาติจะคิดโทษตัวเองน้อยลง  แบรตแมนเชื่อว่า การใช้ชีวิตกลางแจ้งในสภาพแวดล้อมน่ารื่นรมย์ช่วยให้เราเลิกย้ำคิดกับปัญหา  เขาบอกว่า ธรรมชาติอาจส่งอิทธิพลต่อ “วิธีจัดการความสนใจและการเลือกว่าจะสนใจอารมณ์เชิงลบของตัวเองหรือไม่อย่างไร”
  • สตีเวน แคปแลน และทีมนักวิจัยพบว่า การเดิน 50 นาทีในสวนรุกขชาติช่วยพัฒนาทักษาะความสนใจในระดับสูง เช่น ความจำระยะสั้น  ขณะที่การเดินริมถนนในเมืองไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าว “ลองนึกภาพการบำบัดที่ไม่มีผลข้างเคียง ทำได้ทันที และยังพัฒนากระบวนการคิดของเราได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายดูสิครับ…การบำบัดเช่นนั้นมีอยู่จริง เรียกว่า ‘การมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ'”

เรื่อง ฟลอเรนซ์ วิลเลียมส์
ภาพถ่าย ลูคัส ฟอเกลีย

เรียบเรียงจากเรื่อง “พลังเยียวยาของธรรมชาติ” เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2559

อ่านเพิ่มเติม

มารู้จักกับเสือดำ, ไก่ฟ้าหลังเทา และเก้ง เหยื่อของการล่า

Recommend