ยอดเขาคากาโบราซี ขุนเขาสูงเสียดฟ้าแห่งอุษาคเนย์

ยอดเขาคากาโบราซี ขุนเขาสูงเสียดฟ้าแห่งอุษาคเนย์

เมื่อเส้นทางถูกกีดขวางด้วยหมู่แท่งหินปลายแหลม มาร์กหันหลังกลับลงมาจากสันเขาซึ่งเป็นเส้นทางนำไปสู่ยอดห่มหิมะของ ยอดเขาคากาโบราซี หากจะไปต่อ คณะนักปีนเขาต้องค้างแรมโดยไม่มีอาหาร เต็นท์ หรือถุงนอน “เราคงสูญเสียนิ้วมือนิ้วเท้ากันแน่ๆ ถ้าไม่ถึงกับเอาชีวิตไปทิ้ง” คอรีกล่าว


ยอดเขาคากาโบราซี ขุนเขาสูงเสียดฟ้าแห่งอุษาคเนย์

“เราไปผจญภัยกันแบบรุ่นเก๋ากันเถอะ” ฮิลารีเอ่ยขึ้น “ไปสำรวจที่ไหนสักแห่งที่รกร้างห่างไกลและไม่มีใครรู้จัก” ตอนนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิปี 2012  และเราอยู่ระหว่างปีนลงจากเมานต์เอเวอเรสต์  ฮิลารีเป็นผู้หญิงแกร่งที่สุดที่ผมเคยเจอ หลังพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ เธอก็ไปปีนเขาโลตเซที่อยู่ติดกัน ทั้งๆ ที่เอ็นยึดข้อเท้าข้างหนึ่งยังฉีกขาดอยู่สองจุด

เรามีอะไรเหมือนกันหลายอย่าง เราทั้งคู่รักภูเขามาตั้งแต่เด็กๆ  แต่งงานมีลูกแล้วสองคนเหมือนกัน และต่างพยายามหาทางจัดการชีวิตครอบครัวกับการปีนเขาให้สมดุลลงตัว  เราเสื่อมศรัทธาในความเป็นธุรกิจและคลื่นมนุษย์บนเอเวอเรสต์ และอยากหวนคืนสู่สิ่งที่ดึงดูดให้เราเป็นนักปีนเขาตั้งแต่แรก

ยอดเขาคากาโบราซี
สายลมหนาวเหน็บถึงกระดูกพัดเชือกลอยสะบัด ขณะคอรี ริชาร์ดส์ไต่ขึ้นสันเขาโล่งกว้างระหว่างพยายามพิชิตยอดเขาคากาโบราซีที่ว่ากันว่าเป็นยอดเขาสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่การเสาะหาสถานที่อันรกร้างห่างไกลอย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย  เครื่องบินพาเราไปได้ถึงขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้  คุณสามารถขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่เบสแคมป์ของเอเวอเรสต์  ลงเรือท่องเที่ยวล่องแม่น้ำไนล์หรือ แอมะซอนก็ยังได้  สถานที่ที่ตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างแท้จริง  เป็นที่ที่ต้องใช้เวลาเดินเท้าหลายวันหรือกระทั่งหลายอาทิตย์เพียงเพื่อไปถึงนั้น แทบสูญสิ้นไปจากโลกแล้ว

กระนั้น ผมก็ยังรู้จักอยู่ที่หนึ่ง แต่ความที่เคยมีความหลังกับภูเขาลูกนี้  ผมจึงลังเลที่จะพูดอะไรออกไป แต่ท้ายที่สุด หลังเสนอความคิดกันไปมา  ความปรารถนาอันแรงกล้าของผมก็มีชัยเหนือความลังเล “นี่ไหมละ” ผมอึกอัก “ยอดเขาคากาโบราซี”

ยอดเขาคากาโบราซี
สะพานทอดข้ามแม่น้ำตะไมที่อยู่ระหว่างทางไปสู่ตีนเขา คณะนักปีนเขาใช้เวลาหลายอาทิตย์รอนแรมฝ่าป่าดิบชื้น รกชัฏ คอยหลบเลี่ยงงูพิษ และต่อสู้กับความกลัวขณะเดินไปตามเส้นทางเดินป่าที่ดูราวกับอุโมงค์มืดทึบยาวไกล

คากาโบราซี (Hkakabo Razi) นั้นว่ากันว่าเป็นยอดเขาสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นเทือกเขาหินสีดำสลับธารน้ำแข็งขาวโพลนที่ทะยานขึ้นจากป่าดงดิบเขียวขจีและร้อนชื้นทางภาคเหนือของเมียนมาร์  คากาโบราซีตั้งอยู่ติดกับแนวขอบเทือกเขาหิมาลัยฝั่งตะวันออกบนพรมแดนติดกับทิเบต  และได้รับการบันทึกความสูงเป็นครั้งแรกในรายงานการสำรวจของอังกฤษที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1925 ว่ามีความสูง 5,881 เมตร  ยอดเขาแห่งนี้นับว่ารกร้างห่างไกลเสียจนมีนักปีนเขาเพียงไม่กี่คนที่เคยได้ยินชื่อแม้กระทั่งในปัจจุบัน  การเดินทางไปยังภูเขาลูกนี้ต้องเดินเท้าสองอาทิตย์ผ่านป่าดิบที่คั่นด้วยโกรกธารลึกล้น  และเป็นแหล่งอาศัยของงูพิษสารพัดชนิด  ฮิลารีสนใจทันที เราวางแผนการสำรวจตั้งแต่ก่อนออกจากกาฐมาณฑุเสียด้วยซ้ำ

ลำพังแค่ฝ่าฟันไปให้ถึงเชิงเขาคากาโบราซีก็ต้องใช้เวลาหนึ่งเดือนแล้ว  สิ่งที่ฮิลารีกับผมโหยหาตอนอยู่บนลาดเขาของเอเวอเรสต์  ความรกร้างห่างไกลนั่นเองที่กลับกลายเป็นอุปสรรคคุกคามการสำรวจของเราตั้งแต่เริ่มต้น

ยอดเขาคากาโบราซี
ลูกหาบก้าวเดินอย่างระมัดระวังขณะลัดเลาะไปตามทางเดินแคบๆ ที่ตัดขึ้นจากการเซาะผนังหุบเขาลึกเข้าไป “ก้าวพลาดก้าวเดียวคุณก็เป็นผีเลยครับ” มาร์กผู้พยายามพิชิตยอดเขาคากาโบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1993 บอก

อันดับแรก  เราต้องเดินทางรอนแรมข้ามครึ่งค่อนประเทศเมียนมาร์ จากกรุงย่างกุ้งเรานั่งรถโดยสารข้ามคืนไปยังพุกาม จากนั้นก็ล่องเรือขึ้นไปตามแม่น้ำอิรวดีสู่มัณฑะเลย์  เพื่อต่อรถไฟที่โยกคลอนและกระเด้งกระดอนราวกับพร้อมจะตกรางได้ตลอดเวลา  ที่เมืองมิตจีนาเราขึ้นเครื่องบินลำเดียวกับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ขอเช็คอินปืนอาก้า กระบอกหนึ่งเป็นกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง  หลังไปถึงปูตาโอ เมืองทางเหนือสุดของรัฐคะฉิ่น เราเสียเวลาไปห้าวันอยู่ในฐานะเหมือน “ถูกจับกุม” ระหว่างที่ใบอนุญาตปีนเขาของพวกเราถูกตีกลับไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น  ท้ายที่สุดเราก็จัดข้าวของสัมภาระขึ้นคาราวานมอเตอร์ไซค์  แล้วเริ่มต้นการเดินทางที่ใช้เวลานานสามวัน ตะบึงข้ามลำธาร เร่งเครื่องล้อหมุนติ้วฝ่าโคลนตม จนกระทั่งเส้นทางสามารถไปต่อได้ด้วยการเดินเท้าเท่านั้น

จากนั้นการเดินป่า 243 กิโลเมตรไปยังตีนเขาคากาโบผ่านป่าดิบมืดครึ้มและชื้นแฉะก็เปิดฉากขึ้น เรือนยอดไม้ดกหนาทอแสงสีเขียวจางๆ ลงมา  เราเดินไปตามเส้นทางที่ดูเหมือนอุโมงค์นี้อยู่สองอาทิตย์เต็มๆ บ่อยครั้งที่เส้นทางลาดชันขึ้น หรือไม่ก็ดิ่งลงอย่างฉับพลัน เราผ่านหมู่บ้านโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่ง

ยอดเขาคากาโบราซี
มาร์ก เจนกินส์ (คนยืน) กับเรนัน ออซเติร์ก พักกินมื้อเที่ยงที่จุดซึ่งมองเห็นยอดห่มหิมะของคากาโบราซี (ซ้ายบน) พวกเขาหวังจะเป็นคนแรกๆที่ขึ้นไปวัดความสูงของยอดเขาแห่งนี้อย่างถูกต้องแม่นยำด้วยอุปกรณ์จีพีเอส

หลังจาก 39 วันของการลงเรือ ขึ้นรถไฟ เผชิญงูและทาก  หลังปีนป่ายอย่างยากเย็นขึ้นมาตามผาชันของสันเขาฝั่งตะวันตกของคากาโบ วันนี้เป็นวันปีนสู่ยอดเขา เราผลัดกันซดชาควันฉุยคนละอึกสองอึกจนหมดหม้อ จากนั้นก็คลานออกจากเต็นท์อย่างลังเลมาเผชิญกับลมกรรโชก ละอองหิมะลอยฟุ้งหมุนวนรอบตัวเรา ดวงอาทิตย์ดูเหมือน ลูกบอลเยียบเย็นลอยอยู่ไกลๆ  เราล็อกตะปูพื้นรองเท้าเข้ากับรองเท้าส่งเสียงดังคลิก ผูกโยงตัวกันไว้ด้วยเชือก แล้วก็เริ่มออกปีน  เท้ากับนิ้วเราชาดิก แต่การได้เคลื่อนไหวย่อมดีกว่านั่งสั่นอยู่ในเต็นท์ เลือดเราเริ่มสูบฉีด ความอบอุ่นค่อยๆ กลับคืนสู่ร่างกาย

เราไต่ข้ามยอดหินสูงใหญ่ยอดแรกไปด้วยกัน  ทั้งสองฟากฝั่งลึกลงไปมากกว่าหนึ่งกิโลเมตร  คือทะเลหมอก ถ้าเราคนใดคนหนึ่งเกิดลื่นตกจากสันเขา  วิธีเดียวที่จะช่วยชีวิตเขาไว้ได้ก็คือ คนปีนที่อยู่ถัดไปจะต้องรีบกระโดดพุ่งหลาวไปทางฟากตรงข้าม   โดยทั้งคู่ต้องภาวนาขอให้ในเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายนั้น เชือกที่ผูกโยงกันไว้จะไม่ตกไปพาดบนหินที่คมเหมือนใบมีดจนถูกตัดขาด  นี่คือความลึกล้ำของความไว้เนื้อเชื่อใจที่ต้องมีในการปีนเขา เป็นหนทางสู่การก้าวพ้นตนเองและร้อยรัดตัวคุณเข้ากับสหายร่วมปีนเขา  นี่คือเหตุผลที่เรามาปีนเขากัน

เรื่อง มาร์ก เจนกินส์

ภาพ คอรี ริชาร์ดส์

 

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องเล่าจากยอดเขายะเยือก

Recommend