ฉลามให้กำเนิดลูกโดยไม่ผ่านการผสมพันธุ์

ฉลามให้กำเนิดลูกโดยไม่ผ่านการผสมพันธุ์

เรื่อง เบกกี ลิตเติ้ล

เตรียมพบกับเรื่องราวที่จะทำให้คุณเซอร์ไพรส์ นักวิทยาศาตร์ได้เผยแพร่การค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ฉลามเพศเมียได้ให้กำเนิดลูกน้อยของมัน โดยไม่จำเป็นต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ มันคลอดทั้ง ๆ ที่ไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ ฉลามเสือเพศเมียชื่อ ลีโอนี (Leonie) ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำได้วางไข่และลูก ๆ ทั้งสามตัวของมันฟักออกจากไข่อย่างฉลามทั่วไป

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉลามเสือ (Stegostoma fasciatum) ออกไข่โดย “ไม่ผสมพันธุ์” แต่มันเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกพฤติกรรมนี้ไว้ได้

ลีโอนีตกลูกครอกก่อนหน้านี้ในปี 2012 โดยการผสมพันธุ์กับฉลามหนุ่มในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำรีฟเอชคิว เมืองทาวนส์ฮิลล์ รัฐควีนส์แลนด์ และหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จับลีโอนีแยกมาอยู่ในบ่อที่เธอไม่มีโอกาสเจอตัวผู้อีกเลย

ในบ่อใหม่ ลีโอนียังคงวางไข่ของเธอต่อไป อย่างเช่นที่แม่ไก่ทำ แต่เราไม่รู้ว่าไข่เหล่านั้นได้รับการปฏิสนธิหรือไม่ สามปีหลังแยกจากตัวผู้ เธอได้สร้างความประหลาดใจแก่นักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแล ไข่บางฟองที่เกิดจากเธอฟักออกมาเป็นตัว

นับเป็นครั้งแรกที่เราสังเกตุพฤติกรรมนี้ได้ในปลาฉลาม แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศไปเป็นแบบพาร์ธีโนเจเนซิส (การสืบพันธุ์ที่ตัวอ่อนเจริญโดยไข่ไม่ได้รับการผสมกับสเปิร์ม) พบมาก่อนหน้านี้ในปลากระเบนลายจุดและงูสายรุ้งกัมพูชา

การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศลักษณะนี้ มีการสำรวจพบในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอีกหลายชนิดซึ่งมักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นในภาวะปกติ นักวิทยาศาสตร์ในสวนสัตว์หลุยส์วิลล์ประหลาดใจมากที่งูเหลือมในการดูแลออกไข่โดยไม่ได้รับการผสมพันธุ์ พวกเขาตั้งข้อสังเกตุว่า อาจเกิดจากการที่พวกมันเก็บสเปิร์มของงูตัวผู้ไว้ในตัว

ในกรณีงูเหลือมที่หลุยส์วิลล์ ลูกของมันไม่ได้เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับสเปิร์มแน่นอน เพราะว่างูเหลือมสาวตัวนี้ไม่เคยได้ต้องกายงูเหลือมหนุ่มตัวใดเลย แต่ลีโอนีเคย และเมื่อตอนที่เธอให้กำเนิดลูกออกมา นักวิทยศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำควีนส์แลนด์กล่าวหาว่า เธอเก็บสเปิร์มของตัวผู้ไว้ หลังจากการทดสอบทางพันธุกรรมร่วมแรมปีแสดงให้เห็นว่า ลูก ๆ ของเธอไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ข้อสรุปจึงออกมาในทำนองลูกของเธอเกิดจากแม่โดยปราศจากพ่อ

 

ความอยู่รอดของสายพันธุ์

นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบแน่ชัดว่า เพราะเหตุใดสัตว์อย่างปลาฉลาม งู และสัตว์อื่น ๆ ที่ปกติมักจะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ หันไปใช้วิธีการตั้งท้องโดยไม่ปฏิสนธิ เควิน เฟลด์ฮีม นักวิจัยผู้ตีมพิมพ์บทความลงในวารสาร Journal of Heredity เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ในปลาฉลาม กล่าวว่า พวกมันอาจตอบสนองต่อภาวะที่หาคู่ผสมพันธุ์ไม่ได้

“เราคิดว่ามันเกิดขึ้นเพราะตัวเมียถูกแยกจากตัวผู้ครับ” เขาบอก

แต่ผลของการสืบพันธุ์แบบนี้ทำให้ลูกที่เกิดมาทุกตัวเป็นหมัน “นั่นเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจครับ” เขากล่าว “การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ปลาฉลามที่เติบโตมาโดยที่ไข่ไม่ผสมกับเสปิร์ม มักจะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเหมือนแม่ของมัน”

การให้กำเนิดตัวอ่อนที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีนัก แต่ฟีลด์ฮีมคิดว่า มันคงเป็นวิธีสุดท้ายที่ตัวเมียพยายามจะผลิตลูกหลาน

“ถ้าตัวเมียรวมฝูงกันแล้วไม่มีตัวผู้ผ่านมาผสมพันธุ์กับพวกมันเลย หรือในบางครั้งตัวผู้ก็หายากเหลือเกิน วิธีพาร์ธีโนเจเนซิสคงเป็นวิธีหนึ่งที่พวกมันสามารถส่งผ่านยีนไปยังรุ่นต่อไปได้” เขายกตัวอย่าง

แม้ว่าปัจจุบัน บรรดานักวิทยาศาสตร์จะไม่ทราบว่าสัตว์เหล่านี้ใช้วิธีพาร์ธีโนเจเนซิสแทนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศหรือไม่ แต่ฟีลด์ฮีมยืนยันว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ดังนั้น พวกเราก็ยังสามารถหายใจกันได้อย่างปกติ

Recommend