มหานทีแห่งเอเชียอาคเนย์จะอยู่รอดหรือไม่ (ตอนที่ 1)

มหานทีแห่งเอเชียอาคเนย์จะอยู่รอดหรือไม่ (ตอนที่ 1)

เรื่อง สตีเฟน โลฟเกร็น

พนมเปญ ประเทศกัมพูชา – เซบ โฮแกน หวนรำลึกถึงช่วงเวลาที่เขารู้สึกประหลาดใจที่ได้มาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกในฐานะนักมีนวิทยา และได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมเคียงกับแม่น้ำโขง ชายหนุ่มผู้เติบโตในทะเลทายแอริโซนา สถานที่ซึ่งแม่น้ำมักจะเหือดแห้ง มันเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็กจบใหม่อย่างเขาที่ได้มาเยือนแม่น้ำที่มีผลผลิตมากที่สุดในโลก

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่ดูสดใสและมีชีวิตชีวามากครับ” โฮแกนกล่าว “เหมือนผมกำลังมองดูโลกผ่านมุมมองใหม่ ความแตกต่างจากแอริโซนาอย่างสิ้นเชิง”

แม้ว่าโครงการแลกเปลี่ยนของเขาจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่โฮแกนยังกลับมาเยี่ยมเยียนนทีสายนี้อยู่เนืองๆ เมื่อปีที่ผ่านมา เขาใช้เวลาอยู่ในภูมิภาคนี้หลายครั้งหลายครา กลมกลืนตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมทั้งไทยและกัมพูชา สองประเทศที่เป็นทางผ่านของแม่น้ำโขง ความสนใจเรื่องการอพยพของปลา ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาบึก ซึ่งนับว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ ปลาบึกขนาดที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบมีน้ำหนักตัวถึง 293 กิโลกรัม

ปัจจุบัน ล่วงผ่านไปสองทศวรรษ โฮแกนเป็นพันธมิตรกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และเจ้าของรายการ Monster Fish บนช่อง Nat Geo Wild ซึ่งเกิดจากโครงการวิจัยตลอดเวลาห้าปี และได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก USAID ในคณะวิจัยประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อร่วมกันป้องกันระบบนิเวศวิทยาอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

โครงการวิจัยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 60 ล้านคน กำลังเปลี่ยนไปจากหลายสาเหตุทั้งการสร้างเขื่อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียถิ่นอาศัย อันเป็นผลพวงมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายทางการเมืองในภูมิภาคอันรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แห่งนี้

“ในความคิดของผม แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่สำคัญที่สุดในโลก” โฮแกนบอกขณะที่โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในเมืองพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา

“แต่ปัจจุบัน แม่น้ำโขงอยู่ในจุดที่ต้องเลือกว่าจะไปในทิศทางใด หลังจากนี้ 10 ปีหรือ 15 ปี จุดเปลี่ยนของวันนี้จะเป็นตัวกำหนดความคงอยู่หรือจุดจบของชีวิตไปตลอดกาล”

นาคราชแห่งอุษาคเนย์

แม่น้ำโขงมีจุดกำเนิดจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ในประเทศจีน นอกจากแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเหลืองแล้ว แม่น้ำโขงได้รับการขนานนามว่า หลานชัง และมีชื่อว่า แม่โขง เมื่อไหลผ่านประเทศลาวและเมียนมาร์

แม่น้ำโขงไหลผ่านภาพภูมิทัศน์อันน่าตื่นใจมากมายทั้งป่าเขาบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ แหล่งที่เคยชื่อเสียงเรื่องการปลูกฝิ่น ระยะทางกว่าร้อยไมล์ แม่น้ำสายนี้ไดสร้างพรมแดนระหว่างไทยและลาว ถัดลงมาทางใต้ สายน้ำขยายตัวเป็นช่วงกว้างที่สุด กระแสน้ำไหลกระทบเกาะแก่งกลางแม่น้ำ กลายเป็นกระแสที่หมุนวนและเชี่ยวกราด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ คอนผีหลง “ลองนึกถึงความกว้างดูสิครับ ขนาดผียังหลงเลย” ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำช่วงที่ผ่านดินแดนแห่งนี้ ได้ก่อกำเนิดเกาะเล็กเกาะน้อยกลางแม่น้ำกว่า 4,000 เกาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของวัดและศาลศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงน้ำตกที่มีความกว้างที่สุดในโลก (น้ำตกคอนพะเพ็ง) ก่อนจะไหลเข้าสู่ประเทศกัมพูชา

ที่นั่นแม่น้ำได้ก่อร่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นแหล่งกำบังของปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่จะไหลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรเป็นดั่งตัวขับเคลื่อนผลผลิตของภูมิภาค แม่น้ำสาขาต่างไหลรวมลงมาที่แม่น้ำโขงและยังเชื่อมต่อกับโตเลสาป ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “เปรียบดังหัวใจหล่อเลี้ยงกัมพูชา” จากนั้นเมื่อไหลเข้าสู่เวียดนาม มหาชลธารนี้ได้หล่อเลี้ยงไร่นาต่างๆ ก่อนจะแตกสายออกเป็นเก้าสาขาแม่น้ำ หรือ “เก้ามังกร” และท้ายที่สุดก็ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้

“แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาต่างๆ ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างภูมิประเทศที่ไหลผ่าน ไม่ว่าจะฤดูแล้งหรือน้ำหลาก” สุทีป จันทรา ผู้อำนวยการแห่ง Global Water Center มหาวิทยาลัยเนวาดา กล่าวและเสริมว่า “โครงข่ายของแม่น้ำสายนี้ไม่เหมือนกับที่อื่นในโลก ดังหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นคือ ผลผลิตของปลาน้ำจืดและความหลากหลายทางชีวภาพที่แม่นำสายนี้มอบให้ทุกปี”

Recommend