หากสอง เกาหลี เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ รวมกันอีกครั้ง

หากสอง เกาหลี เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ รวมกันอีกครั้ง

หากสอง เกาหลี เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ รวมกันอีกครั้ง

ดูเหมือนขอบฟ้าแห่งสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะเริ่มเรืองรองขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการคาดการณ์จากประชาคมโลกว่า การประชุมสุดยอดระหว่างสองผู้นำเกาหลีในครั้งนี้อาจนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้งที่ยึดเยื้อยาวนานเกือบ 70 ปี

การประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อ 09.30 น. ของวันที่ 27 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น ณ อาคารสันติภาพ (Peace House) ในหมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ หรือเรียกได้ว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างสองเกาหลีที่เดินสายพัฒนาประเทศไปในรูปแบบที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง หลังห้ำหั่นทำสงครามต่อสู้กันนานสามปี ระหว่างปี 1950 – 1953 ก่อนจะร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิง และนำมาสู่การก่อตั้งเขตปลอดทหารระหว่างพรมแดนตามมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมรดกสุดท้ายจากยุคสงครามเย็นที่เรายังคงเห็นผลกระทบได้ในปัจจุบัน เมื่อประเทศหนึ่งต้องถูกฉีกแบ่งออกเป็นสอง

เกาหลีเหนือ
คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีใต้จับมือกับประธานาธิบดีมุน แจอินก่อนเริ่มการประชุมหารือ ซึ่งนับเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 ของสองเกาหลี ตลอดความขัดแย้งยาวนานกว่า 70 ปี
ภาพถ่ายโดย China Xinhua News

ในอดีตผู้นำทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เคยพบปะกันอย่างเป็นทางการมาแล้วสองครั้ง และการหารือครั้งล่าสุดนี้นับเป็นการหารือครั้งที่สาม และเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ของสองเกาหลี โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2000 ในสมัยที่คิม แดจุง เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ทั้งสองประเทศลงนามปฏิญญาร่วมกันว่าจะเคารพความแตกต่างในการปกครองของกันและกัน, พัฒนาความร่วมมือด้านประวัติศาสตร์ การศึกษา เทคโนโลยี และสังคม รวมไปถึงผลักดันโครงการให้บรรดาญาติพี่น้องที่พลัดพรากจากการแบ่งประเทศได้กลับมาพบกัน ต่อมาในปี 2007 การประชุมเกิดขึ้นอีกครั้ง โน มู-ฮย็อน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้พบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อิล ผู้เป็นพ่อของผู้นำคนปัจจุบันและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อหารือแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแกซอง ในฝั่งเกาหลีเหนือ

 

ความเห็นจากประชาชน

ช่วงเวลาที่แยกจากกันนานเกือบเท่าหนึ่งชั่วอายุคนได้หล่อหลอมให้ประชาชนจากทั้งสองเกาหลีแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ABC News รายงานผลสำรวจชาวเกาหลีใต้ พบว่าทั้งสองช่วงวัยมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนต่อสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

ในกลุ่มผู้มีอายุอย่าง Yong-cheol Jun นั้น ความหวังก่อนตายของเขา คือการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดในเกาหลีเหนือ เนื่องจากสงครามเกาหลีทำให้เขาต้องพลัดพรากจากแม่และน้องชายอีกสองคน ซึ่งไม่ทราบข่าวคราวอีกเลยจนวันนี้ “ผมเศร้าและรู้สึกผิดครับที่ทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง เมื่อใดที่ร้องเพลงก็จะคิดถึงแม่ขึ้นมา และจะรู้สึกเจ็บปวดมาก” เขากล่าว ประมาณการว่าจำนวนครอบครัวที่ต้องพลัดพรากจากกันมีมากถึง 60,000 ครอบครัว และเกือบทั้งหมดคาดหวังให้ทั้งสองประเทศกลับมารวมกันอีกครั้ง “ถ้ามีการแลกเปลี่ยนระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ การรวมประเทศก็เป็นไปได้แน่นอนครับ”

เกาหลีเหนือ
ความหวังสุดท้ายก่อนตายของ Young-cheol Jun (ภาพซ้าย) คือการได้กลับไปยังเกาหลีเหนือบ้านเกิด และ Hyunsook Kim (คนขวา) ได้พบหน้าลูกสาวของเธอเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ของการแบ่งประเทศ
ภาพถ่ายโดย Brant Cumming, ABC News

Hyun-sook Kim วัย 91 ปี โชคดีกว่าตรงที่เธอมีโอกาสได้พบกับลูกสาวอีกครั้งในโครงการเพื่อครอบครัวที่พลัดพราก ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเปียงยาง เมื่อปี 2015 “ฉันไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกยังไง ฉันอยากเจอเธออีกครั้ง และมีทางเดียวที่ระบายความคิดถึงออกได้คือการร้องไห้ ลูกสาวของฉันต้องเติบโตโดยปราศจากแม่ ชีวิตคงลำบากมาก”

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว พวกเขาคิดว่าความแตกต่างระหว่างสองประเทศ ห่างไกลเกินกว่าที่จะรวมกันได้ Tae-wan Kim นักศึกษามหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ให้ความเห็นว่า เขาไม่ต้องการให้เกาหลีใต้ทุ่มเงินเป็นล้านล้านดอลลาร์ไปกับการรวมเกาหลี “คนรุ่นผมคิดกันว่า ทำไมเราต้องเสียเงินมากมายไปกับการรวมประเทศด้วย มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา แทนที่จะเอาไปพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น” เช่นเดียวกับ Kyeyu Kwak นักศึกษาเกาหลีใต้เห็นด้วยว่า หากการรวมประเทศเกิดขึ้นจริง การไหลบ่าของชาวเกาหลีเหนือที่เข้ามาในประเทศอาจกระทบต่อการหางานไปจนถึงสถานศึกษาของชาวเกาหลีใต้ “คนรุ่นเราไม่ได้คิดมากเกี่ยวกับเกาหลีเหนือเช่นสื่อหรอกค่ะ” เธอกล่าว “เราอาจจะไม่ต้องการรวมประเทศ แต่ใช่ว่าเราจะสร้างสันติภาพร่วมกันไม่ได้”

เกาหลีเหนือ
Tae-wan Kim (ภาพซ้าย)ไม่ต้องการให้เกาหลีใต้สูญเงินปริมาณหลายล้านดอลล่าร์ไปกับการรวมประเทศ ส่วน Kyeyu Kwak (ภาพขวา) เชื่อว่าทั้งสองเกาหลีขณะนี้ไม่มีสิงใดที่เหมือนกันอีกแล้ว
ภาพถ่ายโดย Brant Cumming, ABC News

 

Recommend