พระผู้เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ

พระผู้เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ

เรื่อง ศิริโชค เลิศยะโส

ภาพถ่าย ไกรพิทย์ พันธุ์วุฒิ

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” 

นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นับจนถึงพุทธศักราช 2549 ในปัจจุบัน รวมระยะเวลา 60 ปีพอดีตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมาย ด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่ง พระราชวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาสามารถของพระองค์เอง ทรงนำพาประเทศชาติผ่านวิกฤติและอุปสรรคนานัปการไปได้อย่างสง่างามและน่าภูมิใจยิ่ง นับเป็นบุญของชาวไทยที่ได้มีพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณดั่งนี้

“ถ้าประชาชนไม่ละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งประชาชนได้อย่างไร” นี่คือถ้อยคำที่พระองค์ตรัสตอบในพระราชหฤทัย เมื่อทรงได้ยินเสียงตะโกนที่แทรกขึ้นมาท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพรจากกลุ่มพสกนิกรผู้มารอรับเสด็จขณะทรงนิวัติจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตามที่ทรงนึกตรัสตอบในพระราชหฤทัยด้วยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเข้มแข็งโดยมิทรงเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แต่ละหยดเหงื่อที่หยาดรดลงผืนดินยังความชุ่มชื่นแก่ปวงประชาทั่วแผ่นดินไทย ก้าวย่างแต่ละก้าวได้นำพาความเจริญทั้งทางด้านจิตใจและวัตถุ ให้ก่อเกิด ณ ที่นั้นๆ

คงไม่ผิดไปนักหากจะยกย่องพระองค์ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

ม.ล. ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ในฐานะราชเลขาธิการผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเคยเล่าถึงวันทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “…บางทีกว่าจะเสวยพระกายาหารกลางวันได้ ก็ประมาณบ่ายสี่โมง ซึ่งผู้ที่ตามเสด็จพระราชดำเนินอย่างผมเป็นต้น บางทีก็ต้องพกลูกกวาดไป…แน่ละครับเจ้านายทุกพระองค์ท่านก็ต้องทรงอดทน ผมจึงได้กราบเรียนในตอนต้นว่า ทรงเสียสละ ทรงมีขันติธรรมเป็นอย่างมาก…” – จากหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงาน 5 ธันวามหาราช ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2530

 

ทรงเป็นนักสำรวจและพัฒนา

ในการประกอบพระราชกรณียกิจในระยะแรกๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำเนินบุกป่าฝ่าดงโดยมิได้ทรงย่อท้อแม้ในภูมิประเทศอันทุรกันดารยิ่ง และโครงการในพระราชดำริในด้านต่างๆที่ทรงจัดทำขึ้นก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดความทุกข์ยากและส่งเสริมความเป็นอยู่ของปวงราษฎร์ ทั้งบนยอดดอยทางภาคเหนือ พื้นที่แห้งแล้งทางภาคอีสาน และพื้นที่ชื้นแฉะทางภาคใต้ บ่อยครั้งรถพระที่นั่งตกหล่ม ก็ทรงคุมงานซ่อมถนนด้วยพระองค์เองเป็นระยะ หาไม่ก็ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาท โดยมิเห็นแก่ความยากลำบาก เพียงเพื่อให้ได้เข้าถึงประชาชน

 

ทรงเป็นนักคิด

โครงการในพระราชดำริทุกเรื่องทุกโครงการล้วนเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั้งหลายทั่วไป ทั้งโครงการฝนเทียม โครงการชลประทาน เขื่อน ฝายกั้นน้ำ การเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง การผลิตพลังงานทั้งไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล โดยโครงการที่พระองค์ทรงโปรดให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ ก็จะทรงริเริ่มจัดทำเป็นรูปธรรมในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

หลังจากทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจจะทรงแวะทักทายกับผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จเสมอ

 

ทรงเป็นศิลปิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปรีชาสามารถในงานศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี การถ่ายภาพ งานจิตรกรรม ประติมากรรม และวรรณกรรม โดยเฉพาะผลงานด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความ บทเพลง และทรงแปลวรรณกรรมต่างประเทศ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนกฉบับการ์ตูน เป็นต้น บทความและบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ทรงเลือกใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย และได้อรรถรสในการอ่านด้วย

ทุกครั้งเมื่อภารกิจในระดับชาติประสบความสำเร็จ คนแรกที่คนไทยนึกถึงคือในหลวง ดังเช่น พงศ์สิทธิ์ เวียงวิเศษ นักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยชูพระพรมฉายาลักษณ์หลังจากได้รับชัยชนะในการชกมวยรอบชิงชนะเลิศรุ่นไลท์เวท กับนักมวยปากีสถาน ทีมูร์ ซูเลมานอน ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร

 

ทรงเป็นนักปกครอง

แม้พระองค์จะทรงมีฐานะอยู่เหนือการเมืองและทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย ตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อกฎหมายต่างๆที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ก็จะทรงมีพระราชวินิจฉัยก่อนที่จะลงพระปรมาภิไธย ในยามที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่มีการปะทะกัน มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตและแม้แต่วิกฤติขัดแย้งในช่วงปัจจุบันขณะ ก็ทรงคลี่คลายสถานการณ์นั้นให้สงบลงได้

ประชาชนชาวไทยนั้นล้วนโชคดีที่พระมหากษัตริย์ไม่เคยทรงทอดทิ้งให้เราเผชิญปัญหาโดยลำพัง ดังเช่นเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ทรงพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาดังกล่าวเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยมีความพอประมาณอย่างมีเหตุผล  ยึดทางสายกลาง และแนวคิดนี้สามารถใช้ได้กับทุกคนทุกฝ่าย ดังพระบรมราโชวาทที่ทรงประทานให้แก่ปวงชนชาวไทยในตอนหนึ่งที่ว่า “…การที่จะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าเรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน…”

“ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธ จะต้องสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญา ความสามารถ และโอกาสที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจกระจ่างถูกต้อง” – พระราชดำรัส พระราชทานแก่ที่ประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์แห่งโลก ณ ประเทศเนปาล 27 พฤศจิกายน 2529

 

“…เย็นศิระเพราะพระบริบาล…”   

ถ้อยความจากบทเพลงสรรเสริญพระบารมี แสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ และบ่งบอกถึงความหมายอันยิ่งใหญ่ของคำว่าในหลวง พ่อของแผ่นดิน ผู้เป็นดั่งร่มไม้ใหญ่ให้ความสงบร่มเย็นแก่ชาติบ้านเมือง ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาและตลอดไป

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นี่คงเป็นคำตอบของคำถามว่าพระมหากษัตริย์คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปวงพสกนิกรทั้งหลายขอพระองค์ทรงพระเจริญตราบนานเท่านานเทอญ ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

 

อ่านเพิ่มเติม : จากปรัชญาสู่วิถีชีวิต เศรษฐกิจพอเพียงประพาสต้นบนดอย สี่ทศวรรษโครงการหลวง

Recommend