ท่องเที่ยวแบบ “ด้านมืด” ไปกับสถานที่โหดร้ายเหล่านี้

ท่องเที่ยวแบบ “ด้านมืด” ไปกับสถานที่โหดร้ายเหล่านี้

ท่องเที่ยวแบบ “ด้านมืด” ไปกับสถานที่โหดร้ายเหล่านี้

ตวลสเลงคือสัญลักษณ์ของความโหดร้าย ภาพถ่ายของผู้เสียชีวิตในสภาพอิดโรยผอมแห้งถูกประดับเต็มฝาผนัง รอยเลือดและคราบสนิมจับเป็นฝ้าทั่วเพดาน เหล่านี้คือหลักฐานของการจองจำ, ทรมานและฆาตกรรม ของเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจตลอดระยะเวลาหลายสิบปี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดของศตวรรษที่ 20 สถานที่อันน่าสะพรึงกลัวแห่งนี้ปัจจุบันอ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เดินเท้าเข้ามาสำรวจประวัติศาสตร์และความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น

การท่องเที่ยวเข้าไปในตวลสเลงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนหลายล้านคนสนใจการท่องเที่ยว “ด้านมืด” เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอนุสรณ์สถานจากสงคราม, ซากอาคารที่ถูกถล่มจากภัยพิบัติ หรืออดีตเรือนจำในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมเป็นประจักษ์พยานของโศกนาฏกรรมในอดีต

ท่องเที่ยวด้านมืด
พิพิธภัณฑ์รัฐเอาชวิทซ์-เบียร์เคเนา

ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ก่อตั้งขึ้นในปี 1940 โดยกองกำลังทหารนาซีเยอรมัน ตั้งอยู่ชานเมือง “ออชเฟียนชิม” ในโปแลนด์ ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สองชาวยิวมากมายถูกนำตัวไปกักขังไว้ภายในค่ายแห่งนี้ พวกเขาถูกบังคับให้ใช้แรงงานหนัก ถูกทดลองโดยปราศจากมนุษยธรรม และลงท้ายด้วยความตายในการสังหารหมู่

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์รัฐเอาชวิทซ์-เบียร์เคเนาเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังเป็นพิพิธภัณฑ์ถ่ายทอดประวัติศาสตร์แก่คนรุ่นหลัง ประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันมากถึง 1,100,000 คน

ท่องเที่ยวด้านมืด
ภาพถ่ายของเหยื่อผู้เสียชีวิต

หลังหลายปีของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและเลบานอน ในปี 1982 กองทัพอิสราเอลตัดสินใจรุกรานและยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน ก่อให้เกิดองค์กรฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) อดีตกองกำลังทหารที่ลุกขึ้นต่อต้านอิสราเอล ตลอดระยะเวลา 18 ปีของการยึดครอง มีชาวเลบานอนและชาวปาเลสไตน์หลายพันคนต้องเสียชีวิตไปจากการปะทะและการโจมตี อีกหลายพันคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ในที่สุดเรื่องราวก็จบลงเมื่ออิสราเอลถอนกำลังในปี 2000

ท่องเที่ยวด้านมืด
อดีตฐานทัพขององค์กรฮิซบอลเลาะห์

ต่อมาในปี 2010 อดีตฐานทัพขององค์กรฮิซบอลเลาะห์ ถูกเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเฉลิมฉลองในวาระครบรอบสิบปีที่เป็นอิสระจากอิสราเอล

ท่องเที่ยวด้านมืด
อนุสรณ์สถานเหตุแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน

วันที่ 12 พฤษภาคม ปี 2008 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณเทือกเขาของมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แรงสั่นสะเทือนขนาด 7.9 แมกนิจูดฉีกทำลายอาคารบ้านเรือนจนย่อยยับ ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 90,000 คน ในจำนวนนี้ 5,300 คนเป็นเด็ก และชาวจีนอีกหลายล้านคนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ อนุสรณ์รำลึกแห่งนี้เปิดขึ้นในปี 2009 มันคืออาคารเรียนของโรงเรียนประถม Yingxiu ที่พังถล่มลงมา ที่นาฬิกาปรากฏรอยแตกที่เวลา 14.28 น. ซึ่งเป็นเวลาที่แผ่นดินไหวระลอกแรกเกิดขึ้น

ท่องเที่ยวด้านมืด
เรือนจำคารอสตาที่ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงแรม

การทรมานและประหัตประหารเกิดขึ้นเป็นปกติในเรือนจำคารอสตา ( Karosta) ใกล้เมือง Liepaja ของลัตเวีย สถานที่แห่งนี้เคยถูกใช้เป็นเรือนจำของพรรคนาซีและกองกำลังโซเวียตมาก่อน ปัจจุบันได้รับการรักษาเป็นอย่างดี ข้าวของหลายอย่างยังคงจัดวางในรูปแบบเดิม นักท่องเที่ยวสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นผ่านนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ หรือทดลองใช้ชีวิตแบบนักโทษภายในโรงแรมพิเศษที่ให้บริการไม่เหมือนใครในโลก

ท่องเที่ยวด้านมืด
เมืองพริเพียต ในยูเครน ถูกทิ้งร้างเพราะเหตุเชอร์โนบิล

เมษายน ปี 1986 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของสหภาพโซเวียตนำไปสู่ภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ระเบิดที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์หมายเลขสี่ปลดปล่อยกัมมันตรังสีขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ กระแสลมหอบเอาสารพิษเหล่านี้แพร่กระจายไปถึงยูเครน, เบลารุสและรัสเซีย ส่งผลให้พื้นที่ขนาดหลายล้านเอเคอร์กลายเป็นพื้นที่อันตรายห้ามเข้า

ท่องเที่ยวด้านมืด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนจำนวน 100,000 คนต้องทิ้งบ้านอย่างถาวร และมีประชาชนอีกมากในบริเวณรอบๆ ที่เจ็บป่วยเรื้อรังจากสารพิษ ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวสามารถผจญภัยเข้าไปในเมืองร้าง ชมข้าวของที่ถูกทิ้งเอาไว้ในเมืองพริเพียต (Pripyat) ของยูเครนได้ ซึ่งกว่าที่มนุษย์จะกลับมาอาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้อีกครั้งต้องรอถึง 24,000 ปีเลยทีเดียว

ท่องเที่ยวด้านมืด
หัวกะโหลกจำนวน 5,000 กะโหลกของผู้เสียชีวิตจากเขมรแดงถูกเก็บรักษาไว้ที่อนุสรณ์สถาน ภายในทุ่งสังหาร นอกกรุงพนมเปญ

ในปี 1975 กองทัพเขมรแดงเข้าควบคุมกรุงพนมเปญและเริ่มต้นปฐมบทของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 1.7 ล้านคน ผู้คนจากทุกชนชั้นถูกกวาดต้อนไปยังค่ายในชนบท พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานเกษตรกรรมอย่างหนัก และใครที่เจ็บป่วยหรือไม่สามารถทำงานได้ต่อจะถูกพามายังคุกตวลสเลง ว่ากันว่าอดีตโรงเรียนแห่งนี้รองรับผู้คนที่ถูกทรมานกว่า 17,000 ชีวิต และสุดท้ายชีวิตของพวกเขาสิ้นสุดลงที่ทุ่งสังหารนอกกรุงพนมเปญ

ท่องเที่ยวด้านมืด
อนุสรณ์สถานเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 1994 ชาวฮูตู ชนพื้นเมืองในรวันดาถูกสังหารไปมากกว่า 800,000 คน ผู้หญิงอีก 250,000 คนถูกข่มขืนจากชาวทุตซี ชนพื้นเมืองอีกกลุ่มหนึ่งในรวันดา ทั้งสองมีความขัดแย้งกันจากนโยบายแบ่งแยกและปกครองของชาวผิวขาวในสมัยล่าอาณานิคม เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ชาวฮูตูราว 2 ล้านคนหลบหนีไปยังแทนซาเนีย, บุรุนดี และคองโกประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์และผู้เสียชีวิต โครงกระดูกที่สามารถรวบรวมได้ถูกนำมาไว้รวมกันและเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม

เรื่อง Gulnaz Khan

ภาพถ่าย Ambroise Tezenas

 

อ่านเพิ่มเติม

นี่คือสิ่งที่อาวุธนิวเคลียร์ทิ้งเอาไว้

Recommend