ซินโครตรอนยืนยันน้ำดื่มไทยปลอดภัยต่อการบริโภค

ซินโครตรอนยืนยันน้ำดื่มไทยปลอดภัยต่อการบริโภค

ซินโครตรอนยืนยันน้ำดื่มไทยปลอดภัยต่อการบริโภค

พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์เรา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ล้วนมีส่วนประกอบที่เป็นพลาสติกทั้งนั้น ในปี 2555 มีรายงานปริมาณการผลิตพลาสติกทั่วโลกถึง 299 ล้านตัน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยคุณสมบัติเรื่องความคงทนของพลาสติก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พลาสติกที่ผลิตขึ้นมาชิ้นแรกบนโลกยังไม่ย่อยสลายไปจนถึงทุกวันนี้ การศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ รายงานว่า พลาสติกบางส่วนแตกสลายเป็นไมโครพลาสติก (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร) ซึ่งมีสาเหตุจากแสงอัลตราไวโอเลต และพบการแพร่กระจายไปบนผิวน้ำ ชายหาด และก้นทะเล ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของสัตว์น้ำหลายชนิด เมื่อไมโครพลาสติกสะสมในท้องทะเลมากขึ้น สิ่งมีชีวิตทั้งขนาดเล็กและใหญ่จะกินอาหารที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกและสะสมไว้ในร่างกาย แล้วไมโครพลาสติกเหล่านั้นจะกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร สุดท้ายก็มาถึงเราในฐานะผู้บริโภค

“เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศให้ความสนใจเรื่องไมโครพลาสติกในน้ำดื่มกันอย่างมาก จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า น้ำดื่มบรรจุขวดจำนวน 250 ตัวอย่างจาก 11 ยี่ห้อ ที่มีจำหน่ายใน 9 ประเทศ ปนเปื้อนไมโครพลาสติกร้อยละ 93 โดยมีค่าเฉลี่ยเฉลี่ย 11 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร” ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องไมโคตรพลาสติกของสถาบันวิจัยแสงซินโคตรตรอน กล่าวและเสริมว่า “สำหรับประเทศไทย ทางทีมวิจัยของสถาบันฯ ได้สุ่มตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีขายอยู่ทั่วไปจำนวน 24 ตัวอย่างจาก 12 ยี่ห้อ และวิเคราะห์ด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด พบว่า มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนร้อยละ 41 มีค่าเฉลี่ย 2 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยมาก และเชื่อถือได้ว่าปลอดภัยต่อการบริโภค”

กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด
นักวิจัยกำลังเตรียมตัวอย่างน้ำดื่มเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำดื่ม

การปนเปื้อนไมโครพลาสติกที่เกิดขึ้นนั้น อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตน้ำดื่ม นอกจากนี้ การวิเคราะห์ของสถาบันฯ ยังพบอนุภาคอื่นๆ เช่น เส้นใยเซลลูโลส ฝ้าย และอนุภาคสารอินทรีย์ ในน้ำดื่มทุกยี่ห้อ มีปริมาณเฉลี่ย 5 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร เป็นไปได้ว่าฝุ่นผงบางเบาที่ลอยอยู่ในอากาศเกิดการปนเปื้อนระหว่างขั้นตอนการบรรจุขวด ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช นักวิทยาศาสตร์ในคณะวิจัย บอก

“ในฐานะที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล เรามีหน้าที่สร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยใช้เทคนิควิทยาศาสตร์ขั้นสูง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์ยืนยันความปลอดภัยของน้ำดื่มในประเทศไทย” ศ.นท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวย้ำความมั่นใจในตอนท้าย

ภาพมุมสูงของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ตั้งอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยดทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

Recommend