หายนะกำลังล้างบางสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วโลก

หายนะกำลังล้างบางสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วโลก

หายนะกำลังล้างบาง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ทั่วโลก

บรรดา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับหายนะภัยครั้งใหญ่ มันคือเชื้อราสายพันธุ์โบราณที่แทะกินผิวหนังเป็นอาหาร และสามารถล้างบางประชากรกบในผืนป่าให้สูญสิ้นไปได้ในพริบตา

เจ้าวายร้ายตัวนี้เป็นฟังไจในกลุ่มไคทริด (chytrid) ที่มีชื่อว่า Batrachochytrium dendrobatidis ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์และเกือบสูญพันธุ์ในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกว่า 200 สายพันธุ์ ภายในระบบนิเวศสมบูรณ์หลายแห่งทั่วโลก

“เท่าที่เราบอกได้ตอนนี้ นี่เป็นเชื้อโรคที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ในแง่ของผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ” Mat Fisher นักพฤกษศาสตร์จาก Imperial College London ผู้ศึกษาราชนิดนี้กล่าว

ขณะนี้ทีมวิจัยนานาชาติจากนักวิจัยจำนวน 58 คน กำลังพยายามหาคำตอบ และรายงานการค้นพบครั้งนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Science เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2018 เผยให้เห็นช่วงเวลาและสถานที่ที่มีการอุบัติของเชื้อรา นั่นคือบริเวณคาบสมุทรเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950 และกิจกรรมของมนุษย์เรานั้นมีส่วนช่วยให้เชื้อราเกิดการแพร่ระบาด จนนำไปสู่การตายของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำนวนมากทั่วทวีปอเมริกา, แอฟริกา, ยุโรป ตลอดจนในออสเตรเลีย

“การแพร่กระจายของเชื้อราอาจมาจากเหตุการณ์ใหญ่ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นสงครามเกาหลี” Simon O’Hanlon นักวิจัยจาก Imperial College London หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว จากการศึกษาค้นคว้า ตอนนี้พวกเขาทราบแล้วว่าเชื้อราเหล่านี้มาจากไหน ทั้งยังสามารถติดตามความหลากหลายของเชื้อราในกลุ่มไคทริดเหล่านี้ ตลอดจนมองหาสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุด อีกทั้งการค้นพบครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า การค้าที่เชื่อมต่อโลกทั้งใบสามารถก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศได้อย่างไร

สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เชื้อรา Batrachochytrium dendrobatidis คร่าชีวิตของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำไปแล้วมากกว่าร้อยสายพันธุ์ ในจำนวนนี้รวมถึงคางคกหมอตำแย (Alytes obstetricans) บริเวณเทือกเขาพิเรนีส ของฝรั่งเศสตามภาพ ร่างของพวกมันถูกนักวิจัยที่เดินทางไปเก็บข้อมูลนำมาวางเรียงกัน
ภาพถ่ายโดย Matthew Fisher

 

กบตายเกลื่อนกลาด

เชื้อราชนิดนี้ถูกเรียกชื่อสั้นๆ ว่า Bd มันอันตรายก็เพราะมันพุ่งเป้าไปที่ผิวหนังของบรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ปกติแล้วสัตว์เหล่านี้ใช้ผิวของมันในการหายใจและดูดซึมความชื้น เมื่อพวกมันติดโรคจากเชื้อราอาการของโรคจะมีลักษณะหลากหลายตามแต่สายพันธุ์ตั้งแต่ ง่วงซึม ไม่กินอาหาร ผิวหนังบริเวณท้องมีสีแดง เกิดอาการชักเกร็ง หรือมีการก่อตัวหนาขึ้นของผิวหนังตามมา ซึ่งในที่สุดแล้วสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตัวนั้นๆ ที่ติดเชื้อจะตายลงในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ อาจมีบางสายพันธุ์ที่สามารถทนทานต่อเชื้อราได้ แต่เท่าที่ทราบมีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกว่า 695 สายพันธุ์แล้วที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อรา Bd ในระดับที่แตกต่างกัน

สำหรับมนุษย์เราแล้วการระบาดของเชื้อรา Bd อาจมีลักษณะเทียบได้กับวันสิ้นโลกตามคัมภีร์ไบเบิล ทุกๆ ปีในช่วงเดือนสิงหาคมบรรดาคางคกในทะเลสาบของเทือกเขาพิเรนีส ในฝรั่งเศส จะพากันปีนออกมาจากสถานที่ที่พวกมันเกิดเพื่อสำรวจโลกกว้างใหญ่เป็นครั้งแรก แต่สำหรับคางคกที่ติดเชื้อพวกมันจะไปได้ไม่ไกลนัก “พวกมันจะกระโดดได้ไม่กี่ครั้งและตายลงตรงนั้น” Fisher หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว “ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปที่ทะเลสาบจะเห็นกบนอนตายเกลื่อนกลาด เหมือนพื้นตรงนั้นปูพรมที่สร้างจากกบตายไม่มีผิด”

ความตายในลักษณะนี้เริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อทศวรรษ 1970 แต่ในตอนนั้นนักวิจัยยังไม่ทราบว่ามันจะเป็นหายนะครั้งใหญ่ จนกระทั่งเมื่อทศวรรษ 1990 เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้รู้จักกับเชื้อรา Bd และอีกสิบปีต่อมามันก็ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชากรสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำไปจำนวนมาก โดยกระบวนการล้างบางยังคงดำเนินต่อไปจนวันนี้ จากปี 2004 – 2008 แค่ภูมิภาคเดียวในปานามา มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากถึง 41 สายพันธุ์แล้วที่ต้องสูญหายไปเพราะเชื้อราดังกล่าว

ในบทความนี้จะเรียกเชื้อรา Bd ประเภทที่ก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่แบบย่อว่า BdGPL (Global Panzootic Lineage) พร้อมหาคำตอบไปด้วยกันว่าเจ้าเชื้อราวายร้ายนี้มาจากไหน และมันเดินทางไปทั่วโลกได้อย่างไร?

 

ห้องสมุดเชื้อรา 

ในการหาคำตอบ ทีมนักวิจัยใช้เวลาเป็นสิบปีในการสร้างห้องสมุดเก็บพันธุกรรมของเชื้อรา Bd ภารกิจที่พึ่งพาความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์ใน 6 ทวีป อาทิเช่น Jennifer Shelton หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยและนักสำรวจรุ่นเยาว์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่ออกเดินทางไปยังภูเขาในปี 2017 เพื่อตามหาซาลาแมนเดอร์ที่ติดเชื้อรา

เมื่อนักวิจัยพบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตัวใดก็ตามที่ติดเชื้อรา พวกเขาจะตัดเท้าข้างหนึ่งของมันออก ซึ่งเป็นวิธีในการนำเนื้อเยื่อไปตรวจที่ไม่ทำให้มันต้องตาย จากนั้นพวกเขาจะแยกเชื้อรา Bd ออกมาจากเนื้อเยื่อและเพาะมันลงในจาน เพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอในภายหลัง

ทีมของ O’Hanlon และ Fisher สามารถเรียงลำดับจีโนมของเชื้อรา Bd จากทั่วโลกได้มากถึง 177 จีโนม โดยรวมเข้ากับจีโนมจำนวน 57 จีโนมในการวิจัยก่อนหน้านี้ จากนั้นทีมนักวิจัยเปรียบเทียบลำดับจีโนมของเชื้อรา Bd ทั้งหมด 234 จีโนม เพื่อสร้างแผนภูมิตระกูลของมันขึ้นมา ซึ่งพวกเขาพบว่ามันมี 4 สายพันธุ์ด้วยกัน

 

Recommend