ลูกแมวน้ำตายเพราะกินขยะพลาสติก

ลูกแมวน้ำตายเพราะกินขยะพลาสติก

ลูกแมวน้ำ ตายเพราะกินขยะพลาสติก

เราคงไม่คาดคิดกันว่าแค่เศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ จะสามารถคร่าชีวิตสัตว์ทะเลได้

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2018 ร่างของลูกแมวน้ำลายพิณที่ตายไปแล้วถูกพบบนเกาะ Skye มันถูกนำส่งมายัง Scottish Marine Animal Stranding Scheme องค์กรวิจัยสัตว์น้ำในสังกัดของรัฐบาลที่มุ่งสำรวจประชากรสัตว์ที่ตายโดยเฉพาะ โดย Andrew Brownlow พยาธิวิทยาสัตวแพทย์เป็นผู้ชันสูตรร่างของแมวน้ำตัวนี้ และดึงเอาชิ้นส่วนเศษพลาสติกออกมาจากท้องของมัน รายงานผลกระทบล่าสุดจากขยะพลาสติกนี้ถูกเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊กของ SMASS เมื่อวันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2018

ลูกแมวน้ำโชคร้ายมีอายุเพียงแค่ 8 เดือนเท่านั้น Brownlow กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะพบขยะพลาสติกในท้องของแมวน้ำ จากสถิติที่ผ่านมามักพบแมวน้ำติดอยู่ภายในอวนประมงจนตายมากกว่าที่จะถูกคร่าชีวิตโดยเศษพลาสติก

“พลาสติกในร่างของสัตว์อย่างวาฬและโลมารวมไปถึงแมวน้ำเป็นอะไรที่พบได้ยาก” Brownlow กล่าว ในฐานะประธานของ SMASS “พวกมันเป็นสัตว์ฉลาด มันแยกแยะออกระหว่างพลาสติกและเหยื่อ” เหตุการณ์ล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่สัตว์ที่มีความฉลาดก็ไม่อาจรอดพ้นจากวิกฤติพลาสติกไปได้

ลูกแมวน้ำ
เศษขยะพลาสติกที่พบในท้องของลูกแมวน้ำ ดูเหมือนว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์บางอย่าง
ภาพถ่ายโดย SMASS

 

แหล่งน้ำที่ไม่คุ้นเคย

ปกติแล้ว SMASS จะได้รับรายงานของแมวน้ำ gray และแมวน้ำ harbor ซึ่งอาศัยอยู่ในน่านน้ำของสกอตแลนด์ แต่การพบเจอแมวน้ำลายพิณ ซึ่งมีถิ่นอาศัยในภูมิภาคอาร์กติกนั้น ไม่ใช่เรื่องปกติ

“พวกมันไม่ได้มีรูปลักษณฺเหมือนแมวน้ำ gray” Brownlow กล่าว “และด้วยการชันสูตร เราไม่เพียงแต่บอกแค่ว่ามันตายยังไงเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำความเข้าใจด้วยว่าแมวน้ำเหล่านี้มีชีวิตอยู่อย่างไร”

แมวน้ำลายพิณไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของพวกมันหมดไปกับการว่ายน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอาร์กติกในการมองหาปลาและสัตว์จำพวกกุ้ง ปู เป็นอาหาร และเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์พวกมันจะอพยพไปยังเกาะนิวฟันแลนด์ ในทะเลกรีนแลนด์ทุกๆ ปี

อย่างไรก็ดี ยังพอมีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่จะพบแมวน้ำลายพิณในน่านน้ำของสกอตแลนด์ Brownlow สันนิษฐานว่าเจ้าลูกแมวน้ำตัวนี้น่าจะเกิดในทางตอนเหนือของนอร์เวย์ และด้วยเหตุผลกลใดก็ตามมันจึงว่ายน้ำมุ่งหน้ามายังทางตอนใต้ เป็นไปได้ว่ามันอาจว่ายตามเหยื่อ หรือตามแมวน้ำตัวอื่นมา ไม่ก็หลงทาง ซึ่งในเฟซบุ๊กของ Brownlow เองยังกล่าวเสริมว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

(ผลกระทบจากพลาสติก: เมื่อพลาสติกทำร้ายสัตว์ป่า)

ในระหว่างการชันสูตร Brownlow และทีมพบแผ่นฟิล์มพลาสติกขนาด 2 ตารางนิ้ว ยับยู่ยี่อยู่ในท้องของลูกแมวน้ำ แผลอักเสบแสดงให้เห็นว่าขยะพลาสติกติดอยู่ในท้องของมันมาแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นไปได้ว่าเศษพลาสติกไปอุดตันยังหูรูดที่เชื่อมต่อระหว่างกระเพาะอาหารและลำไส้ ทั้งนี้ขยะพลาสติกไม่ได้ฆ่าลูกแมวน้ำโดยตรง แต่ทำให้มันเกิดภาวะออโตไลซิส (การสลายตัวของเซลล์), ขาดน้ำ และขาดสารอาหาร นานวันเข้าพลาสติกที่อุดตันส่งผลให้แมวน้ำอ่อนแอ ล้มป่วย และตายลงในที่สุด โดยจากศพมีร่องรอยของการติดเชื้อ แต่ไม่มีบาดแผลแต่อย่างใด ดูเหมือนว่าเศษพลาสติกจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อในท้อง และเอื้อให้แบคทีเรียจากภายในลำไส้เข้าไปในกระแสเลือด

ทั้งนี้พลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ในท้องของสิ่งมีชีวิต แต่หากสัตว์ตัวนั้นๆ มีสุขภาพที่แข็งแรงดี มันอาจยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยมีความรู้สึกไม่สบายตัวตลอดเวลา

 

วิกฤติขยะ

แน่นอนว่าแมวน้ำลายพิณไม่ใช่สัตว์เพียงชนิดเดียวที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก บรรดาสิงโตทะเลขี้สงสัยและแมวน้ำสายพันธุ์อื่นๆ เองก็มักติดอยู่ในอวนประมง หรือแม้แต่ในถุงพลาสติก

ทุกวันนี้สัตว์มากกว่า 700 สายพันธุ์กินพลาสติกเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร นอกจากไม่ได้คุณค่าใดๆ แล้วเศษขยะพลาสติกเหล่านี้สร้างอาการบาดเจ็บให้แก่ภายในท้อง และนำพวกมันไปสู่ความตาย นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าบรรดาเต่าทะเล และนกนางนวลที่กินมูลของปลา, วาฬ และสัตว์น้ำอื่นๆ เป็นอาหาร ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากไมโครพลาสติก

และเมื่อมนุษย์กินปลาเข้าไป เราก็จะเข้าสู่วงจรการกินพลาสติกนี้ไปด้วยโดยไม่ตั้งใจ เมื่ออาหารที่เรากินนั้นมีส่วนประกอบของไมโครพลาสติกจากหลอด, แก้วน้ำ และพลาสติกห่ออาหารที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเอง ขยะพลาสติกบางชิ้นสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่กว่า 99% ของขยะพลาสติกทั้งหมดมีขนาดเล็กกว่าครึ่งนิ้วเสียอีก และด้วยขนาดที่เล็กเช่นนั้นทำให้พวกมันหลุดรอดจากสายตาของนักอนุรักษ์ แต่ยังคงอันตรายต่อชีวิตของบรรดาสัตว์น้ำ

“นี่คือเหตุผลที่พลาสติกเล็กจิ๋วเหล่านี้มีความสำคัญไม่ต่างจากแพขยะขนาดใหญ่” Brownlow กล่าว “แม้กระทั่งชิ้นส่วนที่เล็กที่สุดก็เป็นปัญหา”

เรื่อง Elaina Zachos

 

อ่านเพิ่มเติม

วิกฤติพลาสติกล้นโลก

Recommend