Explorer Awards 2018: เพชร มโนปวิตร

Explorer Awards 2018: เพชร มโนปวิตร

เพชร มโนปวิตร

นักอนุรักษ์องค์กรระหว่างประเทศ นักเขียน และสตาร์ตอัป

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่เคยทำงานกับองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งทั้ง IUCN, WWF และ WCS ในสองทศวรรษที่ผ่านมา และยังเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันขับเคลื่อนประเด็นขยะทะเลและการอนุรักษ์ปะการังกับ ReReef บริษัทสตาร์ตอัปที่เน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค

 

จุดเริ่มต้นของการสำรวจ

เราเรียนวิทยาศาสตร์ทางอาหารที่เกษตร แต่ทำกิจกรรมชมรมอนุรักษ์มาตลอด  ก็ได้เห็นปัญหาสถานการณ์จริง โดยเฉพาะช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัยยังเป็นยุคที่นักศึกษาค่อนข้างตื่นตัว  เราจัดเวทีเขื่อนแม่วงก์ แก่งเสือเต้น ทำให้ได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ NGO ภาคสนามจริงๆ ได้รู้ว่าทุกเรื่องมีสองด้าน  เพราะที่เราเรียนมาการพัฒนามีแต่ข้อดี  เช่นการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า พอเรียนจบก็เลยไปเริ่มต้นงานสายอนุรักษ์ที่มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ตอนนั้นเน้นข้อมูลวิชาการควบคู่กับงานเคลื่อนไหวเชิงนโยบาย ได้เรียนรู้เยอะ ได้เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  เลยตัดสินใจเรียนต่อที่ออสเตรเลียด้านนิเวศวิทยา  ตั้งใจไปเรียนงานด้านชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ conservation biology  ไม่ใช่เรียนนิเวศวิทยาอย่างเดียว แต่ต้องการมองว่าอะไรที่เป็นปัญหากับการอนุรักษ์บ้าง

จากนั้นก็มาอยู่ที่ wcs สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้นเพราะ wcs เน้นการวิจัยภาคสนาม การเอาข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้  จึงไม่ใช่แค่เคลื่อนไหวด้วยข้อมูลธรรมดา แต่เราเป็นคนลงไปเก็บข้อมูลเอง  เอาข้อมูลเชิงสำรวจเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์ เน้นที่ทุ่งใหญ่ แก่งกระจาน ในขณะเดียวกันก็เป็นกรรมการสมาคมอนุรักษ์นก  มีหน้าที่อธิบายกับสังคมว่านกชนิดนั้นๆ มีความสำคัญอย่างไร  ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น

“สายตาของนักสำรวจคือสิ่งที่ทุกคนควรมี เพราะมันช่วยให้เราเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด และมองเห็นความละเอียดขึ้นในแง่มุมต่างๆ”

 

การสำรวจสำคัญต่องานด้านอนุรักษ์อย่างไร?

งานสำรวจ หรืองานวิจัยภาคสนามถือได้ว่าเป็นหัวใจเลยครับ เราพยายามใช้หลักเกณฑ์ การตรวจสอบ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากหลายพื้นที่ ทุกครั้งที่เราลงพื้นที่เราจะมองผ่านเลนส์ของนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุดมาใช้ แม้ว่าพื้นที่เหล่านั้นอาจไม่ใช่พื้นที่แปลกใหม่ก็ตาม แต่ด้วยความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์แต่ละด้านจะช่วยให้เราได้ข้อมูลที่คนทั่วไปมองไม่เห็น

เพชร มโนปวิตร
เพชร มโนปวิตร ขณะกำลังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานเสวนา “เสือดำ และเรื่องที่…ใหญ่กว่า” ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ
ขอบคุณภาพจาก Petch Manopawitr

ช่วงหลังมานี้งานสำรวจต้องการความเป็นพหุสาขาวิชาการมากขึ้น ไม่ใช่แค่ด้านชีววิทยาเท่านั้น แต่ต้องการความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้านเพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตลอดการทำงานที่ผ่านมา บางพื้นที่เองไม่เคยมีข้อมูลวิทยาศาสตร์มาก่อน บางครั้งก็เป็นพื้นที่ที่คนรู้จักกันอยู่แล้ว แต่เราช่วยเปิดเผยข้อมูลใหม่ที่คนไม่เคยรับรู้ ช่วยให้พวกเขารู้ว่าในสถานที่หนึ่งมันมีหลายแง่มุม และสำคัญเลยก็คือมันเปิดโลกทัศน์ใหม่ในใจเราเองด้วยครับ พอมองย้อนกลับไปเราได้พบว่าความจริงมันไม่ใช่แบบที่คิด ซึ่งถ้าไม่ได้ออกไปสำรวจ ไม่ทำงานภาคสนามเราก็จะไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้เลย

 

ทุกคนควรมีสายตานักสำรวจ

สายตาของนักสำรวจเป็นสิ่งที่อยากให้ทุกคนมีครับ เพราะมันช่วยให้เราเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด มองเห็นสิ่งธรรมดาๆ ในแง่มุมที่ละเอียดขึ้น สำหรับผมมันช่วยให้ชีวิตมีความหมายขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่กับที่ อยู่กับอะไรเดิมๆ มันก็จำเจ แต่เมื่อเราออกไปยังสถานที่ใหม่ๆ ข้อมูลชุดใหม่จะถูกส่งผ่านมาให้เรา ประสาทสัมผัสเราจะตื่นรู้ การสำรวจมันช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ผ่านประสบการณ์จริง ได้สะท้อนหรือตกผลึกองค์ความรู้ที่เรามีอยู่แล้วจากการอ่านก่อนหน้า นั่นคือความสำคัญของมันครับ และผมคิดว่าทุกคนควรลองได้สัมผัส เพราะมันช่วยให้เรามองเห็นตัวเองได้ดีขึ้น ตลอดจนทำความเข้าใจกับโลกที่เราอาศัยอยู่ได้ดีขึ้น

ในยุคที่เรายังไปถึงอวกาศ ยุคที่เรารู้ข้อมูลทุกอย่างแล้ว แต่มันยังมีอะไรใหม่ๆ รอให้เราค้นพบ เรียนรู้ตลอดเวลา แม้แต่ในสถานที่เดิมๆ ก็ตาม ดังนั้นสายตาของนักสำรวจจึงเรียกได้ว่ายังคงเป็นคุณสมบัติมีความจำเป็นอยู่ครับ

เพชร มโนปวิตร
เพชร มโนปวิตร จากบทสัมภาษณ์ ความตายของปะการัง เป็น ‘ความหวัง’ ของเราทุกคน
ขอบคุณภาพจาก adaymagazine.com

 

อ่านเพิ่มเติม

ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ผู้ใกล้สูญพันธุ์

Recommend