อลาสกาไม่อาจปกป้องสรรพสัตว์จากภาวะโลกร้อน

อลาสกาไม่อาจปกป้องสรรพสัตว์จากภาวะโลกร้อน

นกหัวโตหลังจุดสีทองอเมริกันใน อลาสกา พวกมันคือหนึ่งในสายพันธุ์นกทะเลที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำลายห่วงโซ่อาหาร
ภาพถ่ายโดย Design Pics INC

อลาสกา ไม่อาจปกป้องสรรพสัตว์จากภาวะโลกร้อน

ทะเลสาบ Clam ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะอาดัก ในรัฐ อลาสกา คือสรวงสวรรค์ของสรรพสัตว์ ทว่าทะเลแบริงที่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ กำลังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของบรรดาผู้พักพิง เมื่อพวกมันไม่สามารถหาอาหารได้เพียงพอ และทุกข์ทรมานจากความหิวโซ

สถานที่แห่งนี้เคยมีนกเมอรร์, นกพัฟฟิน, นกอ็อกเล็ต และนกทะเลอื่นๆ อีกหลายพันตัวส่งเสียงกู่ร้องขณะโผบินเหนือท้องฟ้าของเกาะอาดัก “ตอนนี้เหลือแค่ 200 – 300 ตัวเท่านั้น” Douglas Causey ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยอลาสกากล่าว ในฐานะนักสำรวจเกาะอาดักเมื่อ 30 ปีก่อน

Causey มีทฤษฎีที่ตั้งไว้ในใจ แต่ตัวเขาต้องการหาคำตอบที่ชัดเจนว่าเหตุใดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทางทะเลอลาสกา ซึ่งมีพื้นที่กว้าง 4.9 ล้านเอเคอร์จึงกำลังสูญเสียประชากรสัตว์ป่าไปอย่างมากมาย ทั้งนก, แมวน้ำ, สิงโตทะเล และวาฬ ทุกชนิดในภูมิภาคนี้ล้วนมีจำนวนประชากรลดลง รายงานจากการสำรวจโดยดาวเทียม NOAA ปี 2017

การตายของนกหลายชนิด ที่บางครั้งใช้คำว่า “หายนะ” เกิดขึ้นหลายครั้งในทะเลแบริง นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา รายงานจากศูนย์บริการอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USFWS ระบุว่า แนวโน้มการผสมพันธุ์และจำนวนประชากรของนกทะเลลงลดราว 13% ในปี 2006 – 2015 และไข่อีก 31% ฟักเร็วกว่าปกติ

ในปี 2017 องค์กรไม่แสวงผลกำไร Audubon Alaska จัดสถานะนกจำนวน 36 สายพันธุ์ในอลาสกาอยู่ในบัญชีแดง จากจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า

“ไม่มีนกจับคู่ผสมพันธุ์กันในช่วงสองปีนี้ และเราไม่รู้ว่าทำไม” Causey กล่าว “เราพยายามบันทึกว่าพวกมันกินอะไรเป็นอาหาร เพื่อดูความเป็นไปได้ที่จะกระจายอาหารให้มัน ทว่ามหาสมุทรกำลังเปลี่ยนไปเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

 

ห่วงโซ่อาหารที่ยุ่งเหยิง

Causey ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียวที่ต้องการหาคำตอบ Timothy Jones นักวิจัยหลังปริญญาเอก จากทีมสำรวจชายฝั่งและนกทะเล มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ว่าธารน้ำแข็งที่ละลายในทะเลเมื่อต้นฤดูใบไม้ผลิคือตัวการ การแตกหักของน้ำแข็งส่งผลให้แพลงก์ตอนพืชเติบโตล่าช้า และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในภูมิภาค

Jones ยังพบว่าคลื่นความร้อนในทะเลยังเป็นสาเหตุของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว และเป็นอันตรายต่อบรรดาสิ่งมีชีวิต โดยคลื่นความร้อนในทะเลที่โด่งดังที่สุดคือ The Blob ซึ่งส่งผลให้นกอ็อกเล็ตล้มตายเป็นประวัติการณ์มาแล้ว เมื่อปี 2014 – 2015 “คลื่นความร้อนในทะเลจะเกิดถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น” Jones กล่าว ทั้งยังส่งผลกระทบต่อนกทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ ในแบบที่คาดการณ์ไม่ได้ ผลพวงของหายนะในครั้งนั้นยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปี 2018 มีรายงานว่านกทะเลมากกว่า 1,400 ตัวกำลังแสดงสัญญาณของความอดอยากนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา รายงานจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์

Causey และ Bruce W. Robinson อาสาสมัครจาก USFWS เก็บตัวอย่างดินและน้ำบนเกาะ Attu ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะ Aleutian เพื่อส่งต่อให้กับด็อกเตอร์  Veronica Padula ตรวจสอบหาปริมาณสารพทาเลท สารเคมีจากขยะพลาสติกที่ปนเปื้อน เป็นไปได้ว่าสารเคมีนี้อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของนก และทำให้พวกมันอดอยาก นอกจากนั้น Causey ยังสร้างแผนที่จำลองการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของห่วงโซ่อาหาร จากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นและน้ำแข็งละลายอีกด้วย เพื่อมองหาพื้นที่หายนะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

บนเกาะ Attu ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยากำลังเก็บตัวอย่างนกเมอรร์ นกทะเลขนาดกลางที่มีหน้าตาคล้ายเพนกวิน พวกมันมีหัวสีดำ และท้องสีขาว “ดูมันผอมกะหร่องเลยใช่ไหม?” Causey กล่าว กระดูกซี่โครงของนกปูนออกมา “ต้องตรวจระบบภายในเพิ่มเติมด้วย”

“ในช่วงฤดูหนาวนกเมอรร์จะพากันล้มตายเยอะมาก ทั้งหมดที่ตายคือนกผอมกะหร่อง เพราะพวกมันไม่ได้กินอาหารเท่าที่ควรได้กิน” Causey กล่าว “ดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเกี่ยวพันกับปัญหาในระบบนิวเศทั้งหมด” Padula เสริม

รายงานจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ ตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของทวีปอเมริกา, อ่าวในอลาสกา และหมู่เกาะ Aleutian ตั้งแต่ปี 2015 – 2016 มีนกทะเลเป็นแสนตัวที่ล้มตายจากความอดอยาก ส่วนมากเป็นนกเมอรร์ นอกจากนั้นพวกเขายังพบซากนกบนชายหาดหลายแห่งมากกว่า 2,100 ซาก ในปี 2016

“ชะตาของทะเลแบริงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในทะเล” Jones กล่าว และขณะนี้ทรัพยากรอาหารกำลังลดลงเรื่อยๆ “เราเห็นหายนะเหล่านี้เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของอลาสกาทุกปีมาตั้งแต่ปี 2014”

เรื่อง Samantha Yadron

 

อ่านเพิ่มเติม

สารเคมีจากพลาสติก และเครื่องสำอางปนเปื้อนในโลมา

 

Recommend