ที่โบลิเวีย ผู้คนดื่มกินเลือดค้างคาวกันเป็นปกติ

ที่โบลิเวีย ผู้คนดื่มกินเลือดค้างคาวกันเป็นปกติ

ในแต่ละเดือน ที่ประเทศโบลิเวีย มีการขายค้างคาวเป็นจำนวนหลายพันตัว ด้วยความเชื่อที่ว่า เลือดค้างคาว สามารถรักษาโรคลมชักและอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ได้

การหาซื้อค้างคาวตามแหล่งค้าขายต่างๆ ในโบลิเวียไม่ใช่เรื่องยาก พวกมันมักถูกเก็บไว้ในกล่องรองเท้าซึ่งมีกลิ่นเหม็น บางกล่องมีค้างคาวอัดอยู่มากถึง 20 ตัว ตัวที่ยังมีชีวิตก็จะคลานอยู่บนตัวที่ตายแล้วด้วยโรคหรือความเครียด

“ความเชื่อที่ว่า เลือดค้างคาว มีฤทธิ์ในการรักษานั้นหยั่งรากลึกในสังคมมนุษย์มาช้านาน โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาแอนดีส” Luis F. Aguirre ผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งซาน ไซม่อน (University of San Simon) ในเมืองโกชาบัมบา ประเทศโบลิเวีย อธิบาย “ผมได้รับสายที่โทรมาเพื่อขอค้างคาวอย่างน้อยปีละ 5 ครั้ง”

Aguirre ไม่ได้มีธุรกิจค้าขายค้างคาวให้กับลูกค้ากระเป๋าหนัก เพราะตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี เขาทำงานเป็นผู้พิทักษ์ค้างคาวในตำแหน่งหัวหน้าโครงการอนุรักษ์ค้างคาวโบลิเวีย ซึ่งเป็นเครือข่ายของเหล่าอาสาสมัครและนักวิชาการมากมายที่ผลิตงานวิจัยและให้ความรู้กับผู้คนเรื่องความเข้าใจผิดๆ ที่มีต่อค้างคาว แต่ด้วยเขาเป็นคนที่ชื่นชอบค้างคาว ผู้คนต่างก็คิดว่า Aguirre จะสามารถจัดหาค้างคาวสดๆ มาให้พวกเขาได้

“มีครั้งหนึ่ง ผมได้รับสายจากชาวโบลิเวียที่อาศัยอยู่ฝรั่งเศสว่าเขาต้องการเลือดค้างคาวไปรักษาลูกที่เป็นโรคลมชัก” และเขาตอบโต้ไปทันทีว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันประโยชน์ทางการแพทย์ของเลือดค้างคาวได้และเขาไม่เห็นด้วยกับการรักษาในลักษณะนี้

แต่ความเชื่อก็ยังคงอยู่ แม้ว่าการล่าค้างคาวนั้นจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามกฎหมายโบลิเวียว่าด้วยการห้ามฆ่าหรือค้าขายสัตว์ป่าชนิดใดๆ โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต หากมีการกระทำผิดจะต้องได้รับโทษจำคุกสูงถึง 6 ปี กระนั้นงานวิจัยที่ Aguirre และเพื่อนร่วมงานได้รวมกันทำและเผยแพร่ในปี 2010 กลับชี้ให้เห็นว่า ยังคงมีการค้าค้างคาวเกิดขึ้น แค่ในสี่เมืองใหญ่ๆของประเทศก็ซื้อขายกันไปแล้วมากกว่า 3,000 ตัว สายพันธุ์ที่มีขายนั้นหลากหลาย ตั้งแต่ ค้างคาวผลไม้ ค้างคาวกินแมลง และค้างคาวแวมไพร์ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ค้างคาวดูดเลือด

ค้างคาวหลากหลายชนิดรวมไปถึงค้าวคาวแวมไพร์เหมือนอย่างเจ้าตัวนี้จำนวน 20 ตัวจะถูกอัดอยู่ในกล่องรองเท้าเดียวกันเพื่อนำไปขายต่อในตลาดโบลิเวีย
ภาพถ่ายโดย Joel Sartore, National Geographic Photo Ark

Aguirre บอกว่า จากการเฝ้าสังเกตโดยทั่วไปชี้ให้เห็นว่า ระดับการค้าขายค้างคาวในทุกวันนี้ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงและอาจสูงกว่าเดิมด้วยซ้ำถึงแม้อาชญากรรมต่อสัตว์ป่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นและยังมีแรงกดดันจากสาธารณะให้จัดการกับปัญหานี้ ทว่าความแตกต่างเดียวที่มีคือ ค้างคาวสมัยนี้ไม่ได้ปรากฏให้เห็นง่ายๆ เหมือนในอดีต “แต่การตามหามันก็ไม่ใช่เรื่องยาก” Aguirre กล่าว

ถึงการล่าค้างคาวจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย กระนั้นสิทธิที่จะทำการแพทย์แผนโบราณนั้นก็ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเช่นกัน เมื่อวิธีปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาช้านานและการปกป้องชีวิตสัตว์ป่านั้นเป็นสิ่งขัดแย้งกัน อันหลังมักจะเป็นรองเสมอ Kate McGurn Centellas นักมนุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี (The University of Mississippi) ผู้กำลังศึกษาการแพทย์แผนโบราณอยู่ในโบลิเวียกล่าว

มาจนถึงตอนนี้ ตามคำบอกเล่าของ Rodrigo Herrera ผู้ประเมินทางกฎหมายจากคณะกรรมการกรมความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่อนุรักษ์ หน่วยงานในกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ ยังไม่มีรายงานบันทึกการจับกุมใดที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าหรือค้าขายค้างคาวปรากฏให้เห็น ทางรัฐบาลโบลิเวียเองก็ไม่มีรายงานใดๆที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าค้างคาวนอกจากเหตุการณ์การค้าค้างคาวหลายสายพันธุ์จำนวน 22 ตัวเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ในปี 2015 ที่ กรุงลาปาซ เมืองหลวงของโบลิเวีย ซึ่งในเวลาต่อมาค้างคาวที่ยึดมาได้ ก็เสียชีวิตทั้งหมด

ฤทธิ์เลือดค้างคาว

ความเชื่อที่ว่าการดื่มเลือดค้างคาวจะช่วยรักษาโรคลมชักนั้นยากที่จะพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง ตามคำบอกเล่าของ Aguirre หากคนที่เป็นโรคลมชักได้ดื่มเลือดค้างคาวไปไม่มีอาการชักเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วกลับมามีอีกครั้ง เชื่อกันว่าอาจเป็นเพราะหมดฤทธิ์ของเลือด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าต้องได้รับเลือดเพิ่ม

วิธีปฏิบัตินี้มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและที่มาของคำเล่าลือเรื่องฤทธิ์ของเลือดค้างคาวนั้นยังคงไม่ชัดเจน ชาวโบลิเวียต่างมีความเชื่อทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้งต่อแพทย์แผนโบราณซึ่งรวมไปถึงการบูชายัญสัตว์และวิธีรักษาด้วยสมุนไพร อย่างเช่น การเรียกโชคดีมาที่บ้านหรือสถานที่ทดลองทางวิทยาศาสตร์จะต้องนำตัวอ่อนของลามาแห้งมาเผาแล้วนำเถ้าถ่านที่ได้มาฝังไว้ใต้อาคาร Centellas กล่าว เธอบันทึกไว้ว่าเลือดถูกมองว่าเป็นแหล่งพลังงานชีวิตที่แข็งแกร่ง หากบริโภคเข้าไป อาจถ่ายทอดคุณสมบัติบางอย่างของมันมาด้วยได้

มีค้างคาวอยู่หลายสายพันธุ์ อย่างเช่น ค้างคาวผลไม้หางสั้นของเซบา ที่ต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามมากมายในโบลิเวีย รวมไปถึงความต้องการบริโภคเลือดค้างคาวซึ่งชาวโบลิเวียบางคนเชื่อว่ามีฤทธิ์ในการรักษาโรค
ภาพถ่ายโดย Joel Sartore, National Geographic Photo Ark

สำหรับค้างคาว คุณค่าของพวกมันมาจากความจริงที่ว่าค้าวคาวถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงพลังด้วยคุณลักษณะอันโดดเด่น Centellas กล่าว “พวกมันบินได้ แต่กลับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งไม่สามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มไหนได้ จึงกลายเป็นที่มาของพลังในการรักษาของพวกมัน” และกล่าวเสริมว่า “บางที ด้วยการดื่มเลือดค้างคาวสามารถช่วยรักษาสิ่งดูเหมือนผิดปกติหรือไม่สมดุลในร่างกายมนุษย์ที่ปรากฏในรูปของการชักหรือที่เรารู้จักกันในระบบชีวการแพทย์ว่า โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู ให้ดีขึ้นได้”

โดยทั่วไปแล้ว ค้างคาวจะถูกจับแบบเป็นๆ ตัดหัวออก แล้วดื่มเลือดสดๆ ของมัน แต่ถ้าหากค้างคาวตายไปก่อน ทางเลือกที่สองก็คือ นำค้างคาวไปทอดโดยไม่ถอนขนออกและเก็บไว้ในถุงผ้าที่ต่อมาจะถูกเอาไปดองในแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในการดื่มต่อไป คล้ายกับเมซคาล (mezcal) เสิร์ฟพร้อมหนอนในขวด

Centellas ผู้ที่ยังไม่เคยได้เห็นการทำพิธีกรรมใดๆ กล่าวว่า จากที่เธอได้เห็นด้วยตัวเอง วิธีปฏิบัติสองวิธีนี้ดูสมเหตุสมผลกับตรรกะความคิดแล้วความเข้าใจของผู้คนในโบลิเวีย ยกตัวอย่างเช่น งู ก็ถูกนำไปดองกับแอลกอฮอล์แล้วดื่มในภายหลัง ด้วยความหวังว่าวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มสมรรถภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะสมรรถภาพทางเพศ

 

นักฆ่าค้างคาวตัวเอ้

ค้าวคาวที่มีการค้าขายอยู่นั้นไม่ได้หายากถึงขนาดต้องจัดอยู่ในหมวดสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งตามผลสำรวจตลาดของ Aguirre แล้ว อาจมีหลากหลายสายพันธุ์รวมไปถึง ค้าวคาวแวมไพร์ค้างคาวผลไม้ และ ค้างคาวกินแมลง เช่น ค้างคาวหูหนู

คนที่ขายค้างคาวเหล่านี้อยู่ในตลาดก็ไม่ได้ล่าพวกมันเอง จะมีพ่อค้าคนกลางไปจับตามที่ต่างๆที่ค้างคาวอยู่อย่าง บ้านร้าง ถ้ำ และบริเวณพื้นที่ป่า Aguirre กล่าว ซึ่งพวกเขามักจะใช้ตาข่ายเหมือนที่เอาไว้ใช้จับผีเสื้อเป็นอุปกรณ์ในการจับแล้วนำใส่ถุงผ้าหรือกล่องเพื่อขนส่งไปยังตลาดในเมือง

แม้เรื่องนี้จะฟังดูเลวร้าย การฆ่าค้างคาวเอาเลือดก็อยู่ห่างไกลจากความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของพวกมัน Rodrigo A. Medellín ประธานร่วมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญค้างคาวจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN: International Union for the Conservation of Nature) ซึ่งติดตามความเป็นไปของสายพันธุ์ต่างๆ กล่าว

“ความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดยังคงเป็นเรื่องการทำลายและการรบกวนแหล่งที่อยู่และที่พักพิง” Medellín ผู้ที่ทำงานเป็นนักสำรวจของเนชั่นแลจีโอกราฟฟิกกล่าว และเน้นมาในอีเมล์อีกว่า “โชคร้ายที่การหายไปของค้างคาวสามพันตัวไม่ได้ส่งผลร้ายแรงอะไรเมื่อเทียบกับอัตราการตายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยและการทำลายที่พักพิง”

การลดลงของจำนวนค้างคาวใดๆ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศเพราะขาดสัตว์ที่มีความสำคัญต่อการผสมเกสรของพืชและการกำจัดแมลง และการล่าค้างคาวเองก็ทำให้ชีวิตของมนุษย์ตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพร่เชื้อไวรัสของค้างคาวได้ที่วิดีโอข้างล่างนี้)

“พวกค้างคาวกินแมลงนั้นเก่งในเรื่องควบคุมพาหะนำเชื้อโรค เพราะพวกมันกินยุง และสัตว์ขาปล้องชนิดอื่นๆ ที่พกโรคร้ายหรือปรสิตเช่น โรคมาลาเรียที่ทำให้ผู้คนติดเชื้อ” Jonathan Towner นักนิเวศวิทยาด้านการเกิดโรคจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ที่นครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญเชื้อก่อโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรงกล่าว ด้วยการลดลงของจำนวนค้าวคาว จะทำให้แมลงจำพวกนี้มีจำนวนมากขึ้น เขาเน้น ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสที่ผู้คนจะติดโรคต่างๆ เช่น โรคไข้เหลือง โรคไข้ซิก้า หรือโรคมาลาเรียได้ง่าย

การไล่จับค้างคาวเองก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งความกังวลหลักคือ โรคพิษสุนัขบ้า อ้างอิงจาก Brian Bird นักวิทยาไวรัส สัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องค้างคาว จาก University of California Davis One Health Institute ค้างคาวที่ติดเชื้อและอยู่ในภาวะเครียดอย่างการถูกอัดอยู่ในกล่องเดียวกับค้างคาวตัวอื่นๆ อาจกัดบ่อยกว่าปกติซึ่งเป็นการแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าออกไป

ค้างคาวแวมไพร์ซึ่งพบได้เฉพาะในลาตินอเมริกา “เป็นตัวนำโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุด” Gerald Carter นักสำรวจของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกและผู้เชี่ยวชาญด้านค้าวคางแวมไพร์จาก มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต (Ohio State University) ในโคลัมเบีย กล่าว พวกมันกัดเพื่อดื่มเลือดและโรคพิษสุนัขบ้าถ่ายทอดด้วยการกัด ซึ่งจะเปิดทางให้ไวรัสเข้าไปอยู่ในสัตว์ที่มันกัด

สำหรับคนที่ดื่มเลือดค้างคาว ความเสี่ยงในการเป็นโรคพิษสุนัขบ้านั้นต่ำ เพราะไวรัสส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำลายหรือเนื้อเยื่อ เช่น สมอง ไม่ได้อยู่ในของเหลวร่างกายอื่นใด แต่ตัวก่อโรคอื่นๆ ซึ่งเป็นชนิดใหม่อาจอยู่ในเลือดค้างคาวสด ทาวเนอร์กล่าว และเสริมว่า การที่ค้างคาวตายลงเองต่างหากที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากค้างคาวที่ตายแล้วหรือค้างคาวที่ป่วยมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรค

(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับค้างคาวแวมไพร์ได้จากวิดีโอด้านล่างนี้)

ไม่มีบันทึกทางราชการใดๆ ที่เชื่อมโยงการดื่มเลือดค้างคาวเข้ากับผู้ป่วยชาวโบลิเวียเลย แต่นั้นอาจจะเป็นเพราะความไม่จริงจังในการสำรวจ Bird และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคนอื่นๆ กล่าว “เมื่อไหร่ที่คุณฆ่าและดื่มเลือดของสัตว์เหล่านี้ คุณจะเปิดให้ตัวเองสัมผัสกับตัวก่อโรคหลากหลายชนิด”

มีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ว่า ค้างคาวเป็นตัวก่อให้เกิดไวรัสใหม่ที่สร้างผลกระทบอันร้ายแรงต่อมนุษย์อย่างเช่น ไวรัสอีโบลา (Ebola)  ซาร์ส (Sars) และญาติของ อีโบลา อย่าง มาร์บวร์ก (Marburg) ซึ่งไวรัสแต่ละตัวที่กล่าวไปข้างต้นต่างก็เกิดจากการย้ายตัวของเหล่าตัวก่อโรคร้ายจากแหล่งที่อยู่เดิมทางธรรมชาติของมัน (สัตว์สายพันธุ์อื่น) ไปยังกลุ่มคนที่ไม่ค่อยพบเจอไวรัสเหล่านี้และมีภูมิคุ้มกันจากมันต่ำ ส่งผลให้การแพร่ของเชื้อกลายเป็นวิกฤติใหญ่หลวง

“เหตุของการแพร่ระบาดนั้นจริงๆ ก็คือการติดเชื้อที่หายากเช่นนี้เอง” Bird กล่าว “เป็นที่รู้กันว่าการติดเชื้อเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่มันกลับกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเมื่อมนุษย์คลุกคลีอยู่กับวิถีชีวิตที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงอย่างการบริโภคเนื้อคุณภาพต่ำ”


 

อ่านเพิ่มเติม

แค่แตะมูลค้างคาวอาจถึงตาย

Recommend