ทำไมลูกห่านเพรียงที่มีอายุเพียงแค่ 24 ชั่วโมงถึงต้องกระโดดหน้าผา

ทำไมลูกห่านเพรียงที่มีอายุเพียงแค่ 24 ชั่วโมงถึงต้องกระโดดหน้าผา

สาเหตุที่ ห่านเพรียง ตั้งถิ่นฐานอยู่บนหน้าผาสูงก็เพื่อที่จะหลบหลีกนักล่าอย่างสุนัขจิ้งจอก แต่พวกมันก็มีพฤติกรรมที่แปลก ทำไมทารกวัยแรกเกิดของพวกมันถึงต้องกระโดดหน้าผาที่สูงขนาดนั้น แม้ว่าจะมีอายุได้เพียงแค่ 1 วัน 

รู้หรือไม่ว่า ห่านเพรียง (barnacle goose) จัดเป็นอีกหนึ่งสัตว์ที่มีชีวิตอันยากลำบากเอามากๆ เพราะว่าพวกมันต้องต่อสู้กับอุณหภูมิอันหนาวเย็นในแถบอาร์กติก ไหนจะต้องปกป้องลูกๆ ของพวกมันจากเหล่านักล่าอย่างสุนัขจิ้งจอกอีก โดยวิธีหลบหลีกของพวกมันคือการหนีไปทำรังอยู่บนโขดหินและหน้าผาสูง แต่กลยุทธ์นี้ก็ยังมีข้อเสียคือ ทารกแรกเกิดของพวกมันจะต้องกระโดดหน้าผาสูงกว่าหลายร้อยฟุต เพื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิต..

(คลิปวิดิโอ ทำไมห่านเพรียงต้องกระโดดหน้าผาสูงด้วย)

24 ชั่วโมงหลังจากการฟักไข่ เหล่าลูกห่านทั้งหลายจะต้องออกจากรังเพื่อที่หาหญ้ากิน ซึ่งพ่อแม่ของพวกมันไม่สามารถหามาป้อนพวกมันได้

แต่ด้วยความที่อาหารของพวกมันทั้งหญ้าและน้ำสะอาด ไม่สามารถหาได้ในบริเวณที่มันอาศัยอยู่ ทำให้ลูกห่านต้องดิ่งออกจากรังสู่พื้นดินข้างล่างตามพ่อแม่ โดยปกติแล้ว ห่านเพรียงจะมีการวางไข่เพียงประมาณ 3-5 ฟองต่อปีเท่านั้น

ดูเผินๆ อาจจะเป็นการกระทำที่น่ากลัว แต่แท้จริงแล้วลูกห่านพวกนี้มีน้ำหนักที่เบามากจนถึงขนาดที่ทำให้พวกมันตกลงมากระทบพื้นดินแล้วแทบจะไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆ David Cabot ศาสตราจารย์วุฒิคุณของมหาวิทยาลัยคอร์กในประเทศไอร์แลนด์ กล่าว

“พวกมันมีน้ำหนักเบาและนุ่มนวลมาก ส่วนใหญ่แล้ว พวกมันมักจะชนกับก้อนหินเวลากระโดดลงมา” Cabot ผู้ที่เป็นคนแรกที่ถ่ายวีดิโอพฤติกรรมอันน่าทึ่งไว้เมื่อปี 1985 กล่าว “มีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ตายจากเหตุการณ์นี้ บางตัวอาจจะติดอยู่ระหว่างโขดหิน ธารน้ำหรือบางทีอาจจะโชคร้ายไปกระแทกกับหินคมก็มี”

อันตรายที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การกระโดดจากหน้าผาสูง หากแต่อยู่ที่พวกนักล่าอย่างสุนัขจิ้งจอกอาร์กติก และเหล่านกนางนวลมากกว่า พวกมันมักจะรอเวลาที่เหมาะสม จากนั้นก็จะ “ตะครุบลูกห่านให้ได้มากที่สุด” Cabot เสริม

กระนั้นเองพ่อแม่ของพวกลูกห่านเองก็พยายามที่จะไล่เหล่านกนางนวลและสุนัขจิ้งจอกไปไกลๆ แล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเลย เขากล่าว

ถิ่นอาศัยของห่านเพรียงมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 แห่ง คือกรีนแลนด์ตะวันออก (สถานที่ในคลิปข้างต้น) เกาะสฟาลบาร์ และเกาะโนวายาเซมเลีย

ดิ่งพสุธา 

Mateo Willis ผู้กำกับซีรีส์สารคดีเรื่อง Hostile Planet ของช่อง National Geographic ต้องใช้เวลากว่า 3 สัปดาห์ในการถ่ายทำฉากนี้ ห่านเหล่านี้ฟักไข่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ช่วงเวลาดังกล่าว พวกมันมีแนวโน้มที่จะฟักตัวแล้วหนีออกจากรังในเวลาไหนก็ได้ในช่วงระหว่าง หกโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม Willis กล่าว

กว่าจะได้มาซึ่งฉากดังกล่าว Willis และทีมของเขาต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา Willis รับหน้าที่เก็บภาพจากด้านบน ส่วนคู่หูที่เหลืออีกสองคนของเขาถ่ายจากข้างล่าง

“เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่คุณจะต้องรอ..รอ..แล้วก็รอ” Willis เผย

“ในช่วงระหว่างรอ คุณแทบจะเสียสติไปเลย” เขากล่าว เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว เขาและทีมงานแทบจะไม่ได้พักผ่อนกันเลย

“เป็นการถ่ายทำที่ท้าทายมาก” เขาเสริม “คุณต้องติดตามวัตถุสีเทาเล็กๆ นี้พร้อมกับก้อนหินสีน้ำตาลเทาจำนวนมากในอัตราความเร็วสูง และทันทีที่ห่านพวกนั้นชนกับอะไรสักอย่าง ทิศทางการตกของพวกมันจะเปลี่ยน”

Willis อธิบายว่า เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะคุ้นเคยกับความยากลำบากในเรื่องพฤติกรรมของสัตว์ หลังจากถ่ายทำฉากประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน แต่ชะตากรรมของห่านที่เพิ่งฟักตัวใหม่ ทำให้เขากลับรู้สึกแย่ทุกครั้งที่เห็น

ผู้รอดชีวิต

“นี่เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่คุณอดรู้สึกแย่และสงสารพวกห่านเหล่านี้ไม่ได้” Willis กล่าว และเนื่องจากเขาเองก็เป็นพ่อลูกสอง ทำให้เขารู้สึกสงสารพ่อแม่ของลูกห่านเหล่านั้นด้วย

กระนั้นเอง กลยุทธ์ที่รุนแรงและเสี่ยงนี้เห็นได้ชัดว่ามันได้ผล ลูกห่านจำนวนกว่าร้อยละ 90 มีชีวิตรอดจากการกระโดดหน้าผา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการมีตัวตนของนักล่าอย่างสุนัขจิ้งจอกและนกนางนวล ทำให้มีห่านที่รอดชีวิตจากการกระโดดเพียงครึ่งเดียว (หรือบางทีน้อยกว่านั้น) เท่านั้นที่ใช้ชีวิตไปถึงวัยหนุ่มสาวเพื่อที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นอย่างเกาะอายล่า (Islay) ของประเทศสกอตแลนด์

ห่านนับหมื่นตัวมักจะเดินทางไกลไปสถานที่ข้างต้นเพื่อกินหญ้า การอพยพครั้งใหญ่นี้ได้สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรท้องถิ่นเป็นอย่างมาก โดยพวกเขาอ้างว่าห่านพวกนี้ไปรบกวนการเลี้ยงปศุสัตว์และแกะ ทำให้รัฐบาลสกอตแลนด์ต้องอนุมัติมาตราการการฆ่าห่าน เริ่มบังคับใช้ครั้งแรกในปี 2010 โดยตอนนี้ห่านนับพันถูกฆ่าในแต่ละปี ตามการรายงานของ The Ferret สำนักข่าวของประเทศสกอตแลนด์

โดยปกติแล้วอัตราการเพิ่มขึ้นของห่านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่มาตรการข้างต้นก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประชากรห่านในบริเวณกรีนแลนด์ตะวันตกมีจำนวนประมาณ 70,000 ตัวจากการนับครั้งล่าสุดในปี 2018 ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 10 จากตัวเลขของปี 2013 ตามการรายงานขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Wildfowl & Wetland Trust ของประเทศอังกฤษที่ทำการสำรวจจำนวนประชากรสัตว์ปีกทุกๆ 5 ปี

ก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตาม ห่านเพรียงไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่เริ่มต้นชีวิตด้วยการกระโดดหน้าผาสูง

Isabella Scheiber นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเวียนนากล่าวว่า “นกน้ำหลายตัวก็ออกจากรังไปใช้ชีวิตด้วยวิธีนั้น ยกตัวอย่างเช่น เป็ดก่า ซึ่งปกติแล้วทำรังบนต้นไม้” ถึงแม้ดูเผินๆ จะเป็นการกระทำที่น่ากลัวและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแต่เธอเสริมว่า “วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ปลอดภัยมากๆ”

ตัวไหนที่ไม่ตามพ่อแม่ออกจากรังเมื่อถึงเวลา ส่วนใหญ่มักจะถูกทอดทิ้งแล้วก็ตายไปในที่สุด

เป็นเรื่องปกติที่ลูกห่านเพรียงจะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ทั้งหมด การศึกษาในปี 1998 เผยว่าห่านตัวผู้ “เผลอ” ชนลูกห่านของพวกมันเองตกหน้าผาโดยบังเอิญ อีกตัวหนึ่งถูกนกนางนวลจับตัวไป ส่วนตัวที่สามเสียชีวิตหลังจากกระโดดลงน้ำตก

เมื่อเอาสองเหตุการณ์มาเปรียบเทียบกันแล้ว ห่านเพรียงที่เป็นตัวเอกในซีรีส์สารคดีเรื่อง Hostile Planet นับว่าโชคดีอย่างมาก แล้วถ้าโชคเข้าข้างอีกสักนิด พวกมันอาจมีโอกาสกลับมาเจอหน้ากันพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อที่จะสืบพันธุ์กันต่อไปที่กรีนแลนด์

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม : น้ำแข็งละลายในกรีนแลนด์มีความหมายอะไรต่อโลก

Recommend