สุนัขสามารถตรวจจับถึงสารเคมีที่มนุษย์ปล่อยออกมาระหว่างมีอาการชัก

สุนัขสามารถตรวจจับถึงสารเคมีที่มนุษย์ปล่อยออกมาระหว่างมีอาการชัก

นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ากลิ่นที่มนุษย์ปล่อยออกมาระหว่างมี อาการชัก สามารถรับรู้ได้โดย..สุนัข

สัมผัสการดมกลิ่นของสุนัขทำให้พวกมันสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีเทคโนโลยีแขนงไหนของมนุษย์ทำได้ เช่น การดมหายาเสพติด วัตถุระเบิด หรือแม้แต่โรคภัยไข้เจ็บอย่างมะเร็ง ทั้งนี้สุนัขมักจะได้รับการฝึกฝนให้ตอบสนองและสัมผัสได้ถึงอาการลมชักในมนุษย์ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น แม้ว่าผลลัพธ์และประสิทธิภาพจะไม่ค่อยสม่ำเสมอสักเท่าไร อีกทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มาสนับสนุนการกระทำนี้ยังมีไม่มากพออีกด้วย โดยยังไม่มีใครทราบได้ว่าเพราะเหตุใดสุนัขถึงสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ บางทีอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของมนุษย์หรือเปล่าก่อนจะเกิดอาการชัก หรือว่าระหว่างก่อนเกิดมนุษย์ได้ส่งกลิ่นออกมาเป็นสัญญาณที่มีเพียงสุนัขเท่านั้นที่สามารถรับรู้ได้?

การศึกษาครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ปล่อยกลิ่นตัวที่มีความเฉพาะเจาะจงระหว่างอาการชัก โดยมีเพียงสุนัขบางตัวเท่านั้นที่สามารถรับรู้ได้ ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports นักวิจัยได้นำตัวอย่างเหงื่อจากผู้ป่วยทั้งหมด 7 คนที่ป่วยเป็นโรคลมชักประเภทต่างๆ ในภาวะกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นขณะพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือขณะกำลังมีอาการลมชัก จากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้วางตัวอย่างเหงื่อไว้ในกระป๋องและผลปรากฏว่ามีสุนัขทั้งหมด 5 ตัวที่สามารถรับรู้ได้ว่ากระป๋องในเป็นเหงื่อตัวอย่างของผู้ป่วยที่มี อาการชัก

ถือเป็นครั้งแรกเลยที่มีการเรื่องแบบนี้ปรากฏอยู่ในการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ว่า มนุษย์ปลดปล่อยสารเคมีบางอย่างที่มีกลิ่นระหว่างอาการลมชัก ซึ่งสารเคมีนั้น สุนัขสามารถตรวจจับได้ การศึกษาครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการทดสอบหรือการฝึกอบรมที่อาจช่วยให้สุนัขตอบสนองหรือตรวจจับอาการลมชักได้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น Amelie Catala ผู้นำการศึกษาครั้งนี้ อีกทั้งยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแรนส์ในประเทศฝรั่งเศส

การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ตัวอย่างเหงื่อในระหว่างอาการลมชัก ไม่ใช่ก่อนหน้าอาการจะเกิด แล้วก็ไม่ได้ระบุว่าสารเคมีเหล่านี้คืออะไร หรือพวกมันถูกปล่อยออกมาตอนไหนแต่อย่างใด

“การศึกษาประเภทนี้มีความสำคัญมาก เพราะมันจะเป็นรากฐานที่สำคัญในอนาคตสำหรับการค้นหาความสามารถที่แท้จริงของสุนัข ว่าสามารถตรวจจับอาการลมชักได้จริงหรือเปล่า และมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน” Kenneth Furton ศาสตราจารย์วิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยนานาชาติฟลอริดา ซึ่งเป็นผู้ศึกษาสุนัขและความสามารถในการรับรู้กลิ่นของพวกมัน โดยเขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้

โดยงานวิจัยของ Furton เองมีเป้าหมายมากกว่าการศึกษาครั้งนี้ เขากล่าวว่าในการศึกษาของเขา เขาได้พบกับสุนัขจำนวนมากที่สามารถตรวจจับอาการลมชักได้ตั้งแต่ 15-45 นาทีก่อนที่จะมีอาการเสียอีก ซึ่งเวลาขนาดนี้อาจมากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยกินยาเพื่อยับยั้งหรือลดความรุนแรงของอาการได้

เขาและนักศึกษาปริญญาเอกในทีมวิจัยอธิบายว่ามนุษย์จะปล่อยสารอินทรีย์ระเหยก่อนที่จะมีอาการชัก ซึ่งสารเหล่านี้สุนัขสามารถดมและรับรู้ได้

ขณะนี้มีหลายองค์กรที่ให้บริการ “สุนัขเตือนภัย” และ “สุนัขช่วยเหลือ” แต่ประสิทธิภาพก็ยังไม่มีความแน่นอน (สุนัขแบบแรกจะสามารถรับรู้ได้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการลมชัก ขณะที่สุนัขแบบหลังถูกฝึกมาเพื่อให้ความดูแลผู้ป่วยเมื่ออาการลมชักเกิดขึ้น) ขณะนี้ Furton กำลังสร้างมาตรฐานที่สามารถใช้ฝึกอบรมสุนัขให้สามารถตอบสนองหรือสัมผัสอาการลมชัก แต่ถึงอย่างไรในปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าทำได้จริง 100%

อาการชัก
สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์สีช็อคโกแลต

Gary Mathern ประธานการวิจัยที่เกี่ยวกับโรคลมชักของโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เน้นว่า การศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports นั้นยังไม่มีหลักฐานมากพอและจะไม่ส่งผลกระทบทันทีต่อสุนัขฝึกอบรม กระบวนการดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ยาก ค่าใช้จ่ายสูง และยังขาดความสม่ำเสมออยู่ แต่ข้อดีคือ การศึกษาครั้งนี้อาจนำไปสู่กลไลการตรวจจับอาการลมชัก หรือแนวคิดใหม่ในการศึกษาอาการเหล่านี้

สุนัขและประสาทการรับกลิ่นของพวกมันสมควรที่จะได้รับการวิจัยเพิ่ม Furton กล่าว ในบางกรณี สุนัขสามารถได้รับการฝึกฝนที่จะตอบสนองกับอาการชักในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทั้งนี้ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวสุนัขเองแล้วก็มนุษย์ด้วย ในบางรายอาจใช้เวลาที่นานกว่านี้

การศึกษาครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด และก็สมเหตุสมผลดีด้วย “คุณสามารถฝึกฝนสุนัขให้ตื่นตัวกับแทบจะทุกสถานการณ์” Furton ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสุนัขมาเกือบ 25 ปี กล่าวปิดท้าย

เรื่องโดย 

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : สุนัขบำบัดช่วยผู้ป่วยได้จริง แต่ตัวมันเองรู้สึกยังไง?

สุนัขบำบัด

Recommend