เมื่อมนุษย์ทุกข์ทน ช้างก็ทรมานเช่นกัน

เมื่อมนุษย์ทุกข์ทน ช้างก็ทรมานเช่นกัน

การลักลอบล่า ช้าง มีอยู่ทุกหนแห่งในแอฟริกา แต่การแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากระดับท้องถิ่น

Severin Hauenstein นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยไฟร์บูร์ก (University of Freiburg) ในประเทศเยอรมนีคาดเดาว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่มีการลักลอบล่า ช้าง เอางาในแทนซาเนีย กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจนในพื้นที่นั้นๆ ในตอนแรก Hauenstein คาดว่าซากช้างที่ตายจะกองอยู่ห่างจากฐานของผู้พิทักษ์ป่า แต่เขาและเพื่อนร่วมงานกลับไม่พบความเชื่อมโยงดังกล่าวในระบบนิเวศที่ Ruaha-Rungwa ซึ่งเป็นบริเวณที่ประชากรช้างลดจำนวนลงจาก 34,000 เชือกในปี 2009 เหลือเพียง 8,000 เชือกในปี 2014 แต่ในทางกลับกัน บางบริเวณอื่นๆ  พวกเขากลับพบว่าซากช้างที่ถูกล่าอยู่ใกล้กับฐานของผู้พิทักษ์ป่า จึงทำให้ Hauenstein คาดเดาต่อว่าผู้พิทักษ์ป่าในฐานเหล่านี้มีส่วนร่วมในการลักลอบล่าช้างด้วย

อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับพบว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวนั้นเป็นจริงในบริเวณที่มีผู้พิทักษ์สัตว์ ทำให้ Hauenstein และเพื่อนร่วมงานตระหนักว่าบางครั้ง รูปแบบของการล่าสัตว์ไม่อาจเข้าใจได้จากระดับทวีปหรือภูมิภาค แต่ต้องดูจากระดับท้องถิ่น

สิ่งนี้เองที่ทำให้เขาและผู้ร่วมวิจัยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) และมหาวิทยาลัยยอร์ก (University of York) ในสหราชอาณาจักร เปรียบเทียบอัตราการลักลอบล่าสัตว์ในพื้นที่ 53 แห่งในบริเวณแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ในแต่ละปีด้วยข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระดับท้องถิ่น โดยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการลักลอบล่าสัตว์มาจากการประเมินของผู้เหล่าเชี่ยวชาญจากโครงการ Monitoring the Illegal Killing of Elephants (MIKE) ซึ่งส่งข้อมูลให้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora หรือ CITES)

พวกเขาพบว่ามีสองปัจจัยที่มีอิทธิพลกับการลักลอบล่าในท้องถิ่นอย่างเกินความคาดหมาย โดยปัจจัยแรกคือความยากจน ซึ่งวัดจากอัตราการตายของทารก ข้อมูลชุดนี้มาจากสหประชาชาติ (UN) และศูนย์เครือข่ายข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์โลกนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University’s Centre for International Earth Science Information Network) และอีกปัจจัยคือการทุจริต ซึ่งเป็นข้อมูลจากองค์กรอิสระ Transparency International และตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์ลงในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2019

“สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ทั้งความยากจนและการทุจริตมีความเชื่อมโยงกับการลักลอบล่าสัตว์ในท้องที่มากกว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เพียงพอ” Hauenstein กล่าว และเสริมว่า “สำหรับพวกเรา ดูเหมือนว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่ปัญหานี้จะแก้ได้ด้วยการเพิ่มการรักษากฎหมายเพียงอย่างเดียว” แต่เขาก็เน้นย้ำอย่างรวดเร็วด้วยว่านี่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีการให้ความสำคัญกับการรักษากฎหมายเป็นอันดับแรก “[เพียงแต่] ยังมีเรื่องอื่นที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญด้วย” พูดง่ายๆ ว่า มีบางที่ที่การเน้นความสำคัญสำหรับการบรรเทาความยากจนหรือการลดการทุจริต เป็นสิ่งที่รอบคอบกว่า [การเพิ่มการรักษากฎหมาย]

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการวิจัยเหล่านี้จะดูเป็นหลักฐานในตัวของมันเอง ความพยายามลดการลักลอบล่าสัตว์ยังเน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นส่วนใหญ่ เขากล่าว

ผู้ชายคนหนึ่งลูบหนังที่แห้งกรังของช้างแอฟริกาอย่างระมัดระวัง ในอุทยานแห่งชาติ Bouba Ndjidah ประเทศแคเมอรูน
ภาพถ่ายโดย BRENT STIRTON, NATIONAL GEOGRAPHIC/GETTY IMAGES

“แม้จะมีแผนและโครงการเพื่อบรรเทาความยากจนมากมายในแถบชนบทในแอฟริกา บางครั้งโครงการพัฒนาชุมชนอาจทำลายเป้าหมายของการอนุรักษ์สัตว์ได้” George Wittemyer นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด สมาชิกของกลุ่มผู้ชำนาญการด้านช้างแอฟริกาแห่งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (African Elephants Specialist Group for the International Union for Conservation of Nature (IUCN) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดสถานะการอนุรักษ์สัตว์แต่ละสายพันธุ์ และประธานด้านวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอิสระ Save the Elephants กล่าว

“หากคุณให้บริการด้านน้ำ หรือการศึกษา หรือสาธารณสุขใกล้กับพื้นที่ป่า มันจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” เขาอธิบาย นอกจากนี้ การทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าถูกแปรสภาพเพื่อการใช้งานแบบอื่น ทำให้มีความเสี่ยงของทั้งการทำลายป่าและการเจอสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์

นอกจากนี้ แม้มักมีการกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าการจัดตั้งโครงสร้างเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่นซาฟารีเพื่อการถ่ายภาพและการล่าสัตว์ใหญ่ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด อาจมีประโยชน์สำหรับทั้งสัตว์ป่าและผู้คน แต่ Hauenstein กล่าวว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเม็ดเงินจากการลงทุนเหล่านี้จะช่วยเหลือผู้ที่ต้องลักลอบล่าสัตว์ด้วยความจำเป็นด้านรายได้ได้เสมอไป

อย่างไรก็ตาม มีหลายแห่งที่ดูเหมือนโครงการดังกล่าวจะได้ผล เช่นในประเทศนามิเบีย ซึ่งโครงการที่มีมากว่า 23 ปีอย่าง Community-Based Natural Resource Management (CBNRM) มอบสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติซึ่งรวมถึงสัตว์ป่าให้กับชุมชน และมอบสิทธิทางกฎหมายสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวและการล่าสัตว์ให้ชุมชนเหล่านั้น โดยโครงการดังกล่าวมักเป็นที่กล่าวขานว่าเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสัตว์และผู้คน

สำหรับการลักลอบล่าสัตว์ในพื้นที่ทั้ง 53 แห่ง นักวิจัยด้านช้างที่ส่งข้อมูลให้ CITES พบว่า อัตราการตายของช้างจากการลักลอบล่าโดยเฉลี่ยลดลงจากร้อยละ 10 ในปี 2011 ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุด เหลือต่ำกว่าร้อยละ 4 ในปี 2017 และในขณะเดียวกัน IUCN รายงานว่าช้างแอฟริกากำลังเพิ่มจำนวนขึ้น

Hauenstein กล่าวว่าดูเหมือนแนวโน้มทั้งสองบ่งชี้ว่าสถานการณ์สำหรับช้างสะวันนาในแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้นั้นดีขึ้น แต่ความเสี่ยงสำหรับช้างป่าในแอฟริกากลางและตะวันตกยังคงสูงอยู่ และเสริมว่า หากจำนวนการลักลอบล่าสัตว์ที่ลดลงเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่ถดถอยในจีน แนวโน้มดังกล่าวอาจกลับทิศได้ยอย่างง่ายดาย “วิกฤตการณ์นี้ยังไม่จบ”

อนาคตของช้างแอฟริกาเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ชนบทของทวีปดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายครั้งที่พวกเขาต้องรับผลกระทบของการอยู่ร่วมกับสัตว์ใหญ่ที่อันตรายโดยแทบไม่ได้รับประโยชน์จากการอยู่ร่วมกัน ดังนั้น การแก้ไขวิกฤตการณ์เกี่ยวกับช้างอาจหมายถึงการมองปัญหาจากมุมมองทางสิทธิมนุษยชนหรือความยุติธรรมทางสังคม มากกว่าการอนุรักษ์สัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว Maxi Louis ผู้อำนวยการของสมาคมองค์กรสนับสนุน CBNRM แห่งนามิเบีย (Namibian Association of CBNRM Support Organizations) กล่าว

เรื่อง JASON G. GOLDMAN


อ่านเพิ่มเติม มารู้จักกับ งาช้าง และ ช้างเริ่มปรับตัวกันกับการล่าเอางาได้แล้ว

Recommend