เปิดบัญชีแดง สิ่งมีชีวิต 31 สายพันธุ์ล่าสุดที่ สูญพันธุ์ จากโลกไปแล้วตลอดกาล

เปิดบัญชีแดง สิ่งมีชีวิต 31 สายพันธุ์ล่าสุดที่ สูญพันธุ์ จากโลกไปแล้วตลอดกาล

บัญชีแดง: สิ่งมีชีวิต 100,000 ชนิด อยู่ในภาวะเสี่ยง สูญพันธุ์ และ 31 สายพันธุ์ ล่าสุด! ที่ สูญพันธุ์ อันตรธานจากโลกไปแล้วตลอดกาล

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เปิดเผยข้อมูลส่งท้ายปี 2020 ด้วยรายชื่อสิ่งมีชีวิต 31 สายพันธุ์ ล่าสุด ใน Red List ที่สูญพันธุ์จากโลกไปแล้วอย่างถาวร ประกอบไปด้วย

  • 1 สายพันธุ์ฉลาม แห่งทะเลจีนใต้
  • 15 สายพันธุ์ปลาน้ำจืดถิ่นเดียว แห่งประเทศฟิลิปปินส์
  • 3 สายพันธุ์กบ แห่งทวีปอเมริกากลาง
  • 1 สายพันธุ์ค้างคาว แห่งประเทศออสเตรเลีย
  • 11 สายพันธุ์พืชจากทั่วโลก

Red List หรือบัญชีแดง ตั้งขึ้นในปี 1964 เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุด เกี่ยวกับสถานะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ประกอบไปด้วยจำนวนประชากรที่หลงเหลืออยู่ สภาพความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่อาศัย ภัยคุกคามด้านต่าง ๆ รวมถึงการเคลื่อนไหวในการปกป้องการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นั้น ๆ ที่ผ่านมา

การสูญเสียครั้งใหญ่ในปี 2020

ฉลาม Lost (Carcharhinus Obsoletus) มีถิ่นที่อยู่บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการทำประมงเกินขนาดมานานนับศตวรรษ ฉลามสายพันธุ์นี้ได้รับการบันทึกว่าพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1934 จึงเป็นไปได้ว่าปัจจุบันพวกมันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว

ปลาน้ำจืดถิ่นเดียวที่พบเฉพาะในทะเลสาบ Lanao ประเทศฟิลิปปินส์ สูญพันธุ์ไปแล้ว 15 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 17 สายพันธุ์ จากการรุกรานของสัตว์น้ำเอเลียนที่ถูกชาวบ้านนำมาปล่อย และจากการทำประมงเกินขนาดด้วยเครื่องมือชนิดทำลายล้าง จนไม่เหลือพื้นที่ให้ปลาและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำได้เติบโต

สูญพันธุ์, Red List, บัญชีแดง, IUCN, สัตว์สูญพันธุ์
สัตว์น้ำสายพันธุ์เอเลียนจากทะเลสาบ Lanao ที่ชาวประมงจับได้จำนวนมาก ภาพถ่ายโดย Armi G. Torres, IUCN

กบ 3 สายพันธุ์ ในทวีปอเมริกากลางได้รับการประกาศว่าสูญพันธุ์ ในเวลาเดียวกันกบอีก 22 สายพันธุ์ ทั่วอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ก็ถูกระบุว่าเข้าใกล้การสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต โดยสาเหตุหลัก ๆ มาจากโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อรา (Batrachochytrium Dendrobatidis) เข้าไปทำลายผิวหนังของสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก จนเป็นสาเหตุนำไปสู่ความตายของพวกมันในที่สุด

กบมากมายตายจากโรคติดต่อเชื้อรา ภาพถ่ายโดย Joel Sartore, NAT GEO IMAGE COLLECTION

นอกจากนี้ ยังมีโลมา Tucuxi (Sotalia Fluviatilis) โลมาน้ำจืดที่พบบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน ได้รับการประกาศว่าใกล้สูญพันธุ์ จากการตายเป็นจำนวนมากด้วยเครื่องมือประมงและมลภาวะทางน้ำ ทำให้ตอนนี้โลมาน้ำจืดทุกสายพันธุ์ที่หลงเหลืออยู่ในโลก ถูกระบุเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ใน Red List ทั้งหมด

สูญพันธุ์, Red List, บัญชีแดง, IUCN, สัตว์สูญพันธุ์
Tucuxi ได้รับฉายาว่าโลมาสีเทาขนาดเล็ก ภาพถ่ายโดย Fernando Trujillo, IUCN

หนทางที่จะทำให้สถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของเหล่าโลมาน้ำจืดพ้นวิกฤตได้ นั่นคือการออกกฏหมายห้ามขึงม่านอวนในน้ำ ห้ามจับโลมาอย่างเด็ดขาด และลดจำนวนเขื่อนในพื้นที่อยู่อาศัยของพวกมัน

ในขณะเดียวกันโอ๊ก 113 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 430 สายพันธุ์ทั่วโลก รวมถึงพืชตระกูล Protea ซึ่งเติบโตในซีกโลกใต้ ประกอบไปด้วย 3 สายพันธุ์ และแมคคาเดเมีย ก็ถูกประกาศเป็นพืชเปราะบางใกล้สูญพันธุ์อย่างมากเช่นกัน จากการแพร่กระจายของพืชสายพันธุ์เอเลียน วัฏจักรไฟป่าผิดเพี้ยนจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ และแหล่งอาศัยในผืนป่าที่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว

สูญพันธุ์, Red List, บัญชีแดง, IUCN, สัตว์สูญพันธุ์
ภัยคุกคามพืชพันธุ์ดั้งเดิมในผืนป่าคือ สายพันธุ์เอเลียนและมนุษย์ ภาพโดย Bronwen Jean Keighery, IUCN

Red List บัญชีแดงชี้ความอยู่รอดของโลก

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โลกสูญเสียประชากรสัตว์ป่าไปมากกว่า 68 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันก็ถูกคุกคามอย่างหนัก เพื่อสร้างพื้นที่เกษตรกรรมและป้อนโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ให้มนุษย์บริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง

ความน่ากังวลที่มนุษย์อาจคาดไม่ถึงและจะกระทบความเป็นอยู่ของพวกเราอย่างแน่นอน คือการลดลงอย่างต่อเนื่องของแมลงผสมเกสร รวมถึงการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในดิน ซึ่งเป็นตัวเร่งการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ และกระทบต่อเนื่องไปยังความสามารถในการผลิตอาหารของมนุษยชาติในอนาคต

ความขัดแย้ง
กวางผาเหล่านี้อาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นทิวเขา ตั้งแต่ภาคตะวันออกของรัสเซีย, ตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ไปจนถึงเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ พวกมันเป็นสัตว์ที่มีสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ จาก IUCN Red List

IUCN จึงจัดระดับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สิ่งมีชีวิตใน Red List ออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ระดับใกล้ถูกคุกคาม หรือ NT (Near Threatened) ไปจนถึงระดับใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ หรือ EN (Endangered) และระดับสูญพันธุ์โดยสมบูรณ์ โดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการตายของสัตว์ตัวสุดท้าย หรือ EX (Extinct)

ดังนั้น Red List จึงเป็นมากกว่าบัญชีข้อมูล แต่คือเครื่องมือทรงพลังในการบอกเล่าและกระตุ้นการเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกลุ่มคนและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของหน่วยงานโลกและท้องถิ่น

จนถึงปัจจุบัน IUCN ดำเนินการประเมินสถานะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 128,918 สายพันธุ์ ครอบคลุมตั้งแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตวครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ปีก ไปจนถึงแนวปะการัง พืช และเชื้อรา โดยจัดให้ 35,765 สายพันธุ์ ในจำนวนนั้นอยู่ในสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามอย่างหนักและเสี่ยงสูญพันธุ์ของ Red List

ประเทศไทยและความหลากหลายทางชีวภาพ

หนึ่งในภัยคุกคามที่น่ากังวลที่สุดในปัจจุบัน คือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทั่วโลกกำลังถูกคุกคามด้วยหลากหลายปัจจัย ตั้งแต่มหากาฬไฟป่าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ไปจนถึงการบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัย และการลักลอบค้าสิ่งมีชีวิตอย่างผิดกฎหมายโดยฝีมือมนุษย์

ความหลากหลายทางชีวภาพ คือรากฐานที่สำคัญที่สุดของการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกตั้งแต่พืชพรรณ สัตว์น้อยใหญ่ รวมไปจนถึงเชื้อรา ล้วนดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลกันเป็นโครงข่ายห่วงโซ่อาหารที่ค้ำจุนกันเป็นระบบนิเวศ

David Attenborough นักประวัติศาสตร์ธรรมชาติชื่อดังวัย 90 ปี นักสำรวจรุ่นบุกเบิกที่เดินทางไปทั่วโลก เพื่อถ่ายทอดความอัศจรรย์ของธรรมชาติตั้งแต่ปี 1960 เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชั่วชีวิตของเขา พบว่าความหลากหลายทางชีวภาพนั้นถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว จากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และการแผ้วถางเพื่อก่อร่างเป็นสังคมเมือง ซึ่งได้ดูดกลืนทรัพยากรธรรมชาติไปในอัตราที่รวดเร็วที่สุด นับจากวันที่โลกถือกำเนิดขึ้น

พรุโต๊ะแดง, ป่าพรุ
พรุโต๊ะแดง เป็นป่าพรุขนาดใหญ่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของเมืองไทย ภาพถ่ายโดย ปิ่น บุตรี

ในขณะที่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตมากที่สุดในโลก ประกอบไปด้วยพืชพรรณมากกว่า 10,000 ชนิด ปลา 2,800 ชนิด นก 980 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 300 ชนิด  สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก 490 ชนิด และจุลินทรีย์ถึง 150,000 ชนิด โดยบรรพบุรุษท้องถิ่นของเราเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากความหลากหลายนี้มาตลอดประวัติศาสตร์

แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปี 2559 ระบุว่า สัตว์มีกระดูกสันหลังจำนวน 569 สายพันธุ์ ในไทย กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก และ 8 สายพันธุ์ ในนั้นคือ สมัน กูปรี กระซู่ แรด นกพงหญ้า นกช้อนหอยใหญ่ นักหัวขวานด่างหน้าผาดเหลือง และปลาหวีเกศ มีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้วตลอดกาล

โลกยังมีหวังเสมอ

อย่างไรก็ตามท่ามกลางข่าวร้ายในปี 2020 ยังมีข่าวดีของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ที่หลุดพ้นจากความเสี่ยงสูญพันธุ์ในระดับวิกฤต จากการทำงานอย่างหนักของนักอนุรักษ์ รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูและเพิ่มจำนวนเพื่อนำสายพันธุ์เหล่านั้นกลับคืนมา

กบ Oaxaca Treefrog (SarcohylaCelata) คืออีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ประกาศว่ารอดพ้นสภาวะวิกฤตสูญพันธุ์ในปีนี้ จากการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งเพื่อฟื้นฟูแหล่งอาศัยของพวกมัน โดยชุมชนพื้นเมืองในประเทศเม็กซิโก

นอกจากนี้ยังมี วัวป่าไบซันยุโรป (Bison Bonasus) ที่เพิ่มประชากรจาก 1,800 ตัว ในปี 2003 เป็น 6,200 ตัว ในปี 2019 โดยก่อนหน้านี้ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทวีปยุโรปไม่มีวัวป่าไบซันเหลือรอดชีวิตอยู่ตามธรรมชาติเลย มีเพียงกลุ่มที่ถูกเลี้ยงไว้โดยมนุษย์เท่านั้น จนกระทั่งปี 1950 พวกมันจึงถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และประสบภาวะใกล้สูญพันธุ์จากการล่า ก่อนจะเพิ่มจำนวนประชากรกลับมาได้สำเร็จในประเทศโปแลนด์ เบลารุส และรัสเซีย

สูญพันธุ์, Red List, บัญชีแดง, IUCN, สัตว์สูญพันธุ์
วัวป่าไบซันยุโรป พ้นวิกฤติ สูญพันธุ์ แต่หนทางในการอนุรักษ์ภัยคุกคามระยะยาวต่อพวกมัน ยังคงอีกยาวไกล ภาพถ่ายโดย Rafal Kowalczyk, IUCN

แต่อย่างไรก็ตามฝูงวัวป่าไบซันเหล่านี้ ยังถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้ถูกคุกคาม เนื่องจากแต่ละฝูงอาศัยอยู่ห่างไกลกันมาก และแหล่งที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ป่าที่เหมาะสมสำหรับพวกมัน ดังนั้นมาตรการอนุรักษ์ต่อจากนี้ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการย้ายถิ่นพวกมันไปยังพื้นที่ ๆ เหมาะสมยิ่งขึ้น และการลดความขัดแย้งด้านที่อยู่อาศัยกับพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์

สูญพันธุ์, Red List, บัญชีแดง, IUCN, สัตว์สูญพันธุ์
ฝูงวัวป่าไบซันยุโรป ไม่สามารถหาอาหารในป่าได้ พวกมันต้องการเปิดที่เปิดโล่ง จึงมักปะทะเข้ากับเกษตรกร ภาพโดย Rafal Kowalczyk, IUCN

ความท้าทายนับจากนี้คือเราจะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้อย่างไรในวันที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นพร้อมๆกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการถลุงใช้ทรัพยากรอย่างหนักตลอดหลายร้อยปีของบรรพบุรุษที่ปรากฏชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มองผลกระทบอย่างรอบด้าน จึงน่าจะเป็นหนทางเดียวที่ในการนำพามนุษยชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตนี้ไปได้ ในเจเนอเรชันของเรา

สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : การสูญพันธุ์ : เราสูญเสียอะไรไป เมื่อชนิดพันธุ์อันตรธาน

Recommend