อะจึ๋ย! เต่าสองหัว มันจะรอดไหมนี่?

อะจึ๋ย! เต่าสองหัว มันจะรอดไหมนี่?

โดย ซาร่าห์ กิบเบนส์

ในระหว่างการตรวจสอบรังของเต่าหัวค้อนที่เพิ่งจะฟักออกจากไข่ นักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยเซ็นเตอร์ ฟลอริดาพบเข้ากับลูกเต่าตัวหนึ่งที่กำลังดิ้นรนเร่งความเร็วไปยังทะเลให้ทัน ก่อนที่มันจะตกเป็นเหยื่อของนักล่า แต่แล้วเมื่อเข้าไปมองใกล้ๆ กลับพบว่าเจ้าเต่าตัวนี้มีอวัยวะที่เกินมา นั่นคือหัวอีกหนึ่งหัว

ไข่เต่าหลายพันฟองถูกฟักเรียงรายตามชายหาดความยาว 29 ไมล์ ที่ซึ่งทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ได้ นอกจากนั้นที่ฟลอริดายังเป็นสถานที่รวมกลุ่มของเต่าหัวค้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย เมื่อปี 2016 มีรังของเต่าหัวค้อนมากถึง 122,000 รังถูกวางตามแนวชายฝั่งของรัฐ

“มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบลูกเต่าที่มีพัฒนาการผิดปกติ” เคธี่ แมนไฟลด์ ผู้บริหารกลุ่มวิจัยเต่าทะเลของมหาวิทยาลัยกล่าว “ในอาชีพของฉัน ฉันเคยเห็นอะไรแบบนี้แค่ครั้งเดียว”

ทั้งนี้เต่าหัวค้อนเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกาและสหภาพนานาชาติ โดยถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่กำลังจะสูญพันธุ์

 

มันจะมีชีวิตรอดไหม?

นักศึกษาผู้พบเต่าตัวดังกล่าวได้ปล่อยมันไป และดูเหมือนว่ามันจะมีสุขภาพแข็งแรงดีจากการคลานไปหาน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว “เป็นไปได้ว่ามันอาจจะเอาตัวรอดได้ แต่โอกาสก็มีต่ำมาก” แมนไฟลด์กล่าว ผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการกลายพันธุ์ของยีนน่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกตินี้ขึ้น

อัตราการรอดของลูกเต่านั้นต่ำมาก รายงานจากองค์กรอนุรักษ์เต่าทะเล อัตราการรอดของพวกมันอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 ถึง 1 ต่อ 10,000 กว่ามันจะเติบโตเป็นเต่าที่โตเต็มวัยได้

เต่าต้องเผชิญกับอันตรายตลอดการเดินทางของมัน ไม่ว่าจะเป็นอวนหาปลา, การพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเองที่ล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเต่าหัวค้อน

เมื่อถามแมนไฟลด์ว่า เธอเคยพบกับเต่าโตเต็มวัยที่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือไม่ เธอกล่าวว่ากรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา ปกติแล้วเต่าทะเลที่ทีมนักวิจัยพบมักเป็นเต่าตัวเมียที่ขึ้นมาวางไข่ มีบ้างที่พวกเขาพบว่าเต่าบางตัวมีเปลือกหลุดบิดเบี้ยว แต่ทั้งหมดก็เป็นอาการจากการได้รับบาดเจ็บ ไม่ใช่ความผิดปกติทางกายวิภาคแต่อย่างใด

“การบาดเจ็บจากเรือหรือนกกระเรียนสามารถพบได้ตามปกติ” เธอกล่าว

 

สองหัวดีกว่าหัวเดียว

เต่าจากฟลอริดาไม่ใช่เต่าตัวแรกที่ความผิดปกติของมันส่งผลให้เป็นที่โด่งดังบนโลกออนไลน์ ในปี 2013 เต่าพันธุ์เท็กซัส รีเวอร์ คูตเตอร์ที่มีสองหัวฟักออกมาจากไข่ ในสวนสัตว์ซาน อันโตนิโอ มันมีชื่อเล่นว่าเทลมาและหลุยส์ แต่ทว่าเจ้าเต่ามีอายุได้เพียงปีเดียว ก็ตายลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

ในระหว่างที่มันยังมีชีวิต ทางสวนสัตว์กล่าวว่า เจ้าเต่าต้องทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตจากภาวะโพลีเซฟาลี (Polycephaly) คือการพัฒนาในระยะตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ส่งผลให้เกิดภาวะสองหัวขึ้นในสัตว์ จำนวนของการแพร่หลายภาวะนี้ยังคงเป็นปริศนา อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวมักพบในสัตว์จำพวกงูและเต่าเป็นส่วนใหญ่

 

อ่านเพิ่มเติม : การอพยพขนาดใหญ่สุดของสัตว์เกิดขึ้นทุกวัน แค่เรามองไม่เห็นเต่าทะเลติดแหได้รับการช่วยเหลือ

Recommend