คืนแพนด้าสู่ธรรมชาติ

คืนแพนด้าสู่ธรรมชาติ

คืน แพนด้า สู่ธรรมชาติ

ฉันนั่งยองๆ หลบอยู่ในพงหญ้าเพื่อจะได้เห็นเจ้าตัวที่กำลังเดินโงนเงนมาทางฉันให้ใกล้ยิ่งขึ้น แพนด้า เพศเมียตัวนี้อายุราวสี่เดือน ขนาดเท่าลูกฟุตบอล เนื้อตัวคงนุ่มนิ่มและหอมแบบลูกหมีน้อย จนฉันนึกอยากคว้าตัวมันขึ้นมากอดแน่นๆเสียเหลือเกิน

ความน่ารักน่าเอ็นดูนี้เองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ แพนด้า โด่งดังไปทั่วโลก ทั้งในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เครื่องจักรทำเงิน และความภาคภูมิใจของชาติจีน ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ยังมีหมีเอเชียชนิดนี้หลงเหลืออยู่ ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองความพยายามอย่างยิ่งยวดของจีนที่จะทำให้แพนด้าไม่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

แพนด้ายักษ์เป็นยอดนักปรับตัว “มนุษย์เราคุ้นเคยกับการปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับความต้องการครับ” จางเหอหมิน ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์ของจีน กล่าว เขาเป็นผู้ดูแลศูนย์แพนด้าสามแห่ง ได้แก่ ศูนย์ปี้เฟิงเสีย ศูนย์ตูเจียงเยี่ยน และศูนย์อั้วหลง “แต่แพนด้าจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม”

แพนด้า
เย่เย่ แพนด้ายักษ์วัย 16 ปี นอนเอกเขนกอยู่ในบริเวณป่าที่มีรั้วล้อมของศูนย์อนุรักษ์แห่งหนึ่งในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติอั้วหลง ชื่อของมันประกอบด้วยตัวอักษรที่หมายถึงประเทศญี่ปุ่นและจีน เป็นการฉลองมิตรภาพระหว่างสองประเทศ

เวลาและความจำเป็นคือปัจจัยที่ค่อยๆปรับให้แพนด้าอยู่รอดในถิ่นอาศัยที่มีลักษณะเฉพาะอย่างมาก กระนั้น แพนด้าซึ่งหากว่ากันตามดีเอ็นเอแล้วคือหมีที่แท้จริง ยังคงมีโครงสร้างเหมือนเครือญาติสัตว์กินเนื้อของมัน นั่นคือมีเขี้ยวสำหรับฉีก  และมีเอนไซม์สำหรับย่อยเนื้อ แต่เนื่องจากหลักฐานในบันทึกฟอสซิลยังมีช่องโหว่ ช่วงเวลาที่มันแยกสายวิวัฒนาการออกจากหมีชนิดพันธุ์อื่นจึงยังไม่ชัดเจน กระดูกที่ได้จากถ้ำในประเทศจีนชี้ว่า แพนด้ายักษ์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันมีอายุอย่างน้อยสองล้านปี

ช่วงเวลาที่แน่ชัดและสาเหตุที่ทำให้แพนด้ากลายเป็นสัตว์กินพืชยังเป็นที่ถกเถียง แต่ระยะเวลาอันยาวนานของการปรับตัวทำให้แพนด้าในปัจจุบันมีเครื่องมือพิเศษบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งรวมถึงฟันกรามที่แบนสำหรับบดเคี้ยว และส่วนที่ยื่นออกมาจากกระดูกข้อเท้าหน้าคล้ายนิ้วหัวแม่มือ ช่วยในการจับต้นไผ่ แต่ที่น่าสนใจก็คือ มันกลับขาดจุลินทรีย์พิเศษใดๆในลำไส้สำหรับย่อยไผ่ซึ่งเป็นอาหารร้อยละ 99 ของมัน แพนด้าจึงต้องกินพืชวันละ 9 ถึง 18 กิโลกรัมเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ

นักวิจัยพยายามนับจำนวนแพนด้าในธรรมชาติมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ตอนนั้นคิดว่าน่าจะมีอยู่ราว 2,500 ตัว ตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างฮวบฮาบในทศวรรษ 1980 ส่วนหนึ่งมาจากการออกดอกและยืนต้นตายพร้อมๆกันของไผ่ตามวัฏจักรธรรมชาติ

แพนด้า
ลูกหมีวัยสามเดือนนอนหลับอุตุอยู่ในแผนกอนุบาลแพนด้าแรกเกิดที่ปี้เฟิงเสีย แม่หมีที่ตกลูกแฝดมักไม่สามารถดูแลลูก ทั้งสองตัวได้เท่ากัน ผู้ดูแลจึงลดภาระด้วยการสลับลูกหมีให้แม่หมีเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกทั้งสองตัวได้รับการดูแลจาก ทั้งคนและแม่หมีอย่างทั่วถึง

การสำรวจล่าสุดของรัฐบาลจีนเมื่อปี 2014 รายงานว่า มีแพนด้าในธรรมชาติ 1,864 ตัว แต่มาร์ก โบรดี ผู้ได้รับทุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และเป็นผู้ก่อตั้งแพนด้าเมาน์เทน (Panda Mountain) องค์กรอนุรักษ์ที่ไม่แสวงกำไร กล่าวเตือนว่า “เราเพิ่งเริ่มนับจำนวนแพนด้าได้ดีขึ้นเท่านั้นครับ” นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบจำนวนแพนด้าระหว่างทศวรรษต่างๆ เพราะขอบเขตและวิธีการสำรวจเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ยังรวมการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากมูลของแพนด้าเข้ามาด้วย

ในระหว่างนี้ จีนทุ่มเทให้กับการขยายพันธุ์หมีซึ่งเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของชาติในสถานเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง แต่ประสบความล้มเหลวเสียมากในช่วงปีแรกๆ (จนถึงปลายทศวรรษ 1990) ทั้งในขั้นตอนการผสมพันธุ์และการเลี้ยงดูลูกหมีให้มีชีวิตรอด

ด้วยความช่วยเหลือจากต่างประเทศทำให้จีนเปลี่ยนแนวทาง ทุกวันนี้ “แพนด้าเป็นสัตว์ในสถานเพาะเลี้ยงที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากที่สุดชนิดหนึ่งครับ” โจนาทาน บอลลู นักพันธุศาสตร์จากสถาบันสมิทโซเนียน บอก เขาเป็นผู้กำหนดขั้นตอนการทำงานซึ่งปัจจุบันจีนนำมาใช้ในการตัดสินใจเรื่องการขยายพันธุ์แพนด้า

แพนด้าในธรรมชาติผสมพันธุ์โดยไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยอาศัยวัฏจักรตามธรรมชาติ การทำเครื่องหมายด้วยกลิ่น การส่งเสียงเรียกหาคู่ผสมพันธุ์ และความสัมพันธ์ทางสังคมอันซับซ้อนซึ่งส่วนใหญ่ไม่พบหรือไม่มีในสถานเพาะเลี้ยง

แพนด้า
หลี่เฟิ่ง ผู้ดูแล อุ้มลูกหมีแสนรักของเธออยู่ข้างหน้าต่างของแผนกอนุบาลแพนด้าที่ปี้เฟิงเสีย ในแต่ละปีศูนย์แห่งนี้มีผู้มาเยี่ยมชมกว่า 400,000 คนที่แห่มาดูและถ่ายภาพลูกสัตว์ซึ่งเป็นที่รักที่สุดของจีน

กระนั้น  จีนก็ยังประสบความสำเร็จอย่างมาก  เช่นเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมามีลูกหมีเกิดใหม่ในจีนมากถึง 38 ตัว ในอาคารอนุบาลแพนด้าที่ศูนย์ปี้เฟิงเสียมีห้องตู้อบสะอาดเรี่ยมที่ซึ่งลูกหมีจะได้รับการดูแลจากมนุษย์ตลอด 24 ชั่วโมงเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ในช่วงที่ไม่ได้อยู่กับแม่หรือแม่เลี้ยง การแยกแม่หมีกับลูกหมีเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ แต่ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกหมีแรกเกิดรอดตายมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถนำลูกหมีที่อ่อนแอหรือถูกแม่ปฏิเสธให้ไปอยู่กับหมีแม่เลี้ยงที่เอาใจใส่ได้

แพนด้าส่วนใหญ่ที่ศูนย์ปี้เฟิงเสียจะใช้ชีวิตในสถานเพาะเลี้ยง อาจเป็นที่จีนเองหรือสวนสัตว์ในต่างประเทศ แต่ที่อื่นในมณฑลเสฉวน นักวิจัยมีความคิดให้ลูกหมีแพนด้าใช้ชีวิตในธรรมชาติมากกว่า

เหอเถาผิงซึ่งเป็นศูนย์แพนด้าที่เก่าแก่กว่าภายในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติอั้วหลง ซุกตัวอยู่ในหุบเขาของเทือกเขาฉยงไหลชาน ย้อนหลังไปในช่วงปลายทศวรรษ 1970 จีนตั้งสถานีวิจัยภาคสนามขึ้นบนที่ลาดเนินเขาซึ่งมีสภาพเป็นป่าแห่งนี้ และทำงานร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกหรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (World Wildlife Fund: WWF) มาตั้งแต่ปี 1980

แพนด้า
ภายในผืนป่ากว้างใหญ่ที่มีรั้วล้อมของเขตอนุรักษ์ธรรมชาติอั้วหลง หม่าลี่และหลิวเสี่ยวเฉียง ผู้ดูแลแพนด้า กำลังจับ สัญญาณวิทยุจากแพนด้าที่สวมปลอกคอซึ่งได้รับการฝึกเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ทุกวันนี้ที่เหอเถาผิง ลูกหมีซึ่งได้รับการคัดเลือกจะถูกฝึกให้ใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติ ผู้ดูแลจะสวมชุดแพนด้าทั้งตัว ป้ายกลิ่นฉี่ของแพนด้าเพื่อไม่ให้ลูกหมีคุ้นกับคน ลูกหมียังคงอยู่กับแม่ และในช่วงสองปีขณะที่ยังอยู่ในความดูแลของแม่นั้น มันจะถูกปล่อยให้คุ้นเคยกับธรรมชาติ หลังจากนั้นราวหนึ่งปี ทั้งแม่และลูกจะย้ายไปอยู่บนภูเขา แต่แม่หมียังคอยดูแลลูกต่อไปได้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมที่จะปล่อยให้เป็นอิสระ

จนถึงขณะนี้ การส่งแพนด้า “กลับบ้าน” มีทั้งที่ได้ผลและไม่ได้ผล ในจำนวนแพนด้าห้าตัวที่ปล่อยไปตั้งแต่ปี 2006 ทุกตัวสวมปลอกคอสำหรับติดตามไว้ด้วย ตอนนี้เหลือสามตัวที่ยังอยู่ในป่า อีกสองตัวพบว่าตายแล้ว ตัวหนึ่งอาจตกเป็นเหยื่อความดุร้ายของแพนด้าป่าเพศผู้

การปล่อยแพนด้าคืนสู่ธรรมชาติไม่ต่างกับการขยายพันธุ์ “ต้องลองผิดลองถูก ต้องใช้เวลาและเงินครับ” วิลเลียม แมกเช นักนิเวศวิทยาจากสถาบันสมิทโซเนียน กล่าว “แต่จีนจะทำได้สำเร็จ”

แล้วเมื่อพวกมันท่องไปในโลกธรรมชาติอย่างเสรีและพร้อมจะผสมพันธุ์อย่างเจ้าเถาเถา (“ตัวแสบน้อย”) แพนด้า เพศผู้ซึ่งขณะนี้อยู่รอดปลอดภัยในป่ามาเกือบสี่ปีแล้ว “เราหวังว่าพวกมันจะรักชอบกัน แต่เราไปยุ่งไม่ได้ครับ” หยางฉางเจียง ผู้ดูแลแพนด้าที่เหอเถาผิง บอก “อนาคตก็ขึ้นอยู่กับพวกมันแล้วละครับ”

เรื่อง เจนนิเฟอร์ เอส. ฮอลแลนด์

ภาพถ่าย เอมี ไวทาเล

 

อ่านเพิ่มเติม

ฟอสซิลญาติแพนด้าอายุ 22,000 ปี

Recommend