มหากาพย์นกอพยพ

มหากาพย์นกอพยพ

มหากาพย์ “นกอพยพ”

ขณะเดินท่องไปตามป่าไม้เขตหนาวเหนืออันเขียวสดงดงามในรัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ไมเคิล ฮอลเวิร์ท นักนิเวศวิทยาจากศูนย์นกอพยพสมิทโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เงี่ยหูฟังเสียงนกกระจิ๊ดคอนเนตทิคัต นกจับคอนที่มีอกสีเหลืองและวงตาสีขาวสะดุดตา เมื่อฮอลเวิร์ทและเพื่อนนักวิจัยพบตัวนกเพศผู้ที่พวกเขาติดอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ พวกเขาจัดแจงขึงตาข่ายตาละเอียดระหว่างต้นไม้สองต้นอย่างรวดเร็ว  ฮอลเวิร์ทวางลำโพงไว้ด้านหลังตาข่าย แล้วต่อสายมายังโทรศัพท์  เขาซ่อนตัวอยู่หลังต้นไม้ เปิดเสียงร้องนกกระจิ๊ดเพศผู้ที่บันทึกไว้  นี่เป็นอุบายหลอกล่อนกกระจิ๊ดให้มาตรวจตราดูว่ามีคู่แข่งเข้ามาในอาณาเขตของมันหรือไม่ เจ้านกเพศผู้ที่ถูกติดอุปกรณ์ติดตามบินเข้ามาติดตาข่ายตามคาด

หลังจากปลดนกจากตาข่ายแล้ว ฮอลเวิร์ทถอดเครื่องติดตามที่อยู่บนหลังมันอย่างเบามือ อุปกรณ์ระบุพิกัดน้ำหนักไม่ถึงหนึ่งกรัมนี้บันทึกระดับความสว่างของแสงอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกแตกต่างกันไปตามสถานที่  นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแกะรอยเส้นทางที่นกบินได้ การศึกษาของฮอลเวิร์ทและเพื่อนร่วมงานซึ่งยังคงดำเนินอยู่จนถึงขณะนี้ จะช่วยให้พวกเขาระบุบริเวณที่นกจับคอนชนิดนี้ใช้ชีวิตในช่วงฤดูหนาวได้อย่างแม่นยำ  “เรารู้ว่านกอพยพไปอเมริกาใต้ครับ แต่เรายังต้องค้นหาว่าที่ไหน” เขากล่าว

นกอพยพ
นกแกนเนตถิ่นเหนือ แบสร็อก สกอตแลนด์ : ในฤดูจับคู่ผสมพันธุ์ นกแกนเนต 150,000 ตัวมาชุมนุมแน่นขนัดกันบนเกาะนี้ที่อ่าวเฟิร์ทออฟฟอร์ท ในฤดูหนาว นกจะหนีลงใต้ไปไกลถึงแอฟริกาตะวันตก เพื่อถ่ายภาพนี้ สตีเฟน วิลก์สและผู้ช่วยลากอุปกรณ์ขึ้นบันได 122 ขั้น แล้วติดตั้งกล้องใกล้ซากปรักของโบสถ์ ห่างจากนกที่กำลังทำรังประมาณสองเมตร เขาอดหลับอดนอนยืนบนพื้นหินนาน 28 ชั่วโมงเพื่อถ่ายภาพ 1,176 ภาพ เขาเลือกภาพถ่ายราว 150 ภาพเพื่อนำมาสร้างภาพนี้
ถ่ายภาพโดยได้รับอนุญาตจากครอบครัวดาลริมเปิลและศูนย์นกทะเลสกอตแลนด์

(ร่วมหาคำตอบว่าเหตุใดนกจึงสำคัญต่อโลกใบนี้นัก)

การศึกษาเหล่านี้ตอกย้ำว่า เราก้าวหน้าแค่ไหนแล้วในการแกะรอยการอพยพของนก  ก่อนหน้าต้นศตวรรษที่ 19 ทฤษฎีที่ใช้อธิบายการหายไปของประชากรนกในช่วงหนึ่งของปีนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องชวนฝันหรือจินตนาการ อริสโตเติลเชื่อว่านกบางชนิดจำศีลหรือเปลี่ยนร่างไปเป็นชนิดพันธุ์อื่น  ในยุโรปยุคกลาง คำอธิบายการปรากฏตัวของห่านหน้าขาวในฤดูหนาวคือ  พวกมันเติบโตอยู่บนต้นไม้  นักบวชชาวอังกฤษคิดทฤษฎีขึ้นมาในศตวรรษที่ 17 ว่าเหล่าวิหคบินไปดวงจันทร์  หลักฐานชิ้นเยี่ยมที่สุดที่ชี้ว่านกอพยพย้ายถิ่นปรากฏใน ค.ศ. 1822 เมื่อพรานในเยอรมนียิงนกกระสาขาวที่มีวัตถุแปลกประหลาดติดอยู่ นั่นคือลูกธนูที่แทงทะลุลำคอ  ลูกธนูนั้นมาจากทางตอนกลางของแอฟริกา นักธรรมชาติวิทยาจึงสรุปว่า นกกระสาตัวนั้นเดินทางมาเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร  ต่อมาในปี 1906 นักดูนกเริ่มใส่ห่วงขาให้แก่นกกระสาขาว และเริ่มรู้ว่าพวกมันใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา

(ไดโนเสาร์ไม่ได้คล้ายกิ้งก่าแบบที่คิด ตรงกันข้ามพวกมันคล้ายนกมากกว่า)

นกอพยพ
นกกระเรียนเทากระหม่อมแดง เขตอนุรักษ์โรว์ รัฐเนแบรสกา : ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน นกกระเรียนเทากระหม่อมแดงราวห้าแสนตัวมารวมกันตามแนวแม่น้ำแพลต จากที่ซูบผอมตอนมาถึงจากเม็กซิโกและตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา พวกมันอ้วนท้วนขึ้นเพื่ออพยพไปยังแหล่งทำรังวางไข่ในเขตภูมิอากาศกึ่งอาร์กติกและอาร์กติก วิลก์สถ่ายภาพ 1,377 ภาพ โดยใช้เวลากว่า 36 ชั่วโมงจากบังไพรสูงแปดเมตร เขาเลือกภาพประมาณ 200 ภาพในการสร้างภาพนี้
ถ่ายภาพโดยได้รับอนุญาตที่เขตอนุรักษ์โรว์ของออดูบอน

ในช่วงเวลาสองศตวรรษ นับตั้งแต่นกกระสาที่มีลูกศรปักคออยู่ถูกยิงตกลงมานั้น นักวิทยาศาสตร์และนักดูนกพบการอพยพของนกนับพันชนิด  เกือบครึ่งหนึ่งของชนิดพันธุ์นกที่รู้จักกันอพยพจากถิ่นอาศัยหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล  นกอัลบาทรอสเกาะไลซานทำรังตามเกาะเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก และใช้เวลาเกือบครึ่งปีเหินลมหาอาหารเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรไกลถึงชายฝั่งประเทศญี่ปุ่นและแคลิฟอร์เนีย  ประชากรห่านหัวลายที่จับคู่ผสมพันธุ์บริเวณที่ราบสูงในเอเชียกลาง  บินไปพลางส่งเสียงร้องไปพลาง ลงไปทางทิศใต้  ข้ามเทือกเขาหิมาลัย เพื่อใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวในทะเลสาบและตามปากแม่น้ำของอนุทวีปอินเดีย การมีระยะระหว่างปลายปีกสองข้างกว้างใหญ่ไม่ใช่เรื่องจำเป็น ดังที่พิสูจน์แล้วจากการบินอพยพของนกฮัมมิงเบิร์ดคอทับทิม  นกชนิดนี้บินเดี่ยวจากแหล่งจับคู่ผสมพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาไปยังแหล่งที่ใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวตั้งแต่ทางตอนใต้ของเม็กซิโกไปจนถึงปานามา

ไม่ว่าจะเดินทางเป็นระยะไม่กี่กิโลเมตรหรือไปไกลค่อนโลก นกอพยพย้ายถิ่นก็เพื่อหลบหนีสภาวะที่คุกคามการอยู่รอด  ในอเมริกาเหนือ เมื่อฤดูหนาวมาถึง ดอกไม้ที่นกฮัมมิงเบิร์ดคอทับทิมอาศัยกินน้ำต้อยกับแมลงที่มันกินย่อมหายไปหมดสิ้น  นกไม่มีทางเลือก นอกจากเดินทางไปยังบริเวณที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์  เมื่อสภาพอากาศอบอุ่นหวนคืนสู่แคนาดาและสหรัฐอเมริกา บ้านทางตอนเหนือก็กลับมาน่าอยู่อีกครั้ง เพราะแหล่งอาหารกลับมาสมบูรณ์อีกแล้ว

นกอพยพ
นกฟลามิงโกเล็ก ทะเลสาบโบโกเรีย เคนยา : นกฟลามิงโกเล็กแห่งเกรตริฟต์แวลลีย์มีชีวิตรุ่งเรืองในสภาพแวดล้อมสุดขั้วของทะเลสาบน้ำเค็มในที่สูง โดยกินสาหร่ายที่เป็นพิษต่อสัตว์อื่นอีกมากมาย นกฟลามิงโกไม่ได้อพยพ แต่ร่อนเร่พเนจรจากทะเลสาบแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง ที่ใดก็ตามที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ วิลก์สถ่ายภาพ 1,742 ภาพในเวลา 36 ชั่วโมงจากนั่งร้านสูง 10 เมตรคลุมด้วยผ้าลายพราง เขาเลือกภาพราว 30 ภาพสำหรับภาพนี้

แม้ว่านกหลายชนิดอพยพระหว่างละติจูดที่เย็นกว่ากับอบอุ่นกว่า การอพยพบางประเภทก็มีสภาพน้ำหลากเป็นแรงกระตุ้น ดังเช่นกรณีของนกกรีดน้ำสีดำชนิดย่อยซึ่งทำรังบนสันดอนทรายที่เปิดโล่งในแม่น้ำมานูของลุ่มน้ำแอมะซอน  พวกมันอ้าปากกรีดจะงอยยาวไปตามผิวน้ำขณะบินเพื่อจับปลา  เมื่อฝนหนักเริ่มซัดกระหน่ำภูมิภาคดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน ส่งผลให้แม่น้ำไหลหลาก นกกรีดน้ำก็ออกเดินทางไปยังชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของทวีป  หรือไม่ก็อพยพขึ้นไปยังพื้นที่สูงกว่า แล้วกลับมาเมื่อระดับน้ำลดลง  ประชากรนกบางกลุ่มอพยพขึ้นลงระหว่างระดับความสูงในพื้นที่เดียวกัน คือทำรังบนเทือกเขาเมื่อลำธารมีน้ำไหล แต่ลงมายังหุบเขาเมื่อน้ำจับตัวเป็นน้ำแข็ง

“นกอพยพทั้งหนีและกลับมายังพื้นที่เหล่านี้ซึ่งแร้นแค้นสาหัสในช่วงหนึ่งของปี และอุดมสมบูรณ์มากเหมาะสำหรับการจับคู่ผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกในช่วงอื่นของปีครับ” เบน วิงเกอร์ นักปักษีวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนในแอนอาร์เบอร์ กล่าว

เส้นทางอพยพเหล่านี้เกิดจากการปรับตัวยาวนานนับพันปี  นกบางชนิดที่มีแรงขับจากการแก่งแย่งทรัพยากรและพื้นที่ทำรัง  มีแนวโน้มจะรอนแรมไปไกลจากถิ่นอาศัยดั้งเดิมออกไปเรื่อยๆ  นักวิจัยบางคนสันนิษฐานว่า การอพยพเกิดขึ้นเมื่อนกในเขตร้อนขยายถิ่นกระจายพันธุ์เข้าไปในถิ่นอาศัยเขตอบอุ่น  อีกทรรศนะหนึ่งกล่าวว่า นกหลายชนิดถือกำเนิดขึ้นในเขตอบอุ่น แล้ววิวัฒน์ไปใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่หนาวเย็นกว่าของปีนั้นที่เขตร้อน  “ความจริงอาจเป็นว่าการอพยพทั้งสองแบบต่างเกิดขึ้นครับ” วิงเกอร์กล่าว

พฤติกรรมการอพยพเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในยีนซึ่งนำทางนกเหมือนหุ่นยนต์ไปยังจุดหมายปลายทางอย่างนั้นใช่ไหม หรือนกวัยอ่อนเรียนรู้จากตัวเต็มวัยว่า  จะอพยพไปที่ไหนและอย่างไร  นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบคำตอบ แต่ก็เป็นดังเช่นคำถามส่วนใหญ่ว่าด้วยธรรมชาติกับการเลี้ยงดู  คำตอบมีแนวโน้มว่าจะเป็นการผสมผสานของทั้งสองปัจจัย “การศึกษาในเรื่องนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นครับ” เจสซี คอนกลิน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงินในเนเธอร์แลนด์ กล่าว

โดย   ชยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ

ภาพถ่าย สตีเฟน วิลก์ส

นกอพยพ
นกกระสาขาวสร้างรังบนคอนสูงในภูมิภาคเอ็กซตรามาดูราทางตะวันตกของสเปน เสาสำหรับทำรัง ที่มนุษย์สร้างขึ้นช่วยปกป้องคอโลนีที่อาศัยอยู่ในอาคารร้างแห่งหนึ่งระหว่างที่อาคารหลังนั้นได้รับการปรับปรุง การอพยพของนกกระสาขาวจัดว่าหลากหลาย บางส่วนใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาวในแอฟริกา บางส่วนเลือกอยู่ในยุโรปซึ่งใกล้บ้านมากกว่า (ภาพถ่ายโดย แจสเปอร์ ดูอาสต์)

 

อ่านเพิ่มเติม

รวมภาพนกสวยๆ จากทั่วโลก

Recommend