จาก ตรุษจีน ถึง เช็งเม้ง : แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

จาก ตรุษจีน ถึง เช็งเม้ง : แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

โลกทัศน์เรื่องความตายของชาวจีนนั้นน่าสนใจตรงที่เป็นการมองโลกในแง่ดี โลกนี้ไม่ใช่โลกที่บกพร่องร้ายแรง หากเป็นต้นแบบที่ดีพอสำหรับโลกหน้า

ชาวจีนมองชีวิตหลังความตายด้วยทรรศนะที่ชาวตะวันตกหลายคนเห็นว่าไม่ผิดแผกไปจากชีวิตบนโลก จีนสมัยโบราณมองโลกหน้าในเชิงปฏิบัตินิยม วัตถุนิยม กระทั่งมีลำดับชั้นทางสังคมเหมือนระบบราชการ ค่านิยมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการค้นพบทางโบราณคดีในปัจจุบัน เมื่อมีการเปิดสุสานหลวง สิ่งที่มักพบเห็นก็คือการจัดระเบียบอย่างละเอียดถี่ถ้วนตามหมู่เหล่าและทรัพย์สมบัติมหาศาล

จนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชางซึ่งรุ่งเรืองขึ้นทางตอนเหนือของจีนเมื่อราว 1600 ถึง 1045 ปีก่อนคริสตกาล เราจึงพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้คนในยุคนั้นมองชีวิตหลังความตายอย่างไร อักษรจีนเก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักกันจารึกไว้บนกระดูกเสี่ยงทายที่ทำจากกระดูกสะบักวัวและกระดองเต่า ซึ่งใช้ประกอบพิธีในราชสำนัก กระดูกเหล่านี้ถูกเผาให้แตกลายเพื่ออ่านทำนายโชคชะตา และเป็นวิธีติดต่อกับโลกที่มองไม่เห็น รวมทั้งเป็นการส่งข่าวไปยังบรรพบุรุษของสมาชิกราชวงศ์

ชีวิตหลังความตาย
ม้าสวมบังเหียนทองเหลืองถูกสังหารและบรรจุไว้ในหลุมศพของขุนนางราชวงศ์ชางเมื่อราว 3,000 ปีก่อน

เชื่อกันว่าผู้วายชนม์มีอำนาจมหาศาลต่อเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้น บรรพบุรุษที่ไม่เป็นสุขสามารถบันดาลให้คนเป็นเจ็บป่วยหรือประสบเคราะห์กรรมได้ กระดูกเสี่ยงทายหลายชิ้นบ่งบอกว่ามีการบูชายัญมนุษย์เพื่อเอาใจวิญญาณไร้สุขเหล่านี้ ที่สุสานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในมณฑลเหอหนาน มีการขุดพบหลุมบูชายัญกว่า 1,200 หลุม ซึ่งส่วนใหญ่บรรจุยัญพลีที่เป็นมนุษย์ นักโบราณคดีคนหนึ่งเคยบอกผมว่า เขานับวิธีสังหารในพิธีกรรมบูชายัญสมัยราชวงศ์ชางได้ถึง 60 วิธี แต่เขาก็เตือนให้ผมระลึกไว้ด้วยว่า วิธีการเหล่านี้เป็นเรื่องของพิธีกรรม ไม่ใช่ฆาตกรรมหรือทารุณกรรม โลกทัศน์สมัยราชวงศ์ชางมองการบูชายัญมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบพิธีกรรมที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ

ส่วนคนตายนั้นเล่าก็ถูกครอบงำโดยกลไกทางสังคมอันใหญ่โตที่ไม่ต่างจากระบบราชการ พระนามที่ใช้เรียกจะเปลี่ยนไปหลังสิ้นพระชนม์เพื่อบ่งบอกสถานะใหม่ จุดประสงค์ของการบูชาบรรพบุรุษไม่ใช่เพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ หากเป็นเรื่องของการเอาอกเอาใจคนตายผู้มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน

ชีวิตหลังความตาย
หุ่นนักรบดินเผาที่ปั้นขึ้นเมื่อ 2,200 ปีก่อนเหล่านี้ มุ่งหมายให้ตามเสด็จจักรพรรดิพระองค์แรกของจีนไปสูชีวิตนิรันดร์ และถวายการรับใในชีวิตหลังความตายที่มีการวางแผนไว้อย่างละเอียดลออ พร้อมด้วยเหล่าเสนาอำมาตย์ สัตว์เลี้ยง และข้าราชบริพารคอยถวายความสำราญ

หลังจากราชวงศ์ชางล่มสลายเมื่อ 1045 ปีก่อนคริสตกาล ประเพณีการพยากรณ์ด้วยกระดูกเสี่ยงทายยังคงใช้สืบต่อมาในสมัยราชวงศ์โจวที่ปกครองจีนภาคเหนือจนกระทั่งศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล แต่การบูชายัญด้วยมนุษย์นั้นพบเห็นน้อยลงเรื่อยๆ และสุสานหลวงเริ่มใช้ หมิงชี่ หรือเครื่องเซ่นกำมะลอแทนข้าวของเครื่องใช้จริง เช่นเดียวกับตุ๊กตาดินเผาที่กลายเป็นตัวแทนของคนจริงๆ ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดคือสุสานทหารดินเผาซึ่งจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีนผู้ทรงรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นเมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล มีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น กองทัพที่ประกอบด้วยรูปปั้นทหารขนาดเท่าคนจริงจำนวนประมาณ 8,000 รูปนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ติดตามไปรับใช้องค์จักรพรรดิในโลกหน้า

ชีวิตหลังความตาย
องครักษ์พิทักษ์สุสานสมัยราชวงศ์ถัง ค.ศ. 618 – 906 สูง 65 เซนติเมตร
ชีวิตหลังความตาย
ไหดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่น 206 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220 สูง 47.5 ซม.

Recommend