จากใบไม้เปลี่ยนสีถึงปริศนาเอกภพ ป๋องแป๋ง อาจวรงค์ จันทมาศ ค้นหาเสน่ห์ในวิทยาศาสตร์มาเล่าเป็นเรื่อง

จากใบไม้เปลี่ยนสีถึงปริศนาเอกภพ ป๋องแป๋ง อาจวรงค์ จันทมาศ ค้นหาเสน่ห์ในวิทยาศาสตร์มาเล่าเป็นเรื่อง

สนทนากับ ป๋องแป๋ง อาจวรงค์ จันทมาศ อดีตนักเรียนทุน พสวท. แฟนพันธุ์แท้นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก และเจ้าของเพจ Ardwarong ผู้สื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ไกลไปกว่าผลลัพธ์ แต่ทำให้กลายเป็นเรื่องสนุก

หลุมดำ : วัตถุปริศนาแห่งเอกภพ, ภาษาจักรวาล ประวัติย่อของคณิตศาสตร์, กำเนิดทฤษฎีควอนตัม ฟิสิกส์เหนือสามัญสำนึก, ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ พิเศษอย่างไร? แรงต้านอากาศคืออะไรและสำคัญอย่างไร? และอีก ฯลฯ คือตัวอย่างชื่อหนังสือ บทความ รายการพอดแคสต์ ที่ ป๋องแป๋ง- อาจวรงค์ จันทมาศ เจ้าของเพจ Ardwarong ผลิตขึ้นควบคู่กับการบรรยายวิทยาศาสตร์ตามโอกาสต่างๆ

หลายปีก่อน เราอาจยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” เท่าใดนัก ทว่าในปัจจุบันนี่คือคำนิยามของนักเล่าเรื่องผู้เปลี่ยนความขมและซับซ้อนของวิทยาศาสตร์ ให้กลายเป็นอาหารว่างย่อยง่าย และเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น อันพิสูจน์ได้จากจำนวนผู้ชม จำนวนเนื้อหา รวมถึงจำนวนของผู้ใฝ่ฝันจะเป็น “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” ที่น่าจะมากขึ้นตาม

ถึงเช่นนั้น ชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงหากอยากฟังเรื่องวิทยาศาสตร์ ก็ต้องมี ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ อยู่ในนั้น เขาเป็นหนึ่งในนักเรียนทุน ที่หลงใหลในวิทยาศาสตร์ และเป็นคนเดียวกับเจ้าของรางวัลสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เมื่อปี 2012

บ่ายวันธรรมดาๆ National Geographic Thailand สนทนากับ ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ ถึงความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ อะไรคือความพิเศษที่ทำให้คนๆหนึ่ง ร่ำเรียน ค้นคว้า และเล่าเรื่องแบบนี้ในทุกๆวัน

อาจวรงค์ จันทมาศ

ทุกวันนี้ เหมือนคุณทำอะไรตั้งหลายอย่าง เป็นทั้งนักเขียน ทำเพจ จัดรายการ บรรยายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม คุณใช้เวลาไปกับอะไรบ้างในแต่ละวัน?

แต่ละวันก็ต่างกันไป แต่ถ้านับเป็นสัดส่วนงานในแต่ละวันของผมจะมี 4 ก้อนใหญ่ๆ ที่สัดส่วนจะไม่เท่ากัน ส่วนแรกและเป็นหลักที่สุดคือ การเขียนหนังสือ หรือเขียน Content ในช่องทางต่างๆ ที่เหลืออีก 3 ส่วนน้ำหนักก็ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลา ก็มีวิทยากรบ้าง  งานรับจ้างผลิตเนื้อหาต่างๆ และอีกส่วนก็คือการขายหนังสือ ทั้งของตัวเองที่มี 10 เล่ม และผลงานคนอื่นๆ

นอกจากหนังสือของตัวเอง หนังสือแบบไหนที่คุณจะช่วยขาย?

หนังสือที่เราบอกกับคนอ่านอย่างเต็มปากได้ว่าดี บางเล่มถึงมันจะเป็นกระแสขายได้ขายดี แต่ผมคิดว่ายากจัง อ่านไม่รู้เรื่อง ผมก็ไม่ได้มาขาย งานขายหนังสือ เหมือนผมทำหน้าที่ curatorคอยคัดเลือก หนังสือที่ผมคิดว่าดีมาขาย แล้วพอเราได้อ่านด้วย มันก็จะสนุกที่จะช่วยขาย

ถึงเช่นนั้น ถ้าจำแนกในแต่ละช่วงเวลา ก้อนงานเขียนก็ใหญ่ที่สุด แต่ถ้าคิดการเขียนเป็น 100% ผมอาจเขียนไม่ถึงครึ่งนึงนะ  การจะเขียนด้ำหรับผมส่วนใหญ่ใช้ไปกับการอ่าน บางเรื่องอ่านเป็นอาทิตย์ถึงจะได้บทความหนึ่ง บางเรื่องหลายเดือน บางเรื่องคิดเป็นปีๆ ถึงจะตัดสินใจเขียน

เรื่องแบบไหนที่คุณใช้เวลาเยอะๆ?

คิดเร็วๆตอนนี้ เช่นเรื่อง ทำไมเวลาเราเอาใบชามากวนในถ้วยแล้วตะกอนใบชาถึงไปตะกอนที่กลางถ้วย? ทำไมตะกอนเหล่านั้นไม่ถูกเหวี่ยงไปที่ริมถ้วย?

มันฟังดูเป็นคำถามง่ายๆ ใช่ไหม แต่หากจะอธิบายก็ต้องใช้เวลาในการคิด สำหรับการเขียนหนังสือ ผมทำมันบนหลักการที่ว่าคนอ่านถามเราไม่ได้ สิ่งที่เราทำให้ดีที่สุดคือการตอบคนอ่านให้ได้มากที่สุด ดังนั้นถ้าคิดจะเขียนเรื่องเพื่อให้ได้สัก 100 ผู้เขียนก็คงต้องรู้ ซึ่งความรู้สำหรับผมมันมาจากการอ่าน ถ้าอยากเขียนสัก 100 เราก็คงต้องอ่านสักหมื่นถึงจะพอ

เคยฟังคุณจัดพอดแคสต์ เรื่องประวัติอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมัน) แล้วบอกว่าเรื่องนี้ค้นคว้ามาเหนื่อยมาก แสดงว่าเป็นความเหนื่อยจากการอ่านจริงๆ ไม่ได้พูดเล่นให้เรื่องมันน่าสนใจ?

เหนื่อยจริงๆครับ อย่างการจัดรายการ เมื่อได้หัวข้อ เราก็ต้องรู้ให้ได้ว่าเรื่องที่มันลึกสุดอยู่ตรงไหน เพราะถ้ามันไม่ลึก เมื่อเราเอามาเล่าต่อ มันจะเข้าใจผิดง่าย และก็จะขาดมิติในเชิงการเปรียบเทียบ สมมติมันเราจะเปรียบอะไร มันฟังดูเป็นแค่การเปรียบใช่ไหม แต่ถ้าเราอ่านไม่ลึก เราก็จะไม่รู้เลยว่ากรอบมันอยู่ตรงไหน และการเปรียบเทียบของเราก็จะไม่สมจริง

อย่างเรื่องไอน์สไตน์ ก่อนจัดรายการ ผมเขียนออกมาเป็นหัวข้อที่จะเล่าถึงความเป็นไอน์สไตน์ได้ 10 หน้า A4 เลยนะ แล้วผมเอามาซ้อมพูด เพราะออกรายการเป็นอีกเรื่องที่ผมจริงจัง เพราะถ้าเราไม่พร้อม ทุกคนก็จะเหนื่อย ผมเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องการเตรียมตัวอะไรแบบนี้ เรารู้ดีว่าตัวเองไม่ใช่คนฉลาดมาก ถ้ามีคนมารอเราเพราะเราผิดพลาดบ่อยมันคงแย่แน่ๆ มันเลยต้องเตรียมตัว อย่างตอนไอน์สไตน์ ผมซ้อมพูด 3-4 รอบ

อย่างตอนเล่าถึงเซอร์ ไอแซก นิวตัน (นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ ชาวอังกฤษ) ผมเตรียมตัวเยอะพอๆกับตอนไอน์สไตน์เลยนะ แล้วหนังสือประวัติของนิวตันมันหนามาก ยิ่งชีวิตของเขามันเป็นตำนาน คือนิวตันเนี่ยมีแง่มุมให้เล่าเยอะ เมื่อเป็นแบบนั้นก็ต้องทำการบ้าน อ่านเยอะ เข้าใจให้เยอะ แล้วเลือกจุดที่มันน่าเล่า

อาจวรงค์ จันทมาศ

คุณเรียนจบปริญญาตรีและโท ที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเอกฟิสิกส์ เคยทำงานที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทั้งจากการเรียน ประวัติการทำงานก็น่าจะตรงกับสิ่งที่ร่ำเรียนมา ทำไมถึงลาออกมาทำเพจ ardwarong?

ผมเรียนปริญญาตรี โดยการได้ทุน พสวท. ซึ่งถือเป็นทุนก้อนที่เน้นพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พอมาเรียนปริญญาโทก็เรียนด้วยทุนเดิม แต่กับปริญญาเอกผมตัดสินใจไม่เรียนต่อเพราะคิดว่าเราน่าจะสามารถใช้การศึกษาที่มีอยู่ทำงานได้แล้ว และสิ่งที่อยู่ในใจผมมาตลอดคือการทำงานใช้ทุนให้ครบถ้วนตามสัญญา และออกมาหาอะไรทำส่วนตัว ซึ่งผมก็ทำงานอยู่จนครบสัญญา

การทำเพจคือส่วนหนึ่งของการคิดว่าจะหาอะไรทำของตัวเอง หลังจากที่ผมไปออกรายการโทรทัศน์ในปี 2012 ผมก็เริ่มทำเพจในปี 2013 โดยใช้ความชอบด้านวิทยาศาสตร์มาเป็นสิ่งนำ ตอนนั้นผมไม่เคยคิดเลยว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์มันจำเป็นหรือเปล่า เราแค่รู้สึกว่ามันสนุก เท่านั้นเลยจริงๆ

ผมรู้สึกว่าในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ มันมีอะไรมากกว่าการทำข้อสอบ มีอะไรมากกว่าความเคร่งเครียดซึ่งอาจจะทำให้คนไม่รู้สึกสนุกกับวิทยาศาสตร์ ผมจึงพยายามหาวิธีเล่าวิทยาศาสตร์ในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด ก่อนหน้านั้น ผมก็มีประสบการณ์จากการบรรยายมาบ้าง ตอนทำงานประจำ ผมไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ ทำให้เด็กรู้สึกว่า วิทยาศาสตร์น่าสนใจอย่างไร และก็มีแลกเปลี่ยนแนะนำคุณครูว่า เขามีวิธีอย่างไร ผมมีวิธีอย่างไรที่จะสอนเด็กให้สนุกขึ้น

ในมุมมองของคุณ “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” มีหน้าที่อะไรบ้าง?

จริงๆ ผมอยากเรียกตัวเองว่านักเขียนมากกว่านะ เพราะงานผมมันเขียนหนังสือ วันๆ ก็เอาแต่เขียนๆ แต่เมื่อมันถูกสื่อสารไปหลายช่องทางของสื่อ คำว่านักสื่อสารมันอาจจะสอดคล้องกว่า

ตอนปี2012 ผมไปออกรายการโทรทัศน์ใหม่ๆ ผมไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อนนะ หลังจากนั้น 1-2 ปี ผมได้ยินคำนี้ ก็คิดว่าเหมาะสมดีที่จะเอาใช้ ขอบเขตของนักสื่อสารนี้คือก็คือการเอาเรื่องวิทยาศาสตร์ที่อาจมีบางคนมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อน ยุ่งยาก มาหาทางอธิบายให้มันง่ายขึ้น น่าสนใจขึ้น โดยเน้นไปที่คนทั่วไป

ครั้งหนึ่งผมเคยทำกวดวิชานะ เคยสอนเพื่อน สอนคนให้สอบแข่งขัน ซึ่งการสอนแบบนั้นแน่นอนว่าเรามีคะแนนสอบเป็นตัวชี้วัด  แต่การสื่อสารวิทยาศาสตร์มันเน้นความเป็น Public (สาธารณะ) มากกว่า เน้นสิ่งที่บอกว่า วิทยาศาสตร์ มันน่าสนใจ รู้สึกว่ามีประโยชน์

เสน่ห์ของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ คืออะไร?

มันยากเหมือนกันนะ ถ้าจะอธิบายว่าเสน่ห์คืออะไร (ยิ้ม) อย่างการทำเพจก็มาจากความสนใจส่วนตัว สำหรับผมถ้าเป็นเรื่องฟิสิกส์ เรื่องบางเรื่องมันซับซ้อนจนน่าเล่า เช่น เรื่องระบบสรุยะ หรือเรื่องเอกภพที่มันใหญ่มาก ซึ่งแค่การพูดถึงความใหญ่ของเอกภพ มันก็ท้าทายแล้วที่จะเล่าว่า เฮ้ย มันใหญ่ขนาดนี้เลยเหรอ

โดยปกติมนุษย์เราไม่ได้สัมผัสความใหญ่ขนาดนี้ มันแตกต่างกับการที่ถามว่าประเทศไทยใหญ่แค่ไหน เราอาจจะมีประสบการณ์เคยนั่งรถจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ หรือพอจะนึกออกว่าโลกใหญ่แค่ไหนเมื่อมีประสบการณ์นั่งเครื่องบินนานๆไป ต่างประเทศ แต่เรื่องดาราศาสตร์ความใหญ่มันเกินกว่านั้นมาก คือมันมีความซับซ้อน และก็มีแง่มุมให้เรารู้สึกว่า มนุษย์เรารู้ถึงขนาดนี้เลยเหรอ

มนุษย์ที่ไปสุดทางมากๆ การค้นหาความจริงเรื่องแบบนี้ได้ มันมีเสน่ห์ ไม่ใช่แค่ Fact หรือข้อเท็จจริงที่เขาค้นพบ แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจ ให้คุณค่า คือกับการฝันฝ่าเพื่อหาคำตอบ และน่าสนใจว่าคนเหล่านั้นฝึกฝนมานานขนาดไหน ถึงจะค้นพบเรื่องเหล่านี้ได้

ในแง่ของการทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์ ผมสนใจทั้ง Fact(ความจริง) ที่ได้มา,กระบวนการหาคำตอบ และตัวคนของคนที่ค้นพบ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้มันไปด้วยกัน และทำให้เรื่องมันน่าสนใจมาก เพราะถ้าเราเรียนที่ข้อมูลความจริงอย่างเดียว แต่เราไม่เรียนรู้วิธีการหาความจริงด้วย มันก็จบแค่นั้น

ความสมบูรณ์ของการค้นพบจึงอยู่ที่วิธีการหาหรือกระบวนการหาคำตอบด้วย และกระบวนการเหล่านี้มันจะนำพาเราไปหาคำตอบอื่นๆ  ส่วนคนที่เป็นคนคิดค้น ค้นหา จากการศึกษาผมพบว่าพวกเขาไม่ได้เป็นอัจฉริยะทุกคน หรือมีพรสวรรค์กันอย่างไอน์สไตน์ หรือนิวตัน หมดทุกคน แต่เขาเป็นคนที่ฝึกทักษะ หลงใหลอะไรสักอย่างมากเพื่อทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้ได้

อาจวรงค์ จันทมาศ

คุณเติบโตมากับการเรียนวิทยาศาสตร์แบบไหน ถึงมองเสน่ห์ของการเรียนวิทยาศาสตร์แบบนี้?

ตอนแรกผมสนใจวิทยาศาสตร์ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเรียกว่าวิทยาศาสตร์ไหม แต่สนใจธรรมชาติรอบตัวมากกว่า และมันก็มีแง่มุมให้ตั้งคำถาม ทำไมต้นไม้มันโตมาได้? ทำไมใบไม่เหมือนกัน? ทำไมดอกไม้มันมีสีแบบนี้?

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด พื้นเพอยู่ที่ จ. อุบลราชธานี แล้วสมัยเด็กแถวๆบ้าน มันก็ธรรมชาติมากนะ ยังไม่มีคาเฟ่ ไม่มีโซเชียลมีเดียให้สนใจ ตอนเด็กๆเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือวิทยาศาสตร์ แต่คุณครูก็จะเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ให้ฟังตลอด ทำไมรุ้งกินน้ำขึ้นแบบนี้? ทำไมแมงมุมเดินบนใยตัวเองแล้วไม่ติด? แล้วพอเรียนในระดับที่สูงขึ้น เราก็มาเรียนในกรุงเทพฯ เวลาว่างเราก็อ่านหนังสือ ทำกิจกรรม แล้วผมโชคดีที่คิดว่าครูสอนสนุก แล้วครูวิทยาศาสตร์ที่เจอก็ไม่ได้เน้นการสอบแข่งขันมากนัก  ทำให้ผมอยากจะเรียน อยากจะรู้ในสิ่งต่างๆ

ครูมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้เด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร?

โอ้โห เวลาคนบ่นเรื่องครู ผมบ่นมากไม่ได้เลยนะ เพราะผมโชคดีที่เจอครูดี ครูที่ผมเจอโดยมากเขาก็พยายามทำให้ผมสนใจมากกว่ายัดเยียดเรื่องน่าเบื่อให้

ความโชคดีของการมีครูที่ดีสำหรับผม ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์นะ ผมเจอครูสอนศิลปะที่ดี ทุกวันนี้ผมก็ชอบศิลปะ ผมเขียนรูป และช่วงชีวิตหนึ่งผมเคยอยากจะเข้าเรียนคณะจิตรกรรม แม้จะไม่ทำเป็นอาชีพแต่ผมก็ชอบ เราเจอครูสอนภาษาไทยมันก็ทำให้เราชอบเขียน ผมจำได้ว่าในชั่วโมงภาษาไทย แทนที่ครูจะสอนหลักการ เขาเอาบทกวีมาอ่านให้ฟัง ตั้งคำถามว่าทำไมมันกระแทกใจขนาดนั้น แล้วมันทำให้เราเขียนบทกวี

ความสนใจหลากหลายแบบนี้ ทำไมถึงเลือกฟิสิกส์เป็นสาขาเอก?

ในการเรียนวิทยาศาสตร์ สายที่ทำคะแนนได้ดีคือชีววิทยานะ แต่ในความคิดของเราตอนนั้นคือมองว่า ฟิสิกส์เป็นสาขาที่ต้องเรียน อ่านเองคงยากและนักวิทยาศาสตร์ที่เท่ๆ มีชื่อเสียงที่เรารู้จักก็มีแต่สายฟิสิกส์ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้คุณน่าจะเป็นนักบรรยายวิทยาศาสตร์ที่ถูกนึกถึงเป็นชื่อแรกๆ คุณเป็นทั้งนักเขียน ทำพอดแคสต์ วิทยากร เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม อะไรคือจุดร่วมของการทำงานในแต่ละหน้าที่?

แต่ละรูปแบบมันมีวิธีต่างกันไปก็จริง แต่หลักใหญ่สำหรับมันยังเป็นFact อยู่ดี เมื่อเนื้อหาที่เราทำมันเป็น Non-Fiction จุดร่วมจึงเป็นการค้นคว้าหา Fact ให้มันฟังสนุก จากนั้นที่ต่างกันคือทักษะการเล่าในรูปแบบต่างๆ จะเขียนหรือพูด จะพูดกับคนจำนวนมาก หรือพูดกับคนในรายการ หรือพูดกับกล้องคนเดียว มันก็ต่างกัน ใช้ทักษะที่เหมาะสมต่างออกไป กว่าจะถึงวันนี้ สำหรับผมเองก็ค่อยๆฝึกฝนมาเรื่อยๆ และโชคดีที่เจอคำแนะนำที่ดี มันก็เอามาปรับเพื่อให้การเล่าเรื่อง หรือความเป็น Storyteller มันออกมาดีที่สุด

ทุกวันนี้ คุณมองว่าคนไทยสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นไหม อย่างรายการที่ทำก็มียอดวิวระดับหนึ่ง หรือการแชร์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันก็มีคนติดตามจำนวนมาก?

ผมตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่สำหรับงานของผม ส่วนที่ทำให้คนดูเยอะ ส่วนหนึ่งก็มาจากผู้ผลิต การตัดต่อ การเลือกรูป พิธีกร ซึ่งใส่ความเป็น Creative เข้าไป ปรุงให้มันอร่อย แต่ก็มีบางเรื่องที่มันแป๊กเหมือนกันนะ (หัวเราะ) บางเรื่องมันก็เงียบๆ ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร หรือบางเรื่องที่ปล่อยไปแล้วเราคิดว่ามันดี แต่ก็ไม่มีคนสนใจเท่าไรก็มี เรื่องตลาดก็ยังเป็นเรื่องที่ผมยังไม่เข้าใจและก็พยายามปรับปรุงไปเรื่อยๆ

สำหรับผม การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มัน Niche(ตลาดเฉพาะกลุ่ม) อยู่เสมอ และไม่ว่าเวลาจะผ่านมาเท่าไรมันก็คงNiche ต่อไปเรื่อยๆ แต่โอเค ในบางสถานการณ์มันจะเป็นความสนใจหลักๆได้ในกรณีที่เป็นประเด็นดัง และคนอยากรู้ขึ้นมา เช่น การสื่อสารของ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ซึ่ งท่านก็จะตอบความอยากรู้ของคนกว้างไปอีก อะไรที่เข้าใจผิดก็จะบอกว่าเข้าใจผิด ทำให้คนเข้าใจผิดมันเข้าใจถูก

แต่ถ้าเราย้อนไปในอดีต ตั้งแต่ผมเป็นเด็กก็มีสารคดีดังๆที่หลายคนรู้จักนะ เช่น คอสมอส(Cosmos) หรือหนังสือ a brief history of time มันก็เป็น Best seller แต่คำว่าขายดีของหนังสือวิทยาศาสตร์ มันจะไปเทียบกับงานของ เจ เค โรว์ลิ่ง ไม่ได้อยู่แล้ว ทุกวันนี้เนื้อหาวิทยาศาสตร์มันก็เป็น Nicheอยู่ดี แต่ถ้าถามว่าเป็น Niche ที่ใหญ่ไหม ก็ต้องตอบว่าใหญ่พอที่จะทำเป็นอาชีพได้

เวลาที่ผมไปบรรยาย ก็จะมีน้องๆ มาถามตลอดว่าทำอย่างไรถึงจะทำแบบนี้ได้ อยากออกจากงานประจำ อยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์บ้าง ผมก็มักจะพูดเสมอว่า เริ่มจากทำงานสักอย่างให้มันเลี้ยงเราได้ และตรงนี้ก็อาจเป็นความชอบที่ค่อยๆสร้าง เพราะถ้ากระโดดมาทำเลยโดยไม่มีรายได้ มันก็หมดแรงที่จะทำ

เราทุกคนอยากจะเห็นสังคมที่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ ในแง่ที่ว่าเป็นสังคมของการใช้เหตุผลเพื่อพูดคุย ตัดสินใจจากหลักฐาน ในความเห็นของคุณเราจะสร้างสังคมเช่นนี้ได้อย่างไร?

คงตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่ผมจะบอกกับคนที่ได้พูดคุยอยู่เสมอว่า วิทยาศาสตร์คือวิชาที่ไม่ต้องเรียนเก่งมากก็ได้ แต่ต้องเข้าใจแก่น และถ้าการจัดการชีวิต เราก็จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาตัดตัวเลือกเพื่อให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ เช่น หากจะลงทุนในบริษัทA มันมีหลักการไหนบ้างที่จะพิจารณา อย่างน้อยไม่ให้ถูกหลอกกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ อะไรคือสิ่งต้องห้าม ซึ่งกรอบคิดเช่นนี้มันทำให้ชีวิตดีขึ้น

สังคมที่สนใจการคิดแบบวิทยาศาสตร์ มีความเป็นเหตุเป็นผลแบบนี้ ส่วนหนึ่งผมมองว่าหนีไม่พ้นบรรยากาศของโรงเรียน และสำหรับผม ครูสำคัญมาก ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมการอยากรู้อยากอ่านให้กับเด็กได้

นอกจากนี้ผมมองว่ายังต้องสื่อที่ดี นิตยสาร หนังสือพิมพ์ การมี Content ที่ช่วยซัพพอร์ต เพราะต่อให้มีครูสอนสนุก แต่รอบๆมันไม่มีบรรยากาศให้ไปอ่านต่อ ไฟในตัวที่มีมันก็มอดดับได้ง่ายๆ

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพถ่าย : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ


อ่านเพิ่มเติม 135 ปี สมาคม National Geographic – สืบทอดมรดกแห่งการสำรวจ

Recommend