Prato เมืองเล็กในอิตาลี ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืนด้วยการรีไซเคิลเสื้อผ้าจากทั่วโลก

Prato เมืองเล็กในอิตาลี ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืนด้วยการรีไซเคิลเสื้อผ้าจากทั่วโลก

Prato เมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของอิตาลี ถูกขนานนามว่าเมืองหลวงแห่งการรีไซเคิลเสื้อผ้าจากแฟชั่นเหลือใช้ ด้วยธุรกิจสิ่งทอรีไซเคิลกว่า 3,500 แห่ง สร้างเม็ดเงินกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2015 ในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นหนึ่งในห้า การผลิตเสื้อผ้าก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามรายงานของมูลนิธิ Ellen MacArthur โดยเป็นผลจากการเกิดขึ้นของ ‘Fast Fashion’ หรือรูปแบบการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความรวดเร็ว ในราคาต่ำที่สุด เพื่อให้ผู้ซื้อไม่รู้สึกเสียดายเงินที่จะใส่แค่ไม่กี่ครั้ง แล้วทิ้งไปซื้อตัวใหม่ต่อไป

ในแต่ละปีมีเสื้อผ้าถูกผลิตขึ้นบนโลกมากกว่า 150,000 ล้านชิ้น กระบวนการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงประมาณ 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า Carbon Footprint ของเที่ยวบินระหว่างประเทศและขนส่งทางทะเลรวมกัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอยังเป็นตัวการสร้างน้ำเสียถึง 20 เปอร์เซ็นต์จากอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลก

ไม่ใช่แค่การผลิตเท่านั้นที่ทำให้เกิดความเสียหาย การทิ้งเสื้อผ้าสิ่งทอก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งกว่า

ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอถูกจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน) ด้วย ‘วัฒนธรรมใส่แล้วทิ้ง’ แต่ละปีจึงมีเสื้อผ้ามหาศาลถูกทิ้งขว้าง ทั้งที่เพิ่งถูกซื้อมาสวมใส่ได้ไม่นาน ภาพโดย LUCA LOCATELLI

ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอถูกจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน) ด้วย ‘วัฒนธรรมใส่แล้วทิ้ง’ ของเราที่เพิ่มมากขึ้น แต่ละปีจึงมีเสื้อผ้าสภาพดีจำนวนมหาศาลถูกทิ้งขว้าง ทั้งที่เพิ่งถูกสอยลงจากราวแขวนในห้างสรรพสินค้าได้ไม่นาน

ผลพวงจากกระบวนการทิ้งเสื้อผ้ามหาศาลนี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในแต่ละปี เท่ากับ 8 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หากเปรียบว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นประเทศ ประเทศแห่งนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูงเท่ากับทุกประเทศในยุโรปรวมกันเสียอีก

ขยะแฟชั่นมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกถูกส่งไปทิ้งฝังกลบที่บ่อขยะ สารเคมีบนเสื้อผ้า เช่น สีย้อมจะถูกชะลงสู่พื้นดิน ทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีในดิน และด้วยความยุ่งยากในการคัดแยก รวมถึงขั้นตอนอันซับซ้อน ทำให้มีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ที่ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าวางจำหน่ายชิ้นใหม่

ปกนิตยสาร National Geographic สหราชอาณาจักร ฉบับเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 แสดงภาพภูเขาเสื้อผ้าเหลือใช้จากทั่วโลกที่มารวมกันในเมือง Prato ภาพโดย LUCA LOCATELLI

1 เปอร์เซ็นต์ในการรีไซเคิลสิ่งทอที่ว่านี้เกิดขึ้นที่ไหน และใช้กระบวนการอะไรในการเนรมิตเสื้อผ้าจากขยะแฟชั่นได้เอี่ยมไฉไลเหมือนใหม่

เราพาคุณมุ่งหน้าสู่เมือง Prato ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ที่ถูกขนานนามว่าเมืองหลวงแห่งการรีไซเคิลสิ่งทอ ที่ขยะแฟชั่นจากทั่วโลกหลั่งไหลมาสร้างเม็ดเงิน แฟชั่นดีไซน์ และนวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้ายั่งยืน

01 รีไซเคิลมาตั้งแต่รุ่นปู่

Jorik Boer ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท Boer Group ที่เริ่มกิจการซื้อขายของเก่าเมื่อ 100 ปีก่อน จากรถเข็นที่ตระเวนไปทั่วเมือง Rotterdam ประเทศเนเธอแลนด์ เพื่อเก็บรวบรวมเศษผ้า โลหะและกระดาษ ทุกวันนี้ตระกูลเป็นเจ้าของโรงงานรีไซเคิลหลายแห่งในเนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม เยอรมัน และที่เมือง Prato ประเทศอิตาลีแห่งนี้ด้วย

โดยในแต่ละวัน โรงงานของ Boer Group ทำการคัดแยกสิ่งทอมากกว่า 460 ตัน เพื่อส่งเสื้อผ้าที่ยังมีคุณภาพดีมากกลับสู่ท้องตลาด (Resell for Reuse) และส่งเสื้อผ้าที่วัสดุยังดีแต่ไม่สามารถขายได้อีก เข้ากระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นสินค้าตัวใหม่

บริษัท COMISTRA ดำเนินงานซื้อขายและรีไซเคิลเสื้อผ้าเหลือใช้ มาตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อน ทั้งยังเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในเมือง Prato แห่งนี้ ภาพโดย Comistra srl

“คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการบริจาคเสื้อผ้าให้คนยากไร้” Boer กล่าว

Salvation Army ศูนย์บริจาคเสื้อผ้าแห่งเมือง New York ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ในจำนวนเสื้อผ้าที่ถูกนำไปบริจาคทั้งหมด แต่ละสัปดาห์จะมีเสื้อผ้าเกือบ 50 ตัน ที่ถูกปฏิเสธจากผู้รับบริจาค เนื่องจากสภาพของเสื้อผ้าไม่สามารถถูกใช้งานต่อได้

ถ้าวัสดุยังพอไปต่อได้ เสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกส่งไปขายที่ทวีปแอฟริกาในราคาเพียง 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าสภาพมันย่ำแย่ยิ่งกว่านั้น พวกมันจะถูกส่งไปเผาหรือฝังกลบอยู่ดี

“สำหรับผม ถ้าเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง ถูกขายกลับสู่มือผู้สวมใส่ได้อีกครั้ง นั่นย่อมดีกว่า เพราะการรีไซเคิลหมายถึงพลังงานและวัสดุที่ต้องเติมเข้าไปในกระบวนการอีก”

02 เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยแฟชั่นเหลือใช้

กระบวนการรีไซเคิลจะทำให้เส้นใยของสิ่งทอ โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์หดสั้นลง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบที่ได้น้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการ มันจึงไม่ค่อยคุ้มทุนในเชิงกำไรนักหากนำเส้นใยจากการรีไซเคิลมาผลิตเป็นสิ่งทอชิ้นใหม่ เทียบกับราคาเส้นใยที่เพิ่งสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีราคาถูกกว่า

สิ่งทอส่วนใหญ่จึงถูกหั่นชิ้นให้กลายเป็นผ้าเช็ดทำความสะอาด ฉนวนกันความร้อน หรือไม่ก็ฟูกที่นอน ยกเว้นสิ่งทอจากเส้นใยขนสัตว์ (Wool) ที่เมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้ว เส้นใยยังมีความยาวเพียงพอที่จะผลิตสิ่งทอขึ้นได้เหมือนเส้นใยใหม่

เครื่องจักรทำความสะอาดด้วยกระบวนการ Carbonization เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งทอทุกชิ้นสะอาดและพร้อมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ภาพโดย LUCA LOCATELLI

อุตสาหกรรมสิ่งทอในเมือง Prato เติบโตมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และพวกเขาคิดค้นเทคนิคในการรีไซเคิลเส้นใยขนสัตว์จากเสื้อผ้าที่ไม่เป็นที่ต้องการ มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เนิ่นนานก่อนที่โลกจะบัญญัติศัพท์ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ขึ้นมาเสียอีก

ทุกวันนี้ ในเมือง Prato มีธุรกิจสิ่งทอขนาดเล็กประมาณ 7,000 แห่ง โดย 3,500 แห่งในนั้นเป็นธุรกิจสิ่งทอรีไซเคิลจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งทั่วโลก ซึ่งมีการจ้างคนงานมากกว่า 40,000 คน สร้างเม็ดเงินกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 15 เปอร์เซ็นต์ของการรีไซเคิลเสื้อผ้าของโลกหรือ 143,000 ตันต่อปี (จากการผลิตกว่า 100 ล้านตัน) เกิดขึ้นที่นี่

ภาพโดย Comistra srl

ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ทรหดที่สุดนั่นคือการคัดแยกเสื้อผ้าออกเป็นหลากหลายโทนสีและประเภทวัสดุอย่างพิถีพิถัน ละเอียดยิบด้วยมือและสายตาที่เฉียบคม จากนั้นเสื้อผ้าที่คัดแยกแล้ว จะผ่านกระบวนการ Carbonization เพื่อขจัดสิ่งสกปรกจากเซลลูโลส ก่อนจะนำไปซักแห้งด้วยกรดไฮโดรคลอริก

ภาพโดย Comistra srl

จากนั้นเสื้อผ้าที่สะอาดเอี่ยมจะถูกส่งเข้าเครื่องหั่นแบบเปียกด้วยน้ำที่ใช้หมุนเวียนภายในโรงงานรีไซเคิล ในกระบวนการนี้กรงเล็บเหล็กจะฉีกผ้าออกจนกลายเป็นเส้นใยอีกครั้ง ก่อนจะส่งเส้นใยเหล่านั้นเข้าไปเป่าแห้งด้วยลมร้อน

เส้นใยขนสัตว์ที่ถูกจัดเรียงตามสี ล้างหั่นและเป่าด้วยลมร้อนอย่างแรง ภาพโดย LUCA LOCATELLI

เมื่อแห้งสนิท ผลลัพธ์ที่เห็นคือเส้นใยขนสัตว์รีไซเคิลละเอียดสีเดียวกลมกลืนกัน พร้อมนำมาปั่นเป็นเส้นด้าย เพื่อทอเป็นผ้าขนสัตว์เนื้อดีได้อย่างเส้นใยขนสัตว์บริสุทธิ์

หลังจากที่เสื้อผ้าขนสัตว์ ผ่านกระบวนการออกมาเป็นเส้นใย ก็พร้อมที่จะปั่นเป็นเส้นด้ายและทอเป็นเนื้อผ้า ภาพโดย Comistra srl

03 แฟชั่นที่ดีคือแฟชั่นที่ยั่งยืน

Matteo Ward ผู้อำนวยการ Fashion Revolution ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อผลักดันความโปร่งใสและยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานแฟชั่น กล่าวชื่นชมกระบวนการรีไซเคิลเสื้อผ้าของเมือง Prato

“นี่คือกระบวนการสร้างเสื้อผ้าชิ้นใหม่ ที่ลดทั้งมลพิษและลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้มากกว่าหนึ่งครั้ง โดยการแยกเสื้อผ้าขนสัตว์ออกจากกันตามเฉดสี ทำให้เส้นใยสามารถกลับเข้าสู่วงจรการผลิตได้โดยไม่ต้องย้อมสี ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างผลกระทบต่อ สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้มากกว่าหนึ่งครั้ง

“อีกประการที่สำคัญคือเป็นการเพิ่มสวัสดิภาพของสัตว์ที่ให้ขน อย่างเช่น เแกะ ซึ่งไม่ต้องถูกยัดเยียดความต้องการเส้นใยขนสัตว์มหาศาลจากอุตสาหกรรมแฟชั่นของมนุษย์”

ทายาทรุ่นที่ 3 บริษัท COMISTRA ที่ขยายธุรกิจครอบครัว ด้วยการออกคอลเลกชั่นเสื้อผ้าใหม่ ๆ จากเส้นใยขนสัตว์รีไซเคิล เพื่อนำสินค้าเข้าสู่ตลาดแฟชั่น ภาพโดย Comistra srl

จากนโยบายและการกดดันอันเข้มข้นจากภาคประชาสังคม ทุกวันนี้แบรนด์ Fast Fashion ขนาดใหญ่ของโลก อย่าง Zara และ H&M ต่างใช้เส้นด้ายรีไซเคิลจากเมือง Prato ในอุตสาหกรรมบางส่วนแล้ว แต่นั่นยังไม่เพียงพอ Boer แสดงความคิดเห็นว่าสหภาพยุโรปควรกำหนดให้การผลิตเสื้อผ้าใหม่ ต้องมีการใช้เส้นใยรีไซเคิลมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ได้แล้ว เพื่อเร่งความเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างความเสียหายในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน บริษัทสตาร์ตอัพทั่วโลก ต่างกำลังศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมการรีไซเคิลเส้นใยสังเคราะห์อย่างขมักเขม่น ไม่ให้เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ต้องจบชีวิตลงแค่ที่ฉนวนกันความร้อนหรือฟูกที่นอน เพื่อกระตุ้นกลไกทางตลาดให้ผู้ประกอบการต่างอยากนำพวกมันมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่อย่างเส้นใยขนสัตว์ ที่เกิดขึ้นในเมือง Prato

เส้นใยขนสัตว์ที่ถูกปั่นเป็นเส้นด้าย โดยมีสีอ้างอิงจากเสื้อผ้าเดิมที่เส้นใยเหล่านี้ถูกรีไซเคิลมา ภาพโดย Comistra srl

เมื่อพูดถึงแฟชั่นที่ยั่งยืน อีกรูปแบบธุรกิจที่ส่งเสริมการหมุนเวียนในภาคธุรกิจตามรายงานของมูลนิธิ Ellen MacArthur คือการเช่าแล้วคืน เพื่อให้เสื้อผ้าชิ้นนั้น ๆ ถูกหมุนเวียนใส่จนคุ้นค่าได้อย่างไม่รู้จบ

Rent the Runway แพลตฟอร์มให้เช่าเสื้อผ้าออนไลน์ที่กำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในประเทศสหรัฐอเมริกา คือตัวอย่างในการช่วยให้คุณสามารถตามเทรนด์แฟชั่น ไปพร้อม ๆ กับไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมโลกจนเกินไปนัก

อย่างไรก็ตาม Elizabeth Cline นักข่าวผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Fast Fashion กล่าวว่าการเช่ามีราคาทางสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งที่ต้องจ่ายเช่นเดียวกัน ดังนั้นสวมใส่สิ่งที่คุณมีอยู่ในตู้เสื้อผ้าที่บ้าน น่าจะเป็นการแต่งตัวที่ยั่งยืนที่สุดในเวลานี้

นางแบบ Rose Greenfield สวมชุดที่ออกแบบโดย Flavia La Rocca และทำจากเส้นใยขนสัตว์รีไซเคิล ในเมือง Prato ปัจจุบันมีขยะสิ่งทอเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้นที่ถูกรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ ตามรายงานของมูลนิธิ Ellen MacArthur ภาพโดย LUCA LOCATELLI

สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ชิ้นส่วนแห่งความแตกต่าง กระบวนการฟื้นชีวิตเศษผ้าสู่สินค้าหรูในจีน

 

Recommend