เราจะหยุดยั้งคลื่นขยะได้อย่างไร

เราจะหยุดยั้งคลื่นขยะได้อย่างไร

พลาสติกชีวภาพ คือพลาสติกที่สามารถผลิตให้ย่อยสลายทางชีวภาพได้ แต่ยังไม่ใช่ทางออก คำตอบคือเรายังคงต้องรีไซเคิลให้มากขึ้นและลดการใช้พลาสติกลงให้มากต่างหาก

เรียบเรียงจากข้อเขียนของ ลอรา ปาร์กเกอร์

 

เป็นเรื่องน่ายินดีหลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของประเทศไทยได้ออกมาเปิดเผยว่า การใช้พลาสติกของคนไทยลดลงไปมากในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา (ณ เดือนเมษายน 2019) ซึ่งอยู่ที่จำนวนราว 1,300-1,500 ล้านใบ  ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยการ “ลดการใช้” และ “นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)” คือทางออกที่ดีที่สุด ดีมากกว่าเทคโนโลยีใดๆ ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

พลาสติกชีวภาพ
โหลใบนี้บรรจุขยะที่รีไซเคิลไม่ได้และไม่ย่อยสลายที่แคทรีน เคลลอกก์ สร้างขึ้นในระยะเวลาสองปี เธอเขียนบล็อกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบขยะเป็นศูนย์ในบ้านเนื้อที่ 30 ตารางเมตรที่เธออาศัยอยู่กับสามีในวาเยโฮ แคลิฟอร์เนีย ขยะนี้เป็นของเธอทั้งหมด

พลาสติกชีวภาพ คืออีกหนึ่งทางออกหรือไม่? 

ในโลกซึ่งอาจดูเหมือนท่วมท้นไปด้วยขยะพลาสติกที่ราวกับอยู่ไปชั่วนิรันดร์ พลาสติกที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้คือทางออกใช่หรือไม่ อาจจะไม่ใช่ แม้แต่อุตสาหกรรมพลาสติกเองยังถกเถียงกันว่าคำว่า “เสื่อมทางชีวภาพ” (biodegradable)  หรือย่อยสลายทางชีวภาพ แปลว่าอะไรกันแน่ และพลาสติกบางชนิดที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถย่อยสลายทางชีวภาพ  แต่พลาสติกที่ทำ จากพืช หรือ “พลาสติกชีวภาพ” (bioplastic) บางชนิดกลับไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้

พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพมีใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980  และมีการทำตลาดในช่วงแรกโดยบอกเป็นนัยว่า ขยะเหล่านี้จะหายไปได้เองเมื่อนำไปทิ้ง ไม่ต่างจากใบไม้บนพื้นป่าที่ถูกเห็ดราและจุลชีพในดินย่อยสลาย ทว่า ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพไม่อาจทำ ได้ตามคำสัญญา เช่น ภายใต้สภาพแวดล้อมไร้ออกซิเจนและมืดมิดของบ่อขยะ หรือในน่านนํ้าเย็นเฉียบของมหาสมุทร และคุณไม่สามารถโยนทิ้งให้กลายเป็นปุ๋ยในสวนหลังบ้านได้ การย่อยสลายพลาสติกต้องใช้ความร้อน 55 องศาเซลเซียส ของเครื่องหมักเชิงอุตสาหกรรม และบริษัทปุ๋ยอินทรีย์ หลายรายเจาะจงรับเฉพาะพลาสติกที่ได้มาตรฐานบางประเภทเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเศษชิ้นส่วนใดๆ หลงเหลืออยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของคนได้ แล้วถ้าคุณโยนขยะย่อยสลายทางชีวภาพได้รวมไปกับขยะรีไซเคิลก็อาจทำให้ขยะอย่างหลังใช้งานไม่ได้อีก เพราะทำให้เกิดส่วนผสมที่นำไปผลิตพลาสติกคงทนใหม่ไม่ได้อีกนั่นเอง

เมื่อปี 2015 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) จัดให้ขยะย่อยสลายทางชีวภาพเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ  เพราะไม่ช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลทะลักออกสู่ท้องทะเล หรือป้องกันโอกาสในการเกิดสารเคมีรั่วไหลหรือภัยคุกคามทางกายภาพต่อสรรพชีวิตในมหาสมุทร

วิศวกรบางคนกำลังมองหาวิธีรับมือกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เจนนา แจมเบ็ก และคณะที่สถาบันวัสดุใหม่ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย กำลังใช้พอลิเมอร์ที่สังเคราะห์จากจุลชีพมาทำบรรจุภัณฑ์ที่พวกเขาหวังว่าจะย่อยสลายทางชีวภาพได้เร็วในมหาสมุทร

บริษัทพอลิแมทีเรีย (Polymateria) ในอังกฤษกำลังทดลองวิธีที่แตกต่างออกไป  โดยพัฒนาสารเติมแต่งที่จะย่อยสลายพลาสติก ไม่ว่าจะแบบชีวภาพหรือสังเคราะห์ได้เร็วขึ้น นีลล์ ดันน์ ซีอีโอของบริษัท กล่าวว่า พวกเขาตั้งเป้าในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ “ทำให้พลาสติกลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม”

ฟังดูเป็นเป้าหมายที่อาจหาญไม่น้อย  เพราะแม้แต่ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายทางชีวภาพที่ดีที่สุดก็จะไม่หายวับไปกับตาได้เอง กระถางต้นไม้ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ขั้นทดลองของพอลิแมทีเรีย อาจใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึงสองปี ถ้าหากโยนทิ้งลงคูคลอง นักวิจารณ์บางคนบอกว่า ขยะย่อยสลายทางชีวภาพหลงลืมปัญหาระดับพื้นฐานไป นั่นคือ วัฒนธรรมในการใช้แล้วทิ้งของเรา

“เรากำลังส่งเสริมเรื่องอะไรกันแน่”  รัมณี นารายัณ อาจารย์ด้านวิศวกรรมเคมี ตั้งคำถาม “โยนทิ้งแล้วขยะจะหายไปเองงั้นหรือ” เขากล่าวว่า แนวทางที่มีความรับผิดชอบมากกว่าคือ  รูปแบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (circular economy) ซึ่งจะนำทุกอย่างมาใช้ซํ้า (reuse) หรือนำไปรีไซเคิล และ “การรั่วไหล” สู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะย่อยสลายทางชีวภาพหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

พลาสติกชีวภาพ
ห่วงรัดเบียร์หกกระป๋องย่อยสลายได้ทำ จากขยะในอุตสาหกรรมเบียร์ ผลิตโดยบริษัทอี6พีอาร์

นอร์เวย์แสดงให้เห็นว่า การรีไซเคิลขวดพลาสติกสามารถทำให้สัมฤทธิผลได้แค่ไหน ปัจจุบัน นอร์เวย์นำ ขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้ถึงร้อยละ 97  โดยผู้ที่นำ ขวดพลาสติกมาหย่อนตู้หยอดเหรียญที่ติดตั้งไว้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตจะได้รับเงินคืน

ทว่าการรีไซเคิลก็ยังมีข้อจำกัด หลายเสียงบอกว่าทางออกหนึ่งคือ เราต้องใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งให้น้อยลงตั้งแต่เริ่มแรก ขบวนการเคลื่อนไหว “ขยะเป็นศูนย์” ที่เริ่มขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1990 กำลังได้รับความนิยมมมากขึ้นโดยมีชุมชนหลายร้อยแห่งทั่วโลกนำไปใช้

ในสหราชอาณาจักร เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยมเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดช่องหรือชั้นวางสินค้าไร้พลาสติกขึ้นมา และยังกำลังพิจารณาว่าจะเก็บภาษีพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการรณรงค์เพื่อให้อังกฤษปลอดขยะพลาสติกภายใน 25 ปี

จีนกำลังเป็นแรงจูงใจให้ทำเช่นนั้น เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้วที่ประเทศนี้รับซื้อพลาสติกรีไซเคิลเป็นปริมาณราวครึ่งหนึ่งของทั้งโลก แต่ในปีนี้ จีนระงับการนำ เข้าขยะเกือบทั้งหมด ขยะรีไซเคิลจึงกองท่วมอยู่ในประเทศที่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา “นั่นทำให้ปัญหาย้อนกลับไปที่ประเทศต้นตอ” แจมเบ็กบอกก่อนจะทิ้งท้ายว่า  “เราหวังว่าสิ่งนี้จะผลักดันไปสู่การจัดการแบบหมุนเวียนมากขึ้น”

(อ่านต่อหน้า 2)

Recommend