พบไมโครพลาสติก บนยอดเขาเอเวอเรสต์

พบไมโครพลาสติก บนยอดเขาเอเวอเรสต์

จากธารน้ำแข็งที่หดตัวลงสู่การ พบไมโครพลาสติก บนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก สัญญาณอันน่าพรั่นพรึงของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

สำหรับนักผจญภัยทั่วโลกภาพของยอดเขาเอเวอเรสต์ถือเป็นภาพที่ยากจะลืมเลือน ภาพของหิมะที่ตกลงมาจากยอดเขา น้ำแข็งที่ไหลลงมา รวมไปถึงทิวทัศน์อันน่าทึ่ง แต่บนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกกลับ พบไมโครพลาสติก

เอเวอเรสต์
ภาพนักปีนเขาที่กำลังไต่ขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ในเดือนพฤษภาคม 2019 ในแต่ละปีผู้คนที่ขึ้นไปบนนั้นได้ทิ้งบางอย่างไว้โดยไม่รู้ตัวในรูปของพลาสติกขนาดเล็กที่หลุดออกจากวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้สวมใส่อย่างเสื้อผ้า (เรื่อง : เฟรดดี วิลกินสัน ภาพถ่าย : มาร์ก ฟิชเชอร์, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก)

ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ปี 2019 ทีมนักวิจัยนำเครื่องตรวจวัดอากาศเพื่อเก็บข้อมูลจำนวน 100 ตัวอย่างของหิน น้ำ หิมะ น้ำแข็ง และอื่น ๆ

แม้การตรวจพบไมโครพลาสติกอาจไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมในทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นน่าเป็นห่วงมากกว่าคือ เรากำลังสูญเสียธารน้ำแข็งที่สูงที่สุดในโลกซึ่งจะละลายเป็นน้ำจืดไปอย่างรวดเร็ว และค่อย ๆ ส่งผลให้ชุมชนและการท่องเที่ยวบนภูเขาที่ต้องพึ่งพาธารน้ำแข็งได้รับผลกระทบในอนาคต

“ถึงเวลาที่ต้องตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง” พอล มายอว์สกิ หัวหน้าคณะสำรวจและผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยเมน กล่าว “แม้เอเวอเรสต์จะอยู่ที่ระดับสูงมาก แต่ในอนาคตจะได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างแน่นอน”

หิมะที่แสนสกปรก

ในเช้าที่แสนสดใส นักปีนเขา มารีอุสซ์ โปโตก์กี ได้เฝ้าดูกลุ่มนักปีนเขาขณะหยุดพักที่ความสูง 8,382 เมตร ก่อนเดินต่อเพื่อพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ในตอนแรก โปโตก์กี นักธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเมน วางแผนเก็บตัวอย่างหิมะที่ยอดเขา แต่เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการเก็บตัวอย่างจึงต้องเปลี่ยนมาเก็บตัวอย่างที่ความสูง 8,077 เมตร และนำมาวิเคราะห์ผลในภายหลัง

ผลสำรวจเผยให้เห็นว่า ตัวอย่างที่รวบรวมได้ระหว่างจุดเบสแคมป์และบัลโคนีนั้นเต็มไปด้วยเส้นใยไมโครพลาสติก “ปริมาณของไมโครพลาสติกที่พบบนภูเขาสูงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ” นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อิโมเกน แนปเปอร์ ผู้วิเคราะห์ตัวอย่างหิมะในห้องปฏิบัติการของเธอที่มหาวิทยาลัยพลายเมาธ์ ในสหราชอาณาจักร กล่าวและเสริมว่า “เป็นสถานที่ที่ฉันยังถือว่าอยู่ห่างไกลที่สุด และควรเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ที่สุดบนโลก”

อย่างไรก็ตามเกือบทุกสถานที่บนโลกที่นักวิจัยสำรวจ ล้วนพบไมโครพลาสติก ตั้งแต่ซอกหลืบที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร พื้นที่โล่งกว้าง หรือแม้แต่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ไมโครพลาสติกบางส่วนถูกพัดพาไปไกลพร้อมกับฝุ่นละอองในสายลม หรือกระแสน้ำในมหาสมุทร

เส้นใยของผ้าใยสังเคราะห์จะหลุดร่วงขณะสวมใส่ซึ่งการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า เสื้อผ้าใยสังเคราะห์หนึ่งกรัมจะมีเส้นใยไมโครพลาสติกหลุดออกจากเนื้อผ้า 400 เส้นทุก ๆ 20 นาทีของการใช้งาน และพบเส้นใยสังเคราะห์ได้ถึง หนึ่งพันล้านเส้นใยต่อปี ในเสื้อโค้ทที่มีน้ำหนักประมาณ 900 กรัม

ไมโครพลาสติกบนภูเขาเอเวอเรสต์ส่วนใหญ่ประกอบด้วยโพลีเอสเตอร์ อะคริลิกไนลอน และโพลีโพรพีลีน ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทั่วไปในอุปกรณ์กลางแจ้ง ดังนั้นแม้ว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจะถูกห้ามใช้ทั่วทั้งหุบเขาคัมบูและพื้นที่ปีนเขาแล้ว แต่ยังพบการสะสมไมโครพลาสติกจากอุปกรณ์เหล่านี้ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่า ลมอาจพัดพาไมโครพลาสติกขึ้นไปบนภูเขา มายอว์สกี กล่าว

ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กเกินที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าจึงเป็นเรื่องยากต่อการจัดการ ต่างจากขยะชิ้นใหญ่ที่สามารถรีไซเคิลได้ แนปเปอร์กล่าว “แต่การแก้ปัญหาจำเป็นต้องพึ่งพาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้ายิ่งขึ้น”

ในขณะที่เราสัมผัสกับไมโครพลาสติกเป็นประจำทุกวัน แนปเปอร์กล่าวว่า การค้นพบไมโครพลาสติกที่ระดับความสูงมากยืนยันได้ว่า ตอนนี้เราพบไมโครพลาสติกตั้งแต่ก้นทะเลลึกจนถึงยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อย

สายพานลำเลียงสู่ธารน้ำแข็ง

ขณะที่โปโตก์กีกำลังเก็บตัวอย่างหิมะบริเวณเนินเขาของเอเวอเรสต์ ทีมของอเล็กซ์ เทต นักภูมิศาสตร์ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นำทีมสำรวจเบสแคมป์และบริเวณโดยรอบธารน้ำแข็งคุมบา เพื่อความแม่นยำที่สุดในการสำรวจครั้งนี้ ทีมสำรวจจึงใช้ทั้ง LIDAR (การสแกนด้วยเลเซอร์) และโฟโตแกรมเมตรี (การถ่ายภาพจากหลายมุม) เพื่อสร้างแบบจำลองสามมิติที่เก็บทุกรายละเอียด

นักวิจัยด้านธารน้ำแข็ง โอเวน คิง จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ ในสหราชอาณาจักร เปรียบเทียบภาพปัจจุบันกับภาพถ่ายในอดีตซึ่งเป็นภาพที่เกิดจากการสำรวจทางอากาศและดาวเทียม เพื่อสร้างพื้นผิวของธารน้ำแข็งคุมบา รวมถึงธารน้ำแข็งอื่น ๆ อีก 78 แห่งในบริเวณใกล้เคียงกับเทือกเขาเอเวอเรสต์ให้เป็นแบบโครงสร้างสามมิติ โดยใช้ชุดข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 1962

แม้ข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงพอ แต่ถือเป็นพื้นฐานในการหาปริมาณการสูญเสียน้ำแข็งในอนาคต ซึ่งตั้งแต่ปี 1962 ธารน้ำแข็งทั่วเทือกเขาหิมาลัยได้ละลายอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันมีอัตราการลดลงเร็วกว่าเมื่อหกทศวรรษที่แล้วมากกว่าร้อยละ 50 อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมีแนวโน้มที่จะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียสบนเนินเขาหิมาลัยทางตอนใต้ตลอดช่วงเวลาที่ศึกษา และพบว่าน้ำแข็งกำลังละลายที่ระดับความสูงมากกว่า 6,096 เมตร คิงอธิบาย โดยปกติแล้วที่ความสูงระดับนั้นน้ำแข็งควรแข็งตัวตลอดทั้งปี และหิมะควรสะสมเพื่อกลายเป็นธารน้ำแข็ง

ธารน้ำแข็ง

การวิจัยของคิงแสดงให้เห็นว่าธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยไม่ได้ลดลงมากนักแต่น้ำแข็งบนยอดเขาค่อย ๆ ลดลงก่อนที่จะลงสู่หุบเขา ตามปกติแล้วหิมะจะทับซ้อนบนธารน้ำแข็งและขับตัวเป็นน้ำแข็งแล้วไหลลงมายังเบื้องล่างของภูเขา แต่เมื่ออุณหภูมิอุ่นขึ้นและหิมะตกน้อยลง น้ำแข็งก็เกิดน้อยลง ส่งผลให้ธารน้ำแข็งเริ่มละลายและบางลง

ในทางตรงกันข้าม ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่หลายแห่งบนเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งอยู่ระดับความสูงที่ต่ำลงมา เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นกลับทำให้ธารน้ำแข็งบริเวณนี้มี่ขนาดใหญ่และหนาขึ้น เนื่องจากธารน้ำแข็งยึดเกาะกับเศษหินจนกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งหนาปกคลุมชั้นน้ำแข็งด้านล่าง เปรียบเหมือนเป็นฉนวนป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ ส่วนน้ำแข็งที่อยู่ในระดับความสูงใกล้ยอดเขาจะละลายง่ายและเร็วกว่าเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น

อนาคตของเอเวอเรสต์และเทือกเขาหิมาลัยจะเป็นอย่างไร ทีมงานหวังว่าผลงานของพวกเขาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการระบุวิธีการแก้ใขปัญหา สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ มายอว์สกี กล่าวว่า “ไม่ว่าผู้คนจะไปที่ใดก็ตามเราจะทิ้งรอยประทับของเราไว้ และรอยประทับนั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเสมอไป”

***แปลและเรียบเรียงโดย พชร พงศ์ยี่ล่า

โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หิมาลัย : เมื่อหลังคาโลกกลายเป็นสายน้ำ

หิมาลัย

Recommend