ไม่ใช่แค่เมนูโปรดของพะยูน แต่ หญ้าทะเล คือพืชที่กักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า เป็นความหวังในการแก้ปัญหาโลกร้อน
หญ้าทะเล เป็นอาหารของพะยูน และหญ้าทะเลก็ขึ้นได้ยาก พะยูนเลยมีน้อยไปตามหญ้าทะเล ความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเลสำหรับเราแล้วมีเพียง 3 ประโยคนี้ พอมีคนชวนไปร่วมทริปปลูกหญ้าทะเลที่จังหวัดตรัง คลังความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเลอันน้อยนิดจึงสั่นคลอน เรียกร้องให้ไปหาคำตอบว่า ที่จริงแล้ว ‘หญ้าทะเล’ คืออะไร ทำหน้าที่ใดในระบบนิเวศ ทำไมจึงเป็นพืชที่โครงการ “ปลูก ลด ร้อน” ของเอสซีจีให้ความสนใจ และสร้างโครงการ “ใคร Make Change” ชวนคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวไปรู้จักกับหมู่บ้านประมงที่จริงจังเรื่องหญ้าทะเลและการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล เพิ่มระดับความเขียวในใจให้เข้มขึ้นไปอีก
หมู่บ้านมดตะนอย เพราะทะเลคือ “บ้าน” สิ่งแวดล้อมจึงสำคัญ
ที่ชุมชนมดตะนอย อ.กันตัง จ.ตรัง ทุกหลังคาเรือทำอาชีพประมงพื้นบ้านสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ที่นี่ทำประมงพื้นบ้านแบบ 100% ที่ไม่ใช้อุปกรณ์ทำลายล้าง แหอวนของที่นี่จะใช้ตาใหญ่กว้าง 4 นิ้วขึ้นไป จับปลาไม่ได้ลูกปลา จับปูไม่ได้ลูกปู ไม่ใช้อวนที่ลากไปตามพื้นทะเลกวาดทลายแนวปะการัง ผู้คนที่นี่จริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก มีการแยกขยะกันทุกครัวเรือน มีผู้นำชุมชนที่ปลูกจิตสำนึกให้ทุกครัวเรือนใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งผู้ใหญ่และเด็กตัวน้อยๆ
และเมื่อพูดถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูความสมบูรณ์ของท้องทะเล เราจะไม่แยกชายฝั่งออกเป็นคนละเรื่อง ฉะนั้น ผู้คนบ้านมดตะนอยจึงดูแลตั้งแต่ขยะในหมู่บ้าน ไม่ปล่อยทิ้งลงทะเล ขยะที่เกยตื้นมาก็มีการเก็บสม่ำเสมอ ขยะที่เห็นลอยน้ำมาระหว่างแล่นเรือ ก็ไม่ปล่อยผ่าน ต้องเก็บขึ้นมาจัดการคัดแยกบนบก ส่งต่อไปรีไซเคิล โดยราคาขายต่อกิโลไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นสิ่งที่พวกเขาทำเป็นชีวิตจิตใจ พวกเขาสนใจป่าชายฝั่ง มีความรู้เรื่องป่าโกงกางและหญ้าทะเล ซึ่งเป็นทั้งปราการธรรมชาติช่วยชะลอคลื่นลมที่พัดแรงเข้าหาฝั่ง สำคัญคือเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาก็เป็นแหล่งประกอบอาชีพชาวประมงของพวกเขา
เด็กๆ ที่ชุนมดตะนอยได้รับการปลูกจิตสำนึกเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เล็ก การรักษาทะเลเป็นเรื่องจริงจังสำหรับพวกเขา เราได้เห็นน้องที่เอื้อมมือไปสุดตัว เพื่อเก็บขวดพลาสติกหนึ่งใบขึ้นมาจากน้ำ และเมื่อกวาดมองชายฝั่งของชุมชนก็ไม่เห็นขยะสักชิ้นให้รกตา
“หญ้าทะเลเปรียบเหมือนหัวใจ ป่าโกงกางเปรียบเหมือนปอด” บังชา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านมดตะนอย ว่าอย่างนั้น “หญ้าทะเลมันก็ต้องอยู่คู่กับการประมง พืชชนิดที่สำคัญกับชาวประมงอย่างมากคือหญ้าทะเล เพราะมันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา เป็นแหล่งอาหารของพะยูน เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อที่ว่าได้มาอยู่ในหญ้าทะเล มาหลบภัย อาศัยเป็นแหล่งอาหาร พอเติบโตออกจากหญ้าทะเลไปแล้ว ชาวบ้านก็ได้ทำประมง จับปลา นี่เป็นจุดที่ชาวประมงต้องมีหญ้าทะเล”
“ป่าโกงกางเป็นแนวกันคลื่นลม มีรากช่วยยึดหน้าดิน เป็นแหล่งสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งหากินของชาวบ้าน ถ้าจะให้เปรียบเทียบหญ้าทะเลกับป่าโกงกาง มันเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะหญ้าทะเลมันเป็นเหมือนหัวใจในร่างกายของเรา ส่วนป่าโกงกางก็เปรียบเสมือนปอด ชุมชนประมงพื้นบ้านจะขาดสองอย่างนี้ไปไม่ได้” บังชา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านมดตะนอย กล่าว
ตรัง จังหวัดที่มีหญ้าทะเลหลากหลายพันธุ์ที่สุดในไทย
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน The Guardian รายงานข่าวการค้นพบต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นคือ หญ้าทะเล ซึ่งไม่ได้ใหญ่ในทางสูง แต่หมายถึงแนวกว้าง เป็นหญ้าทะเลต้นเดียวที่แทงยอดแตกแผ่กว้างออกไปราว 200 ตารางกิโลเมตร ในแนวชายฝั่งทะเลตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งนักวิจัยเก็บตัวอย่างเพื่อไปตรวจ DNA ก็บังเอิญได้พบกับเรื่องน่าอัศจรรย์ใจ นี่เป็นข่าวดีของธรรมชาติ และข่าวดีของเรา ทั้งๆ ที่เราอาจไม่รู้ว่า หญ้าทะเล มีความสำคัญยิ่งใหญ่ระดับมรดกทางธรรมชาติ แต่ถูกลืมไปแสนนาน
“ประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลประมาณแสนกว่าไร่ ที่ตรังมี 30,000 กว่าไร่พอๆ กับที่กระบี่ แต่ชนิดพันธุ์หลากหลายกว่า ยิ่งอาหารมีตัวเลือกมาก พะยูนก็อยากไปอยู่ตรงนั้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราพบพะยูนที่ตรังมากเป็นพิเศษ” คุณบรรจง นฤพรเมธี ตั้งข้อสังเกตว่าพะยูนก็ไม่ต่างจากคน ถ้ามีชนิดพันธุ์เดียวให้กินก็อาจเบื่อได้
คุณบรรจง นฤพรเมธี ผู้ผันตัวจากอาชีพประมง มาบุกเบิกการเพาะปลูกหญ้าทะเลในจังหวัดตรัง โดยมีจุดเปลี่ยนจากเหตุการณ์สึนามิที่ถล่มภาคใต้ของไทยเมื่อพ.ศ. 2547 ชายฝั่งตรังได้รับความเสียหายมาก ทั้งเรือและอุปกรณ์ทำกินไปจนถึงแหล่งปลาในทะเล การฟื้นฟูต้องกลับไปตั้งต้นที่ระบบนิเวศ เพื่อให้ปลาได้กลับมาเติบโตในทะเลตรังได้อีก เขาเล่าว่า “หญ้าทะเลจริงๆ ก็คือพืชที่มีโครงสร้างเหมือนพืชบนบกผ่านการวิวัฒนาการมายาวนานจนไปอยู่ใต้ทะเลได้ ทั่วโลกมีหญ้าทะเลอยู่มากมาย ส่วนในไทยหญ้าทะเลส่วนใหญ่จะขึ้นตามแนวชายฝั่งของทะเลฝั่งอันดามันมากกว่าอ่าวไทย แต่ละจังหวัดก็มีชนิดหญ้าทะเลไม่เหมือนกัน ส่วนที่ตรังเราเจอหญ้าทะเลหลากหลายมากที่สุด คือพบถึง 13 ชนิดพันธุ์”
ตรังมีที่ราบลุ่มชุ่มน้ำ ที่อยู่ในอนุสัญญาแรมซาร์ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อใช้คุ้มครองความหลากหลายทางด้านชีวภาพของพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำ
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของตรังทำให้หญ้าทะเลที่นี่มีความหลากหลายที่สุด จังหวัดตรังประกอบด้วยแม่น้ำหลัก 2 สายคือแม่น้ำตรังกับแม่น้ำปะเหลียน แม่น้ำ 2 สายนี้ทำให้เกิดลุ่มน้ำที่เรียกว่าลุ่มน้ำตรังกับลุ่มน้ำปะเหลียน 2 ลุ่มน้ำนี้เมื่อรวมกันจะเป็น ‘ที่ราบลุ่มชุ่มน้ำต่ำ’ ภูมิศาสตร์นี้สร้างตะกอนดินบริเวณปากแม่น้ำ ทำให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของหญ้าทะเลหลายชนิด ประกอบกับความลาดชันของพื้นที่ชายหาด ซึ่งตามชายฝั่งของจังหวัดตรังจะมีความลาดชันค่อนข้างน้อย เพราะหญ้าทะเลต้องโตในที่ราบ ความลาดชันน้อย ต้องมีเกาะแก่งเพื่อกันคลื่นลม และเป็นตัวดักตะกอนแหล่งรวมสารอาหาร ตรังจึงเป็นจังหวัดที่มีลักษณะกายภาพที่เหมาะสมกับการเติบโตของหญ้าทะเล
หญ้าทะเลกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า
“หญ้าทะเลน่าจะเป็นตัวแทนของระบบนิเวศโลกเลยก็ว่าได้” ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ทำงานร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกมากมาย เขาพูดถึงหญ้าทะเลที่คนมักนึกถึงเป็นอันดับรองเมื่อพูดถึงระบบนิเวศทางทะเล ที่ปะการังและป่าชายเลนจะมาเป็นอันดับแรก ทั้งที่ 3 นิเวศนี้เติบโตอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ หากได้มองเข้าไปในผืนหญ้าทะเลจะได้เห็นตัวอ่อนสัตว์น้ำเล็กๆ มากมาย หลายชนิดต้องโตในหญ้าทะเลก่อนแล้วค่อยไปใช้ชีวิตในแนวปะการังต่อ หญ้าทะเลทำหน้าที่นี้เช่นเดียวกับป่าชายเลน
หญ้าทะเลในไทยที่มีพื้นที่รวมกันแสนกว่าไร่ ที่สภาพสมบูรณ์ดีจริงๆ รวมกันไม่ถึง 20 % ส่วนใหญ่จึงถือว่าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เพราะว่ายังได้รับปัจจัยคุกคาม เช่น น้ำเสีย ดินตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่ง บางแห่งเครื่องมือประมงก็มีส่วน
หญ้าทะเลเริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นมาในฐานะพระเอกก็เมื่อคำว่า Blue Carbon หรือคาร์บอนที่ถูกเก็บไว้ในระบบนิเวศทางทะเล เป็นที่รับรู้มากขึ้นว่ามีบทบาทสำคัญ และมีระดับในการดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าป่าบก บลูคาร์บอนมีทั้งที่กับเก็บโดบมหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่งเก็บ อย่างป่าชายเลนซึ่งกักเก็บผ่านกิ่งก้านใบและลำต้น แต่ว่าโดยศักยภาพแล้ว หญ้าทะเลดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าทั้งที่มีขนาดเล็ก เพราะองค์ประกอบของต้นหญ้าทะเลมีทั้งใบ เหง้า และรากอยู่ใต้ดินซึ่งอยู่ใต้น้ำอีกที เมื่อดูดซับคาร์บอนแล้ว ก็ถือว่ากักเก็บไว้ถาวรเลยก็ว่าได้ ซึ่งต่างจากระบบนิเวศบนบกที่อาจเกิดไฟป่าและปล่อยคาร์บอนกลับกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ หญ้าทะเลยังมีโครงสร้างรากที่ทำให้โครงสร้างดินสลับซับซ้อน ยิ่งเป็นตัวช่วยในการทำหน้าที่นี้ ในขณะที่ใบหญ้าที่ย่อยสลายไปก็กลายเป็นปุ๋ย เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารได้อีก
ทางสหประชาชาติได้กำหนดให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ หญ้าทะเลเป็นหนึ่งในพืชที่ถูกพูดถึงในฐานะเครื่องมือของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่คือเหตุผลสำคัญสำหรับองค์กรใหญ่ที่ทำเรื่องการปลูกป่าบกมายาวนาน เริ่มให้ความสำคัญกับการปลูกหญ้าทะเล
พื้นที่ที่บังชาเลือกให้เราไปปลูกหญ้าทะเลจัดว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม เป็นที่ราบที่มีน้ำลงให้เข้าถึงพื้นที่ได้ มีน้ำขึ้นท่วมให้หญ้าทะเลเติบโต และมีจุดกำบังลม ซึ่งจะช่วยให้อัตราการรอดมากถึง 50 %
ถึงตอนนี้ทั้งเราและเยาวชนในทริป ‘ใคร Make Change’ ก็รู้แล้วว่าหญ้าทะเลมีคุณสมบัติดีเลิศ และเคยได้ยินมาไม่ต่างกันว่า “หญ้าทะเลปลูกยาก” แล้วจะปลูกยังไงให้ได้ผล ก็ได้เวลาลงเรือไปยังที่ราบลุ่มชุ่มน้ำต่ำไปทดลองปลูกหญ้าทะเลกันจริงๆ โดยมีบังชาและคุณบรรจงคอยให้ความรู้
“ยาก แต่ไม่ได้ยากมาก เพียงแต่ต้องคิดถึงปัจจัยในการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นปริมาณแสง ความเค็มของน้ำทะเล โครงสร้างน้ำทะเล คุณภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อุณหภูมิของน้ำคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ซึ่งนี่ก็ไปสอดคล้องกับวิกฤติโลกที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลบางส่วนปรับตัวไม่ทัน”
ต้นอ่อนหญ้าทะเลที่งอกจากเมล็ดซึ่งเพาะกันในแล็บ การคืนความสมบูรณ์ของพื้นที่หญ้าทะเล อาจเริ่มจากปลูกด้วยหญ้าทะเลชนิดหนึ่งก่อน เพื่อสร้างสภาพของดินให้เหมาะสมกับการเติบโตของหญ้าทะเล ให้มีโครงสร้างดินที่ดีก่อน แล้วค่อยนำพันธุ์อื่นๆ ไปปลูก
ต้นอ่อนหญ้าทะเลที่พวกเราได้ปลูกกันเพาะขึ้นในแล็บ กระบวนการเพาะไม่ยากแต่ต้องใส่ใจ ส่วนที่ยากคือการเติบโตในพื้นที่จริง ‘อัตรารอด’ คือสิ่งที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการเพาะปลูกหญ้าทะเลโดยมนุษย์ “เรานำเมล็ดไปผ่านกระบวนการเพื่อให้อัตรารอดสูงขึ้นในพื้นที่ระบบนิเวศเสื่อมโทรม ทำให้เกิดอัตราเร่งในการคืนความสมบูรณ์ นี่คือจุดประสงค์หลักของการปลูก” คุณบรรจงบอก และดร.เพชร เสริมว่า “จริงๆ พะยูนกับหญ้าทะเลเขาเกิดมาคู่กัน เป็นวิวัฒนาการที่ว่าทำไมพะยูนจะต้องกินหญ้าทะเล มีงานวิจัยที่ว่าพะยูนเป็นนักปลูกหญ้าทะเล เพราะเวลาที่พะยูนกินหญ้าทะเลก็กินเมล็ดเข้าไปด้วย เมล็ดหญ้าทะเลที่พะยูนคายออกมาก็เติบโตได้ เติบโตดีด้วย เขาจึงเป็นนักกินและนักปลูกหญ้าทะเลไปในตัว”
สิ่งมีชีวิตไม่ได้เติบโตอย่างโดดเดี่ยว เราต่างอาศัยแรงบันดาลใจที่มีร่วมกัน
ทริปนี้เป็นหนึ่งในการสนับสนุนพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกด้วยการเสนอโครงการสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อมเข้ามา ไม่ได้มีเงินเป็นรางวัล แต่จะพาไปสัมผัสประสบการณ์ปลูกหญ้าทะเลที่ตรัง เป็นแนวคิดแสนเรียบง่าย ทว่ามีพลังจุดประกาย เมื่อประโยชน์ของหญ้าทะเลกลายเป็นความรู้ใหม่ที่ฝังเข้าไปในใจของพวกเขาที่รักสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว หลายคนได้แรงบันดาลใจจากคำศัพท์ใหม่อย่าง Blue Carbon ที่เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกที่นี่ กระตุ้นให้พวกเขาอยากไปค้นคว้าต่อ
ซันมา – รสิตา พระคง วัย 16 ปี แกนนำกลุ่มเยาวชนมดตะนอย ร่วมกิจกรรมอนุรักษ์มาตั้งแต่ 6 ขวบ เธอยืนยันว่าการปลูกหญ้าทะเลและโกงกางเห็นผลจริงจากพื้นที่โล่งๆ ต้นไม้ที่เธอและเพื่อนๆ ปลูกก็เติบใหญ่ให้เห็น “หนูเกิดในหมู่บ้านชายทะเล มีป่าชายเลนล้อมรอบ หมู่บ้านหนูทำประมง 100 % ทะเลคือบ้านของหนู” จากที่ทำตามผู้ใหญ่แบบยังไม่รู้อะไร การปลูกฝังตั้งแต่เด็กทำให้ซันมารักธรรมชาติ ไม่อยากให้ใครมาทำลายสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกนั้นทำให้เธอทำกิจกรรมต่างๆ เรื่อยมา
และยิ่งได้มาพบปะทำกิจกรรมกับคนในชุมชนตัวจริงทุกเพศทุกวัยที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ได้จับต้นอ่อนหญ้าทะเลปักลงดินโคลนในพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้เจอกับพายุที่พาฝนกรูใส่วาบใหญ่แล้วผ่านไป ให้รู้สึกถึงฤดูกาลและภูมิอากาศที่แตกต่างอย่างฉับพลันโดยไม่อาจต่อกร ได้สัมผัสน้ำทะเลสีขุ่นกับหาดทรายสีน้ำตาลอันอุดมไปด้วยแร่ธาตุเหมาะแก่การเติบโตของป่าชายฝั่ง ที่อาจเคยคิดว่าสวยสู้ทะเลสีฟ้าใสและหาดทรายขาวไม่ได้ แต่การรับรู้นั้นเปลี่ยนไป เมื่อรู้ว่ามีคุณค่าบางอย่างงอกงามขึ้นจากพื้นที่เหล่านี้ เป็นคุณค่าที่ใหญ่กว่าตัวเอง เพราะมันหมายถึงโลกใบนี้
ทั้งเด็กๆ ในชุมชนมดตะนอยและผู้มาเยือนต่างช่วยกันปลูกหญ้าทะเลอย่างระมัดระวัง ใช้ไม้ปักนำให้เกิดหลุมแล้วค่อยดันต้นอ่อนลงไปยังเบามือ ไม่ใช้ต้นหัก ใช้ดินกลบพอไม่ให้ถูกกระแสน้ำพัดหลุดลอย แต่ปล่อยให้ใบได้โบกโบยขึ้นเหนือดินด้วย
การมาพบกันของผู้คน เหตุการณ์ ณ ชุมชนที่แสนเข้มแข็ง ผ่านการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ทำให้เรื่องราวของการอนุรักษ์หญ้าทะเลค่อยๆ เปล่งเสียงดัง การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือจากผู้คนหลากหลาย เป็นที่คาดหวังได้ว่าจะเกิดความต่อเนื่องของการร่วมด้วยช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ทุกคนถือได้ว่าเป็นเจ้าของอนาคตควรช่วยกันบอกเล่าความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
เรื่อง อาศิรา พนาราม
อ่านเพิ่มเติม อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง การรวมตัวของคนชุมชนเพื่อภารกิจฟื้นฟูท้องทะเล