“ไต้ฝุ่นยางิ ฝนตกหนัก น้ำท่วมแม่สาย และผู้เสียชีวิตนับร้อยรายในเวียดนาม
หลักฐานของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่เคยชัดเจนเท่านี้มาก่อน”
หลังจากเริ่มต้นฤดูพายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออก-ใต้ไปอย่างเงียบ ๆ พายุยางิก็โหมกระหน่ำทั้งจีน เวียดนาม และไทยอย่างไม่ทันตั้งตัว ด้วยความเร็ว 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมีความรุนแรงเท่ากับพายุเฮอริเคนระดับ 4 โดยพัดขึ้นฝั่งด้วยความเร็วประมาณ 149 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทางองค์กรอวกาศของสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) เองก็ระบุเอาไว้ว่าพายุยางิถือเป็นไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดของปี 2024 นี้ ตามรายงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ยางิ ได้สร้างผลกระทบมากมายไม่ว่าจะเป็นลมแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วม ทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมากทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน
แม่น้ำหลายสายในภูมิภาคนี้เอ่อล้นออกมา จนสร้างน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหลายปี ด้านหนึ่งภัยพิบัติดังกล่าวก็เน้นย้ำให้เห็นถึง ‘การเตรียมพร้อม’ ของภาครัฐเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็เน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหานี้ใหญ่กว่าที่คิดกัน
“พายุไต้ฝุ่นยางิ มีกำลังแรงขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ได้ให้พลังงานมากขึ้นในการก่อให้เกิดพายุส่งผลให้ลมและฝนตกรุนแรงขึ้น” เบนจามิน ฮอร์ตัน (Benjamin Horton) นักวิทยาศาสตร์จากหอสังเกตการณ์โลกสิงคโปร์ กล่าว
หลักฐานที่ชัดเจน
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมักจะออกมาบอกว่าพวกเขาค่อนข้างมั่นใจที่จะเชื่อมโยงพายุ คลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือไฟป่าที่โหมกระหน่ำโลกอย่างรุนแรงนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
แต่ยังไงก็ตามนักวิทยาศาสตร์แทบสามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนหรือกระบวนการอย่างละเอียดได้เลย ทว่าด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ลายเซ็นของสภาพอากาศได้ถูกคำนวณสำหรับภัยพิบัติสำคัญต่าง ๆ มากมาย โดยอาศัยพลังสมองของมนุษย์ โมเดลทางคณิตศาสตร์ ข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำ และคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลัง
มันชี้ให้เห็นว่า ก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสภาพอากาศที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในวันนี้อย่างชัดเจน และเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระดับที่น่าตกใจ
“เราต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำในฐานะมนุษย์นั้นได้ส่งผลต่อความรุนแรงและความถี่ของเหตุการณ์รุนแรงอย่างไร” จอยซ์ คิมูไท (Joyce Kimutai) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากองค์กรไม่แสวงหากำไร ‘World Weather Attribution (WWA)’ กล่าว
ทีมวิจัยได้ศึกษาเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 400 ครั้งซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระดับใด
ตัวอย่างเช่น นักวิจัยจาก ‘Climate Central’ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ร่วมมือกับ WWA ระบุว่าคลื่นความร้อนช่วงที่่ผ่านมา ซึ่งทำลายสถิติในหลายแห่งนั้น มีแนวโน้นเกิดบ่อยขึ้นอีก 5 เท่าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
สิ่งที่น่ากังวลก็คือคลื่นความร้อนเหล่านั้น ‘ไม่ใช่แค่จุดเล็ก ๆ’ แต่จะขยายใหญ่และเกิดขึ้นบ่อย หากโลกยังคงเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ต่อไป
สภาพอากาศสุดขั้ว ความร้อน น้ำท่วม และพายุ
เป็นที่รู้กันดีว่าสภาพอากาศนั้นเกิดจากปัจจัยที่ซับซ้อนจำนวนมากด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นระบบความกดอากาศสูงหรือต่ำ กระแสลม และอื่น ๆ แต่ปัจจัยหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับกันไปทั่วคือ ‘อากาศที่อุ่นขึ้น’ และ ‘อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น’ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภัยพิบัติหลายครั้งเลวร้ายลงรวมถึงในตอนนี้ด้วย
ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ได้ตำนวณว่าปริมาณน้ำฝนทั้งหมดจากพายุเฮอริเคนระดับรุนแรง 6 ลูกที่พัดถล่มชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ พายุแคทรีนา พายุเออร์มา พายุไต้ฝุ่นมาเรีย พายุฮาร์วีย์ พายุโดเรียน และพายุฟลอเรนซ์ ทั้งหมดมีความรุนแรงมากกว่า 4-15 เท่า (ขึ้นอยู่กับพายุแต่ละลูก) เมื่อเทียบกับโลกที่มีอุณหภูมิต่ำกว่านี้
ขณะเดียวกันการวิเคราะห์ของ Climate Central ชี้ให้เห็นว่าคลื่นความร้อนที่ผิดปกติ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยมากกว่าปกติถึง 2 เท่า แม้ว่าบางคน(ในตอนนั้น)จะโทษว่าเพราะเอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่หากไม่มีภาวะโลกร้อนตั้งแต่ต้น มันก็จะไม่รุนแรงเช่นนี้
โดยเฉลี่ยแล้ว คลื่นความร้อนที่น่าจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบ 10 ปีของยุคก่อนอุตสาหกรรมก็จะเกิดบ่อยขึ้นในปัจจุบันประมาณ 3 เท่า และมักร้อนกว่าอดีตถึง 1.2 องศาเซลเซียส กล่าวอย่างง่ายที่สุด หากไม่มีภาวะโลกร้อน น้ำท่วมคงไม่หนักเท่านี้ อากาศร้อนก็จะไม่รุนแรงเท่านี้ และพายุก็จะไม่ลูกใหญ่เช่นนี้
การเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าวกับก๊าซเรือนกระจก “ช่วยให้ผู้คนตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ใช่ปัญหาของลูกหลานเรา มีเรื่องสำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายในขณะนี้” ไมเคิล เวนเนอร์ (Michael Wehner) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่คำนวณการระบุแหล่งที่มา กล่าว
แม้น้ำจะลด แต่ผลกระทบกับคนยังอยู่ไปอีกนาน
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ ‘ในขณะนั้น’ แต่มันยังส่งผลต่อเนื่องและบางครั้งก็อาจยาวนานหลายเดือน ในงานวิจัยเมื่อปี 2023 โดยศาสตราจราย์ หยูหมิง กั๋ว (Yuming Guo) จากมหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย ได้ชี้ให้เห็นว่า น้ำท่วมยังคงฆ่าคนอยู๋แม้มันจะลดไปแล้วก็ตาม
ศาสตราจราย์ กั๋ว ระบุว่าผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 สำหรับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ, เพิ่มขึ้น 2.6 เปอร์เซ็นสำหรับการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ และร้อยละ 4.9 สำหรับการเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจ
สิ่งที่น่ากังวลก็คือเหตุการณ์น้ำท่วมคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ (43%) ของภัยธรรมชาติทั้งหมดที่อยู่ในช่วงการศึกษาตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2019 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยประชากรร้อยละ 23 ของโลกต้องเผชิญกับน้ำท่วมโดยตรงที่ระดับความลึกมากกว่า 0.15 เมตรทุกทศวรรษ
“การศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ระบบหัวใจและหลอดเลือด กับระบบทางเดินหายใจจะถึงจุดสูงสุดเมื่อประมาณ 25 วันและคงอยู่นานถึง 60 วันหลังจากสัมผัสกับน้ำท่วม” ศาสตราจารย์ ชานชาน ลี่ (Shanshan Li) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว
พร้อมกับเสริมว่าภายหลังน้ำท่วม ก็อาจเพิ่มการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ๆ ด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนในอาหารและน้ำ การสัมผัสกับเชื้อโรค (เชื่อรา แบคทีเรีย และไวรัส) การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และแม้แต่ภาวะซึมเศร้าทางจิตใจ ทีมวิจัยจึงได้เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายใส่ใจปัญหานี้มากขึ้น
“พวกเขาควรนำความรู้นี้ไปใช้ในการปฏิบัติและเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการบริการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน” ศาสตราจารย์ กั๋ว กล่าว
“สาธารณสุขควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเสียชีวิตใน 25 วันหลังเกิดน้ำท่วม เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างครอบคลุม ในระบบเตือนภัย/ตรวจจับล่วงหน้า และวิธีการตอบสนองต่อภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ” เขาเสริม
“เพื่อลดการเสียชีวิตที่เกิดจากน้ำท่วม รวมถึงมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เนื่องจากคาดว่าน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com