การเดินทางแสนทรมานของคุณแม่ผู้ลี้ภัย

การเดินทางแสนทรมานของคุณแม่ผู้ลี้ภัย

เรื่อง เมโลดี ราวเวลล์
ภาพถ่าย เมอร์โต ปาปาโดปูลอส

เมื่อคุณได้ยินเรื่อง “วิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัย” คุณอาจนึกถึงภาพถ่ายเรือลำน้อยล่องลอยอยู่บนน่านน้ำมืดมิดและแออัดไปด้วยผู้คนที่สวมเสื้อชูชีพสีส้มสะท้อนแสง คุณอาจคิดถึงภาพมือที่ยื่นออกมาหาบุคคลอันเป็นที่รัก ภาพชายแดนที่มีผู้ชายถือปืนกลเฝ้ารักษาการณ์ หรือภาพเต็นท์ชั่วคราวในค่ายผู้ลี้ภัยที่ครอบครัวคนไร้บ้านอยู่กันอย่างเบียดเสียดยัดเยียด ภาพที่เรานึกถึงเหล่านี้มีพลัง วุ่นวายสับสน และเปี่ยมชีวิตชีวา

ภาพถ่ายของช่างภาพข่าวชาวกรีก เมอร์โต ปาปาโดปูลอส กลับต่างออกไป ภาพถ่ายเหล่านี้ดูเงียบงัน นิ่งสงบ และลึกซึ้ง ผู้หญิงเหล่านี้แต่ละคนเป็นแม่ บางคนกำลังตั้งครรภ์ บางคนกำลังอุ้มลูก

Fourat Aljarad วัย 24 ปี แม่ของทารกเพศชายหนึ่งคนและกำลังตั้งครรภ์เจ็ดเดือน ถ่ายภาพที่ด้านนอกค่ายผู้ลี้ภัย Myrsini ในประเทศกรีซ

ปาปาโดปูลอสบันทึกภาพวิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่ปี 2010 ตอนที่ใช้เวลาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศกรีซ เธอสังเกตเห็นว่า พวกผู้หญิงมักจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังพร้อมกับลูกๆ ขณะที่สามีของพวกเธอออกไปค้นหาชีวิตใหม่ในยุโรป “ฉันรู้สึกว่าพวกผู้หญิงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเป็นคนที่ทนทุกข์ทรมานอย่างแท้จริงค่ะ” ปาปาโดปูลอสบอก “และในทางกลับกัน ฉันรู้สึกว่าพวกเธอทำให้ผู้คนเหล่านี้ยังคงมุ่งหน้าต่อไป พวกเธอและลูกๆคือเหตุผลที่ทำให้การเดินทางยังดำเนินต่อไปค่ะ”

และสำหรับผู้หญิงเหล่านี้ การเดินทางเป็นเรื่องยากลำบากอย่างเหลือเชื่อ บางคนคลอดบุตรระหว่างการเดินทาง ปาปาโดปูลอสเล่าว่า เธอเห็นพวกผู้หญิงกำลังเดินเท้าขณะอุ้มลูกที่เพิ่งเกิดได้แค่สิบวัน แม่บางคนแท้งลูกเองเนื่องจากสภาพธรรมชาติที่ทารุณ บางคนต้องทำแท้ง และอีกหลายคนต้องทนทุกข์จากความตายของลูกน้อย มีองค์กรพัฒนาเอกชนในค่ายผู้ลี้ภัยบางแห่งที่ช่วยพยาบาลทั้งก่อนและหลังคลอด และจัดการคุมกำเนิดแบบต่างๆเมื่อทำได้ แต่โดยรวมแล้ว การตั้งครรภ์หรือการเป็นแม่ที่มีลูกเยาว์วัยทำให้ความยากลำบากที่ผู้ลี้ภัยทุกคนต้องเผชิญเพิ่มมากขึ้น

เธอขอให้ผู้หญิงเหล่านี้แต่ละคนแบ่งปันประสบการณ์ของตนเอง เรื่องราวของพวกเธอ  มาพร้อมกับภาพถ่ายบุคคลด้านล่าง

“ฉันพบกับสามีที่ค่ายผู้ลี้ภัยในตุรกี เรา รู้จักกันสองวันก่อนจะหมั้นหมายกัน เรามีความสุขและรู้สึกผ่อนคลายร่วมกันค่ะ หลังจากหมั้นได้ 15 วันเราก็แต่งงานกันในค่าย ฉันไม่อาจหยุดใช้ชีวิตได้ ดังนั้นฉันจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฉันตั้งครรภ์หลังจากแต่งงานได้ห้าเดือน “ฉันอยากคลอดลูกในเยอรมนีค่ะ ทว่านับตั้งแต่เราอยู่ในกรีซและฉันไม่รังเกียจที่จะคลอดลูกที่นี่ ฉันก็มีความสุขที่มีบ้านที่นี่กับทุกสิ่งที่ฉันต้องการ” ฟิดา ราฮิล อัล ซาเลห์ อายุ 26 ปี

ปาปาโดปูลอสบอกว่า ยิ่งสถานการณ์ยากลำบากเท่าไร แม่หลายคนก็มองลูกๆของตนเป็นดังแรงจูงใจสำคัญมากเท่านั้น เธออธิบายว่า “แนวคิดของการมีครอบครัวขณะกำลังเดินทาง เป็นเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของพวกเธอ เพื่อให้สู้ต่อไป และเพื่อให้เชื่อในชีวิตที่ดีกว่าต่อไป”

“การเดินทางจากตุรกีมายังกรีซของเรายากลำบากมากค่ะ มีบางอย่างเกิดขึ้นกับเรือ เราอยู่กลางทะเลและน้ำก็ทะลักเข้ามาในเรือ เราถอดรองเท้าออกและใช้มันวักน้ำออกจากเรือเพื่อจะได้ไม่จม เรายังพยายามซ่อมเครื่องยนต์เรือด้วยค่ะ คนขับไม่รู้วิธีขับเรือ และเราทุกคนล้วนตื่นตระหนก “ฉันส่งลูกสาวให้สามี แล้วนอนพัก ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น [ไม่ว่าจะ] เพราะฉันหลับหรือเป็นลมก็ไม่รู้ค่ะ พอลืมตาฉันเห็นพระอาทิตย์กำลังขึ้น มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งพยายามผูกคอตาย สามีของฉันตัดเชือกและตบหน้าเธอเพื่อให้ฟื้น “ฉันนั่งอยู่ที่หัวเรือและ เห็น คนอื่นๆทั้งหมดอยู่ตรงกลาง ฉันร้องไห้เพื่อลูกสาวและขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเรา ฉันมองเห็นได้ว่าชายฝั่งอยู่ใกล้มาก เนื่องจากเรือเต็มแปล้ เราจึงโยนข้าวของทั้งหมดลงทะเลค่ะ” ซาฮาร์ เดป อายุ 18 ปี
แต่ปาปาโดปูลอสยังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่ผู้หญิงเหล่านี้อยู่ระหว่างการเดินทาง บ้านเดิมของพวกเธอถูกทำลาย บ้านในอนาคตก็ยังไม่ได้ตัดสินใจ พวกเธอรู้สึกอับจนหนทาง “ผู้หญิงเหล่านี้มีความอดทนอย่างเหลือเชื่อค่ะ” ปาปาโดปูลอสบอก และเธออยากแสดงความชื่นชมความอดทนเช่นนั้นในภาพถ่ายของเธอ แทนที่จะถ่ายภาพเหมือนของผู้หญิงเหล่านี้ในห้องหรือให้ตัดกับฉากหลัง ปาปาโดปูลอสจะให้พวกเธอยืนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือท่ามกลางสภาพแวดล้อมข้างนอกค่าย “ที่นี่เป็นบ้านของพวกเธอมาหนึ่งปีแล้วค่ะ ฉันอยากให้สภาพแวดล้อมในภาพถ่ายบุคคลแสดงถึงการเดินทางรวมถึงการหยุดพักอย่างแท้จริง” ปาปาโดปูลอสกล่าว ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ทั้งที่นี่และที่นั่น ไม่ได้อยู่ทั้งที่บ้านและที่อื่นๆ พวกเธอเคลื่อนที่แต่ก็หยุดนิ่ง

“ชีวิตของพวกเธอถูกแช่แข็งค่ะ คุณเข้าใจใช่ไหมคะ พวกเธอดำเนินชีวิตต่อไป แต่ชีวิตจริงของพวกเธอถูกแช่แข็งค่ะ”

 

Recommend