มาดามทุสโซใช้ศีรษะนักการเมืองที่โดนบั่นคอเป็นแบบสร้างหุ่นขี้ผึ้งรุ่นแรก

มาดามทุสโซใช้ศีรษะนักการเมืองที่โดนบั่นคอเป็นแบบสร้างหุ่นขี้ผึ้งรุ่นแรก

มาดามทุสโซ ใช้ศีรษะนักการเมืองที่โดดบั่นคอเป็นแบบสร้างหุ่นขี้ผึ้งรุ่นแรก

ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปด ศิลปินหุ่นขี้ผึ้งนาม มารี ทุสโซ เริ่มจับงานที่เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาในกรุงปารีส เธอถูกบังคับให้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสในรูปของคำสั่งให้สร้าง “หน้ากากมรณะ” (death mask) หรือหุ่นใบหน้าของผู้เสียชีวิต ซึ่งได้แก่เหล่าขุนนางจากรัชสมัยก่อนผู้โดนประหารด้วยกิโยตีน รวมทั้งคนที่คยเป็นนายจ้างเก่าของเธอด้วย นั่นคือพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกและพระนางมารี อังตัวเนตต์

การทำหน้ากากมรณะสืบย้อนไปได้ถึงยุคโรมันและอียิปต์โบราณ ในสมัยที่หน้ากากดังกล่าวใช้เป็นเครื่องเก็บรักษาใบหน้าของผู้วายชนม์ก่อนจะมีการประดิษฐ์คิดค้นการถ่ายภาพขึ้นมา เมื่อกาลเวลาผ่านไป วิธีการนี้ก็นำมาใช้ร่วมกับพิธีศพ การวาดภาพบุคคล พิธีกรรมทางศาสนา และแม้กระทั่งการสืบสวนที่เกิดเหตุในคดีอาชญากรรม

มาดามทุสโซ
ช่างของมาดามทุสโซทำงานในห้องหุ่นบนถนนแมรีเลอโบน กรุงลอนดอน ปี 1939

แม้ว่าทุสโซจะไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นหน้ากากมรณะขึ้นมา แต่เธอเป็นคนแรกที่นำธรรมเนียมโบราณดังกล่าวมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นคนแรกและมีการผลิตเป็นจำนวนมาก ในปี 1802 หลังการปฏิวัติปิดฉากลง เธอได้นำชุดผลงานหุ่นขี้ผึ้ง waxworks collection ของเธอออกตระเวนจัดแสดงไปทั่วบริเตน และจากนั้นก็ลงหลักปักฐานที่ถนนเบเกอร์สตรีตในปี 1835 นิทรรศการดังกล่าวเริ่มมีชิ้นงานเพิ่มมากขึ้น โดยจัดแสดงหุ่นของราชนิกูลอังกฤษ นักการเมืองชื่อดัง และบรรดาอาชญากรชื่อดังซึ่งมาพร้อมกับฉากการประกอบอาชญากรรม

ในการทำให้หุ่นขี้ผึ้งดูสมจริงมากที่สุด ทุสโซผู้มีหัวในการทำธุรกิจได้จัดซื้อข้าวของดั้งเดิมมาใช้ในการตกแต่งประกอบชิ้นงานของเธอ ตั้งแต่รถเข็นเด็กที่ใช้ในการขนเหยื่อฆาตกรรมบนถนนแฮมป์สเตดในปี 1890 (คดีฆาตกรรมฟีบี ฮอกก์ โดยแมรี เพียร์ซี) ไปจนถึงผ้าคลุมพระองค์ในพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่หก

มาดามทุสโซ
ช่างนำเบ้าหล่อปูนปลาสเตอร์ออกจากขี้ผึ้งที่พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ กรุงลอนดอน

ไม่นาน นิตยสาร Punch  ของลอนดอนก็คิดคำว่า “คูหาแห่งความสยดสยอง” ขึ้นมา และกลายเป็นชื่อติดหูในทันที ข่าวของมาดามทุสโซแพร่สะพัดไปทั่วทั้งลอนดอน และธุรกิจของเธอก็เฟื่องฟูขึ้นในทันใด เป็นเพราะผู้คนมีความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับเรื่องชวนขนพองสยองเกล้าอยู่เป็นทุนเดิม

แต่ความสำเร็จก็ย่อมพ่วงมาด้วยเรื่องอื้อฉาว เหล่านักวิพากษ์วิจารณ์ต่างบอกว่า การใช้โศกนาฏกรรมมาจัดแสดงให้สาธารณชนเข้ามาดูชมเป็นเรื่องไร้รสนิยมและเล่นกับอารมณ์ผู้คนมากจนเกินไป ซึ่งเป็นคำวิจารณ์ที่อยู่คู่กับการจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของมาดามทุสโซมานับร้อยปี แม้ว่าจะได้รับความนิยมอย่างไม่ขาดสายก็ตาม

ปัจจุบันมีผู้คนหลายล้านคนเข้าชมพิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซใน 24 เมืองบนสี่ทวีป แม้ว่าสตูดิโอสร้างหุ่นของพิพิธภัณฑ์จะยังคงใช้เทคนิคดั้งเดิมตามแบบที่ทุสโซเคยใช้ แต่หุ่นขี้ผึ้งของดาราฮอลลีวู้ด นักกีฬาอาชีพ และนักการเมืองผู้อื้อฉาวหลายคน ก็หันมาสร้างตามต้นแบบที่ยังมีชีวิตอยู่แทน

มาดามทุสโซ
ช่างภาพถ่ายหนังหญิงสองคนระหว่างปั้นศีรษะของหุ่นขี้ผึ้งเพื่อใช้จัดแสดงในนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ กรุงลอนดอน ปี 1928

กระบวนการที่กินเวลาหลายเดือนนี้เริ่มด้วยการนำภาพถ่ายหลายชุด ขนาดและสัดส่วนของร่างกายที่ได้จากการวัด มาขึ้นหุ่นด้วยดินเหนียว เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำน้ำมันละหุ่ง หรือแคสเตอร์ มาเทลงในเบ้าขี้ผึ้ง จากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านสีจะเทียบสีผิวอย่างระมัดระวัง ตามด้วยสีฟัน และสีตา แล้วจึงนำเส้นผมมนุษย์มาสอดเข้าไปในศีรษะทีละเส้น ตามด้วยขนตา และขนคิ้ว แต่ละชิ้นงานมีต้นทุนมากกว่า 186,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตัวอย่างเช่นหุ่นขี้ผึ้งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งใช้เวลาทำมากกว่าห้าเดือน และใช้ช่างกว่า 20 คนในการทำงาน

กว่า 200 ปีให้หลังนับตั้งแต่จุดกำเนิดอันมืดหม่น พิพิธภัณฑ์แห่งที่ 25 ของมาดามทุสโซมีกำหนดจะเปิดตัวในเดือนมิถุนายน ปี 2017 ที่กรุงเดลี อินเดีย

เรื่อง Gulnaz Khan

ภาพถ่าย David Savill, Press Agency/Getty Images

 

อ่านเพิ่มเติม

รูปปั้นทองคำเผยมุมใหม่ของจักรวรรดิโรมัน

Recommend