เยือนดวงจันทร์ : ย้อนรอยภารกิจ 50 ปี มนุษย์คนแรกบน ดวงจันทร์ 

เยือนดวงจันทร์ : ย้อนรอยภารกิจ 50 ปี มนุษย์คนแรกบน ดวงจันทร์ 

ย้อนรอยภารกิจ 50 ปี มนุษย์คนแรกบน ดวงจันทร์ 

ดวงจันทร์ คือสนามประลองและจุดหมายปลายทางของการแข่งขันสู่ห่วงอวกาศในศตวรรษที่ 20 และในที่สุด เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1969 หรือ 50 ปีก่อน มนุษย์คนแรกก็สามารถขึ้นไปเดินบนดวงจันทร์ได้ ความสำเร็จของภารกิจอะพอลโล 11 ที่เกิดขึ้นหลังการบินครั้งแรกของพี่น้องตระกูลไรต์เพียง 66 ปี เป็นการประกาศความเก่งกาจและฉลาดเฉลียวของมนุษยชาติ ปัจจุบัน ดวงจันทร์ กลับมาอยู่ในสายตาของเราอีกครั้ง คนรุ่นนี้จะทดสอบว่าวิทยาศาสตร์กับกำไรทางธุรกิจจะลงตัวกันตรงจุดไหน

ดวงจันทร์
ภาพโลกปรากฏขึ้นขณะที่นักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน เตรียมออกจากยานลูนาร์โมดุล และจะกลายเป็นมนุษย์สองคนแรกที่ได้เดินบนดวงจันทร์ (ภาพถ่าย: NASA / NEWSMAKERS / GETTY IMAGES)

นักบุกเบิก : คลื่นนักเดินทางอวกาศระลอกแรก อันได้แก่ ยูริ กาการิน, อลัน เชปเพิร์ด, จอห์น เกล็นน์ และนีล อาร์มสตรอง เป็นมนุษย์อวกาศที่ฝึกจากกองทัพ พวกเขาถูกมองว่าเป็น “คนที่ใช่” สำหรับภารกิจเสี่ยงภัย

แต่การบินอวกาศยุคแรกไม่ได้เป็นอาชีพเฉพาะของผู้ชายเท่านั้น และไม่ใช่ของผู้คนด้วยซ้ำ แมลงวันผลไม้ ลิง หนู สุนัข กระต่าย และหนูข้างถนน ล้วนบินสู่อวกาศก่อนมนุษย์เสียอีก

กว่าสามปีก่อนมนุษย์คนแรกในอวกาศ สหภาพโซเวียตสร้างชื่อโดยการส่งสุนัขจรจัดขึ้นไป ไลกาเป็นสัตว์ตัวแรกที่โคจรรอบโลก แต่มันตายในเที่ยวบินนั้นเอง สหรัฐฯส่งชิมแปนซีชื่อแฮมขึ้นสู่อวกาศ น่ายินดีที่มันรอดชีวิตและเบิกทางให้แก่เชปเพิร์ดผู้กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกในอวกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1961

ดวงจันทร์
จอห์น เกลนน์ ขึ้นโคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 1962 โดยสวมชุดอวกาศชุดนี้ซึ่งประกอบด้วยซิป 27 อัน  เพื่อความกระชับ

แม้จะถูกเลือกปฏิบัติ ผู้หญิงก็เป็นนักบุกเบิกเช่นกัน บางคนอยู่เบื้องหลัง เช่น นักคณิตศาสตร์ แคเทอรีน จอห์นสัน เธอใช้มือคำนวณรายละเอียดแนววิถีการบินซึ่งจะทำให้จอห์น เกล็นน์ ได้เป็นชาวอเมริกันคนแรกผู้โคจรรอบโลกในปี 1962 วาเลนตีนา เตเรชโควา มนุษย์อวกาศรัสเซียยุคแรก เป็นผู้หญิงคนแรกในวงโคจรเมื่อปี 1963 ต้องรออีกสองทศวรรษ เมื่อแซลลี ไรด์ บินขึ้นไปกับกระสวยอวกาศ แชลเลนเจอร์ จึงจะมีผู้หญิงอเมริกันคนแรกไปถึงอวกาศ

ดวงจันทร์
เครื่องยนต์รูประฆังห้าเครื่องให้พลังงานแก่ท่อนแรกของจรวดแซตเทิร์น 5 ซึ่งพาภารกิจอะพอลโลเกือบทุกภารกิจไปพ้นวงโคจรรอบโลก และพามนุษย์อวกาศไปจนถึงดวงจันทร์ในที่สุด เครื่องยนต์ทั้งห้ารวมกันปลดปล่อยพลังงานมากเท่ากับเขื่อนฮูเวอร์ 85 เขื่อน

ไปให้ถึงจุดหมาย : คอนสตันติน ซีออลคอฟสกี ชาวรัสเซียไว้เครา ใส่แว่น รักสันโดษและชอบนิยายวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าชะตากรรมของมนุษยชาติฝากไว้ท่ามกลางดวงดาว พอถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เขาก็แก้สมการสำหรับส่งมนุษย์ไปพ้นแรงโน้มถ่วงของโลกได้แล้ว เขายังจินตนาการไว้ด้วยว่า จรวดไปดวงจันทร์จะทำงานอย่างไร นั่นคือโดยการใช้ตัวขับเคลื่อนที่ผสมเชื้อเพลิงเหลว และการจุดระเบิดหลายท่อน

ในการคำนวณที่ทำต่างหาก แฮร์มันน์ โอแบร์ท กับโรเบิร์ต ก็อดดาร์ด ได้ข้อสรุปทำนองเดียวกัน

สี่ทศวรรษให้หลัง ความคิดของทั้งสามเป็นจริงขึ้นมาอย่างกึกก้องในรูปของจรวดแซตเทิร์น 5 ขนาดมหึมาซึ่งพาลูกเรืออะพอลโลสู่อวกาศ จรวดแซตเทิร์น 5 สูง 111 เมตร ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลว ออกซิเจนเหลว และน้ำมันก๊าด มันเป็นจรวดทรงพลังที่สุดที่เคยสร้างกันมา เป็นผลงานวิศวกรรมของแวร์นเฮอร์ ฟอน เบราน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดของพรรคนาซีในเยอรมนี ผู้ยกทีมงานส่วนใหญ่ไปทำงานให้สหรัฐฯหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวจรวดแบ่งเป็นสามท่อนซึ่งจุดระเบิดตามลำดับ งานสร้างจรวดยังคงใช้สมการของซีออลคอฟสกี แต่ไม่มีจรวดใดก้าวล้ำแซตเทิร์น 5 ซึ่งพามนุษย์เข้าใกล้ดวงดาวได้มากกว่าที่เคยเป็นมา

ดวงจันทร์
ยานอวกาศโซยุซถูกลากไปยังฐานส่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ไบโคนูร์คอสโมโดรม สหภาพโซเวียตพัฒนายานโซยุซขึ้นในทศวรรษ 1960 แบบอันทนทานของมันยังใช้อยู่ในโครงการอวกาศของรัสเซีย นับตั้งแต่กระสวยอวกาศลำสุดท้ายปลดระวางเมื่อปี 2011 มนุษย์อวกาศสหรัฐฯก็ต้องอาศัยยานโซยุซไปสถานีอวกาศนานาชาติ

สถานที่ซึ่งเราไปเยือน : ในทศวรรษ 1960 ดวงจันทร์ของเรายังคงเป็นปริศนาอยู่มาก เพื่อเรียนรู้ให้มากที่สุดจากการเยือนของอะพอลโล องค์การนาซาจึงเลือกพื้นที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่หลากหลาย รวมถึงที่ราบสีเข้มอันเกิดจากมหาสมุทรลาวาที่หายไปแล้วและที่สูงซึ่งเกิดจากการชนของอุกกาบาต

จากปี 1969 ถึง 1972 มนุษย์อวกาศสหรัฐฯลงจอดบนพื้นที่หกแห่ง แต่ละแห่งถูกเลือกเพื่อจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ที่ต่างกัน ทั้งหมดอยู่บนด้านใกล้อันด่างดำของดวงจันทร์ ซึ่งภูมิประเทศได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงจากยานโคจรรอบดวงจันทร์ และศูนย์ควบคุมภารกิจสามารถติดต่อกับมนุษย์อวกาศได้โดยตรงตลอดเวลา

องค์การอวกาศหลายองค์การได้ส่งยานสำรวจไร้มนุษย์ขึ้นไปเช่นกัน ยานเหล่านี้ได้สำรวจดวงจันทร์ดวงอื่นแล้ว 60 ดวง และยังได้ลงจอดบนดวงหนึ่งด้วย นั่นคือดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ ส่วนดวงจันทร์ของเราเอง รถสำรวจแบบหุ่นยนต์ได้ทิ้งรอยล้อไว้บนพื้นที่สี่แห่ง

ประเทศจีนสร้างประวัติศาสตร์เมื่อต้นปีนี้ด้วยการส่งยานฉางเอ๋อ 4 ไปลงบนด้านไกลของดวงจันทร์

ยานลงจอดเอกชนลำแรกที่ไปถึงดวงจันทร์ตกเมื่อเดือนเมษายน แต่องค์กรไม่แสวงกำไรของอิสราเอลผู้อยู่เบื้องหลังประกาศอย่างรวดเร็วว่ามีแผนจะลองอีกครั้ง

สหรัฐฯ มีแผนส่งยานลงจอดชุดหนึ่งพร้อมเทคโนโลยีใหม่เพื่อวางรากฐานให้แก่การส่งมนุษย์อวกาศไปดวงจันทร์อีกครั้ง

ดวงจันทร์
ยาน วีเอสเอส ยูนิตี ของบริษัทเวอร์จินกาแลกติก ในภาพถ่ายปี 2015 บินได้สูงกว่า 80 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่องค์การนาซาถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นอวกาศ
ดวงจันทร์
เพื่อการขุดลอก ขนย้าย และทิ้ง ชั้นฝุ่นและหินที่พบบนพื้นผิวดวงจันทร์ องค์การนาซาได้ออกแบบหุ่นยนต์จักรกลชื่อ เรสเซอร์  (RASSOR) ดังในภาพที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี เพื่อให้ทำงานในสภาพแวดล้อมแรงโน้มถ่วงต่ำ ประกอบด้วยถังลูกโม่สองด้านที่หมุนไปคนละทาง จึงไม่ต้องพึ่งแรงฉุดลากหรือน้ำหนัก

ของที่เรานำกลับมา : กว่าสี่ปีที่มนุษย์อวกาศขององค์การนาซาลำเลียงหินดวงจันทร์รวม 382 กิโลกรัมกลับโลก แต่ของที่ระลึกซึ่งจับใจที่สุดไม่มีน้ำหนักเลย นั่นคือภาพถ่ายโลก วิลเลียม แอนเดอร์ส มนุษย์อวกาศของยานอะพอลโล 8 ถ่ายภาพบันลือโลกไว้ในวันก่อนวันคริสต์มาสเมื่อปี 1968 ภาพนั้นแสดงดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเราลอยอยู่ในความมืด เหนือขอบฟ้าไร้ชีวิตอันเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตของดวงจันทร์

ดวงจันทร์
นักบินอวกาศ วิลเลียม แอนเดอร์ส ถ่ายภาพในตำนานที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “โลกอุทัย” (Earthrise) ระหว่างปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์ในยานอะพอลโล 8

มนุษย์อวกาศไม่เพียงถ่ายภาพและเก็บหินดวงจันทร์ พวกเขายังนำวัตถุต่างๆมากมายจากโลกติดตัวไปในอวกาศด้วย

จอห์น ยัง (ยานเจมินี 3) แอบเอาแซนด์วิชคอร์นบีฟขึ้นยานและแบ่งกับกัส กริสซัม ลูกเรือลำเดียวกัน เป็นเรื่องเล่าลือมาก กริสซัมต้องรีบเก็บแซนด์วิชเข้าประเป๋าตอนเศษขนมปังเริ่มลอยไปรอบๆห้องโดยสาร

บัซ อัลดริน (ยานอะพอลโล 11) เอาไปทั้งเหล้าองุ่น แผ่นปัง และจอก เพื่อทำพิธีศีลมหาสนิท นีล อาร์มสตรอง เพื่อนร่วมยานของเขา นำชิ้นส่วนใบพัดไม้จากเครื่องบินของพี่น้องตระกูลไรต์ไปด้วย อลัน เชปเพิร์ด (ยานอะพอลโล 14) ใช้ถุงเท้าซ่อนหัวไม้กอล์ฟเหล็กหกไปด้วย เขาใช้หัวเหล็กติดก้านเครื่องมือตีกอล์ฟสองลูกบนดวงจันทร์ ชาร์ลส์ ดุ๊ก (ยานอะพอลโล 16) พกภาพถ่ายครอบครัวไปทิ้งไว้ในที่สูงเดการ์ต

บางทีของที่ระลึกที่สะเทือนใจที่สุดบนพื้นผิวดวงจันทร์น่าจะเป็นรูปคนขนาดเล็กทำจากอะลูมิเนียม ซึ่งเดวิด สกอตต์ จากยานอะพอลโล 15 วางไว้ข้างแผ่นประกาศที่บันทึกชื่อมนุษย์อวกาศผู้ล่วงลับ 14 คน

ดวงจันทร์
ตัวอย่างจากดวงจันทร์หมายเลข 15016 ซึ่งเป็นหินบะซอลต์รูปแบบหนึ่ง ได้รับการรักษาไว้ในตู้เหล็กกล้าไม่เป็นสนิมที่มีแก๊สไนโตรเจนบริสุทธิ์ไหลเวียน

เรื่อง นาเดีย เดรก

ภาพถ่าย แดน วินเทอร์

*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562


อ่านเพิ่มเติม

ดวงจันทร์ : ภาพถ่ายจากโครงการอะพอลโล

Recommend