ค้นพบสุสานโบราณของกษัตริย์อาณาจักรมายา

ค้นพบสุสานโบราณของกษัตริย์อาณาจักรมายา

ค้นพบสุสานโบราณของกษัตริย์ อาณาจักรมายา

เมื่อทีมนักวิจัยขุดค้นเข้าไปยังโบราณสถานของเมืองเอล เปรู วากา เมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกัวเตมาลา หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์พบสิ่งที่ไม่คาดคิดนั่นคือโครงกระดูกโบราณของสมาชิกราชวงศ์แห่ง อาณาจักรมายา

“เขาบังเอิญเข้าไปในสุสานแห่งนั้น และพบเข้ากับโครงกระดูกของกษัตริย์” David Freidel ผู้ช่วยหัวหน้าการวิจัยกล่าว ทีมงานเหล่านี้เป็นนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาจากโครงการโบราณคดีของเอล เปรู วากา หลังการค้นพบพวกเขาโทรไปยังกองทัพของกัวเตมาลาเพื่อให้เดินทางมาคุ้มครองแหล่งโบราณคดีแห่งนี้จากการถูกปล้นสะดม

กระดูกที่เหลืออยู่นั้นเป็นผู้ชาย ฝังในภาชนะรูปทรงหม้อ “ศีรษะหันไปทางทิศตะวันออก ร่างกายถูกห่อหุ้มด้วยผ้า” Freidel กล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าผู้เสียชีวิตเป็นชนชั้นสูง

ว่าแต่ว่าทีมนักวิจัยรู้ได้อย่างไรว่าสุสานแห่งนี้เป็นของกษัตริย์? โดยปราศจากข้อความจารึกบนหลุมศพ วิธีการได้มาซึ่งคำตอบนี้ Freidel กล่าวว่า มาจากการคาดเดา ซึ่งจากปริมาณของเบาะแสที่พบในหลุมศพช่วยให้พวกเขามั่นใจว่านี่คือสุสานของใคร

สมมุติฐานที่แข็งแรงที่สุด สุสานแห่งนี้น่าจะเป็นของ ราชา Te’ Chan Ahk กษัตริย์ผู้มีชื่อในบันทึกประวัติศาสตร์ แต่เรืองราวของพระองค์ยังคงเป็นปริศนา

กระดูกถูกทาสีเป็นสีแดง ซึ่งทีมนักวิจัยเชื่อว่าเป็นสีที่ได้จากสารปรอทที่เรียกกันว่า ซินนิบาร์ กระดูกถูกทาเมื่อคริสต์ศักราช 600 หลายร้อยปีหลังกษัตริย์องค์ดังกล่าวเสียชีวิต เมื่อร่างกายของพระองค์เน่าเปื่อยสลายไปหมดแล้ว สำหรับความเชื่อของชาวมายาความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต พวกเขาเชื่อว่าร่างกายมีวิญญาณ ซึ่งผู้นำทางศาสนาและการเมืองของชาวมายายังคงต้องเดินทางเข้าสุสานบ่อยครั้ง เพื่อจ่ายส่วยให้แก่คนตาย

กษัตริย์องค์นี้เป็นผู้ปกครองรุ่นแรกๆ ของราชวงศ์วากา ราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรมายาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ถึงศตวรรษที่ 8  การค้นพบครั้งแรกเกิดขึ้นมื่อมีการพบข้าวของเครื่องใช้จำนวนหนึ่งถูกฝังอยู่ในสุสาน ตรวจสอบอายุพวกมันถูกฝังในค.ศ. 300 – 350 นั่นทำให้สุสานแห่งนี้เป็นสุสานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่พบในกัวเตมาลา

โครงสร้างที่ซับซ้อนถูกก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามมารอบๆ สุสานในช่วงเวลาหลายปี Freidel เรียกมันว่า “Burial 80” ซึ่งจะช่วยไขปริศนาของอาณาจักรมายาโบราณ ในกัวเตมาลา เมื่อปี 2012 ทางทีมนักวิจัยค้นพบสิ่งที่น่าประทับใจที่สุด มันคือหลุมศพของราชินีแห่งอาณาจักรมายาที่เป็นที่รู้จักกันในนาม “Lady Snake Lord” และกษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์วากาถูกค้นพบเมื่อปี 2006

อาณาจักรมายา
หน้ากากหยกสีแดงคือหนึ่งในวัตถุโบราณที่ถูกค้นพบจากโครงการนี้ สัญลักษณ์บนศีรษะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าแห่งการเกษตร

 

ระบุตัวตนของกษัตริย์

แม้ว่ากระดูกและข้าวของจำนวนมากภายในสุสานจะได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี แต่ที่ด้านหนึ่งของห้องมีร่องรอยของการพังถล่มลงมา อันเกิดจากการก่อสร้างพระราชวังขนาดใหญ่รอบๆ วิหารแห่งนี้รวมถึงการรุกรานจากอาณาจักรเพื่อนบ้าน ทีมนักวิจัยต้องคลานเข่าเข้าไปยังห้องภายในสุสาน

สิ่งประดิษฐ์ที่ให้คำตอบได้มากที่สุดคือ หน้ากากหยกสีแดง ที่จำลองลักษณะใบหน้าของกษัตริย์ไว้ ซึ่ง Freidel อธิบายว่าเป็นเรื่องปกติที่กษัตริย์จำเป็นต้องมีภาพาดหรือรูปปั้นเป็นตัวแทนให้แก่บรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธา ภาพวาดบนสุสานยังแสดงให้เห็นการจำลองกษัตริย์ในฐานะผู้นำ และหินหยกที่ติดมากับฟันแสดงให้เห็นว่าเขามาจากชนชั้นสูง

ข้าวของทั้งหมด 22 ชิ้นได้รับการบูรณะใหม่ ในจำนวนนี้เป็นหม้อทรงกว้างเตี้ยจำนวน 20 หม้อ “ภาชนะเหล่านี้ถูกทำขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าบุคคลคนนี้อาจเสียชีวิตอย่างกระทันหัน” Damien Marken หนึ่งในทีมนักวิจัยโครงการกล่าว โดยชี้ว่าหม้อเหล่านี้ขาดความสมมาตรและความวิจิตรงดงามตามแบบฉบับของชาวมายันทั่วไป

หม้อเล็กๆ เหล่านี้ใช้ในการบรรจุ ทะมาลี, ช็อกโกแลต และอาหารอื่นๆ สำหรับโลกหลังความตาย เพื่อความแน่ใจ Freidel และทีมงานเตรียมที่จะตรวจสอบเศษชิ้นส่วนที่คงเหลือบนหม้อบางหม้อด้วยกระบวนการทางเคมี ซึ่งตัวเขาเห็นด้วยกับ Marken ที่ว่าหม้อเหล่านี้ใช้ในการบรรจุอาหาร แต่เขาสันนิษฐานว่าอาจมีสารนิโคตินหรือสารจากดอกลำโพงตกค้างอยุ่ เช่นเดียวกับที่พบในหลุมศพอื่นๆ ของชาวมายา

ทั้งนี้ทางทีมนักวิจัยได้เข้าขุดค้นในเมืองนี้ตั้งแต่ปี 2003 พวกเขากล่าวว่ายังมีอะไรอีกมากมายรอให้ค้นพบ และการขุดค้นภายในนครโบราณจะเริ่มต้นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิหน้า

โดย ซาร่าห์ กิบเบ็นส์

อ่านเพิ่มเติม : ทำความรู้จักกับมาชูปิกชู โบราณสถานของชนเผ่าอินคาภาพถ่ายอันน่าทึ่งที่เผยโฉมมาชูปิกชูให้โลกได้รู้จัก

Recommend