เผยโฉมใบหน้าวัยรุ่นมนุษย์โบราณ

เผยโฉมใบหน้าวัยรุ่นมนุษย์โบราณ

เผยโฉมใบหน้าวัยรุ่น มนุษย์โบราณ

สตรีนางนี้มีชื่อว่า Avgi และหนสุดท้ายที่ใครได้เห็นใบหน้าของเธอคือเมื่อราว 9,000 ปีก่อน ในตอนที่เธออาศัยอยู่ยังภูมิภาคของกรีซ ช่วงปลายของยุคหินกลาง ช่วงเวลาที่ มนุษย์โบราณ เริ่มเปลี่ยนจากสังคมล่าสัตว์มาเป็นสังคมแห่งการเพาะปลูกแทน

ชื่อของ Avgi เทียบได้กับคำว่า Dawn หรือรุ่งอรุณ นักโบราณคดีตั้งชื่อนี้ให้เธอเนื่องจากเธอมีชีวิตอยู่ในช่วงรุ่งอรุณของความศิวิไลซ์ เมื่ออารยธรรมเริ่มก่อตัวถือกำเนิดขึ้น

ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และการตายของเธอนั้นมีน้อยมาก แต่นักโบราณคดีสังเกตเห็นโหนกแก้มอันโดดเด่นของผู้หญิงโบราณคนนี้ นอกจากนั้นเธอยังมีสันคิ้วและคางที่ชัดเจนอีกด้วย

ใบหน้าของ Avgi ถูกเปิดเผยโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอเธนส์ และถูกจัดแสดงในนิทรรศการที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ Acropolis เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

กระบวนการคืนใบหน้าให้แก่สตรีโบราณไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ, แพทย์ด้านกระดูก, ประสาทวิทยา, พยาธิแพทย์ และแพทย์ด้านรังสีวิทยาร่วมมือกันสร้างใบหน้าของ Avgi ขึ้นมา โดยกระบวนการฟื้นฟูที่นำทีมโดย Manolis Papagrigorakis ผู้เชี่ยวชาญด้านฟันและขากรรไกร ผลลัพธ์ของความร่วมมือจากหลายฝ่ายระบุว่าจากกะโหลกศีรษะดังกล่าวนี้น่าจะมีอายุประมาณ 15 ปี ในขณะที่ข้อมูลจากฟันระบุว่าฟันน่าจะมีอายุประมาณ 18 ปี

ช่วงเวลาหลายพันปีได้เปลี่ยนแปลงใบหน้าของมนุษย์ไป ทุกวันนี้ใบหน้าของผู้คนรุ่นใหม่ดูนุ่มนวลกว่าเมื่อเทียบกันแล้ว

นอกเหนือจากบรรดาทีมแพทย์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังร่วมมือกับ Oscar Nilsson นักโบราณคดีและประติมากรชาวสวีเดนผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นคืนรูปเป็นพิเศษ ตัวเขาเคยคืนใบหน้าให้แก่มนุษย์โบราณมาแล้วหลายราย และโปรดปรานช่วงเวลายุคหินมากเป็นพิเศษ “ยุคหินเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมาก ไม่เหมือนกับยุคสมัยของเรา แต่ร่างกายของเราไม่ต่างกัน” เขากล่าวเสริม

Nilsson เริ่มต้นทำงานกับกะโหลกศีรษะของเธอ ย้อนกลับไปในปี 1993 นักโบราณคดีค้นพบกะโหลกดังกล่าว ภายในถ้ำ Theopetra ทางตอนกลางของกรีซ ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณย้อนกลับไปได้ไกลถึงเมื่อ 130,000 ปีก่อน ทีมนักวิจัยใช้เทคโนโลยี CT สแกนและกระบวนการพิมพ์สามมิติเพื่อสร้างแบบจำลองใบหน้าของเธอขึ้นมา โดยโครงสร้างของใบหน้านั้นได้ข้อมูลจากกะโหลกศีรษะ ส่วนสีผิว สีตา และเส้นผมนั้นใช้ข้อมูลตามลักษณะของประชากรท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ

ทั้งนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Papagrigorakis, Nilsson และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอเธนส์สามารถฟื้นคืนใบหน้าของผู้คนที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมาได้ ในปี 2010 พวกเขาประสบความสำเร็จในการคืนใบหน้าให้แก่เด็กหญิงชาวเอเธนส์วัย 11 ขวบ ที่มีชื่อว่า Myrtis ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่เมื่อราว 430 ปี ก่อนคริสตกาล หรือห่างจากช่วงเวลาที่ Avgi มีชีวิตอยู่ถึง 7,000 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าใบหน้าของมนุษย์รุ่นใหม่นั้นดูนุ่มนวลกว่าเมื่อเทียบกันแล้ว

ใบหน้าของ Myrtis เด็กหญิงวัย 11 ขวบ ชาวเอเธนส์ ที่เสียชีวิตจากไข้ไทฟอยด์

“Avgi มีใบหน้าที่เป็นเอกลักษณ์มาก ไม่เฉพาะที่เธอเป็นผู้หญิง แต่ยังรวมถึงลักษณะของใบหน้าและกะโหลก Myrtis เองมีใบหน้าที่ยังคงความเป็นเด็ก และดูไม่ต่างจากใบหน้าของพวกเราในทุกวันนี้เท่าไหร่นัก” Nilsson กล่าว “หลังการคืนใบหน้าของชายและหญิงจากยุคหินมาจำนวนหนึ่ง ผมคิดว่าคุณลักษณะบางอย่างของพวกเราหายไปในกาลเวลา ทุกวันนี้ใบหน้าของเราทั้งหญิงและชายแตกต่างกันชัดเจน”

สาเหตุการเสียชีวิตของ Agvi ยังคงเป็นปริศนา แต่สำหรับ Myrtis นักโบราณคดีรู้แล้วว่าเด็กน้อยเสียชีวิตจากไข้ไทฟอยด์ที่ระบาดในสมัยศตวรรษที่ 5 ของเมืองเอเธนส์ ปัจจุบันโรคดังกล่าวยังคงคร่าชีวิตผู้คนนับพันในแต่ละปี

นับตั้งแต่เทคโนโลยีสร้างภาพสามมิติถูกพัฒนาขึ้น นักโบราณคดีใช้ประโยชน์จากเทคนิคเหล่านี้สร้างภาพใบหน้าของมนุษย์โบราณมากมาย ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ใบหน้าของราชินีแห่งอาณาจักรโบราณในเปรู เพิ่งจะเผยโฉมให้ผู้คนได้ยล

เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม 

มื้อสุดท้ายของ มนุษย์เอิตซี ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 5,300 ปีก่อน

 

Recommend