หิมาลัย : เมื่อหลังคาโลกกลายเป็นสายน้ำ

หิมาลัย : เมื่อหลังคาโลกกลายเป็นสายน้ำ

หิมาลัย : เมื่อหลังคาโลกกลายเป็นสายน้ำ

น้ำแข็งที่เคยเป็นลักษณะโดดเด่นของเทือกเขาในเอเชียใต้อย่าง หิมาลัย มาช้านาน กำลังละลายกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่แห่งใหม่ๆ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุทกภัยระดับทำลายล้าง

หากนั่งเครื่องบินผ่านเมานต์เอเวอเรสต์  คุณจะทะยานอยู่เหนือยอดเขาขรุขระห่มหิมะขาวโพลนของเทือกเขา หิมาลัย ทอดไกลไม่สิ้นสุดไปจรดเส้นขอบฟ้า  นี่เป็นภูมิทัศน์ที่ไม่เหมือนที่อื่นใดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งมหึมาแห่ง หิมาลัย รับหิมะใหม่เข้ามาเติมจากมรสุมที่พัดผ่านทุกฤดูร้อน

แต่หากนั่งเครื่องบินลำเดิมในอีก 80 ปีนับจากนี้  ภูผาน้ำแข็งยักษ์ใหญ่อันแวววามเหล่านั้นอาจไม่เหลืออีกแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2019 ศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการ (International Centre for Integrated Mountain Development: ICIMOD) ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ละเอียดที่สุดในปัจจุบันที่อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัย ฮินดูกูช การาโกรัม และปามีร์อย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นเทือกเขาที่ประกอบกันเป็นวงโค้งทอดผ่านอัฟกานิสถาน ปากีสถาน จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน และเมียนมา  การศึกษาดังกล่าวยังเตือนด้วยว่า หนึ่งในสามถึงสองในสามของธารน้ำแข็งราว 56,000 แห่งโดยประมาณในภูมิภาคแถบนี้จะละลายหมดไปภายในปี 2100 ขึ้นอยู่กับอัตราเร็วของภาวะโลกร้อน

หิมาลัย
หมู่บ้านก๊อกโย ซึ่งซุกตัวอยู่ข้างทะเลสาบที่รับน้ำส่วนหนึ่งจากธารน้ำแข็งโกซุมปาของเนปาล ไม่ต้องเผชิญอันตรายฉับพลันจากน้ำท่วม แต่ชุมชนอื่นๆในหิมาลัยกำลังถูกทะเลสาบธารน้ำแข็งที่มีน้ำสูงขึ้นคุกคาม (ภาพถ่าย: GETTY IMAGES/FENG WEI PHOTOGRAPHY)

นี่คือคำพยากรณ์อันน่าตระหนกสำหรับชาวเอเชียใต้ราว 1,900 ล้านคนที่อาศัยธารน้ำแข็งเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำหลัก ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อการบริโภคและสุขอนามัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเกษตร การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และการท่องเที่ยวด้วย  ไม่เพียงเท่านั้น การสำรวจยังตั้งคำถามที่เร่งด่วนกว่า นั่นคือ ขณะที่ธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วนี้ น้ำทั้งหมดประมาณ 3,850 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือราว 50 เท่าของโตนเลสาบในประเทศกัมพูชาจะไหลไปที่ไหน

คำตอบก็คือ เทือกเขา หิมาลัยซึ่งมีธารน้ำแข็งเป็นเอกลักษณ์มาช้านาน กำลังกลายเป็นเทือกเขาที่ขึ้นชื่อเรื่องทะเลสาบอย่างรวดเร็ว อันที่จริง การศึกษาอีกชิ้นพบว่าตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2010 เกิดทะเลสาบใหม่ๆที่รับน้ำจากธารน้ำแข็งละลายกว่า 900 แห่งในเขตเทือกเขาสูงทั่วเอเชีย

“มันเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดไว้ กระทั่งเมื่อห้าหรือ 10 ปีก่อนมากเลยครับ” อัลตัน ไบเออร์ส นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และนักธรณีวิทยาภูเขาประจำมหาวิทยาลัยโคโลราโดที่โบลเดอร์ บอก

ทีมนักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างแก่นตะกอนก้นทะเลสาบตาโบเชของเนปาล ใกล้หมู่บ้านก๊อกโย ชั้นตะกอนไม่เพียงให้เบาะแสว่า ทะเลสาบก่อตัวอย่างไรและเมื่อไร แต่ยังเอื้อให้นักวิจัยศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะต่างๆ ตามฤดูกาลได้เมื่อเวลาผ่านไป

เพื่อทำความเข้าใจการก่อตัวของทะเลสาบเหล่านี้  ให้ลองนึกภาพธารน้ำแข็งเป็นเหมือนรถแทรกเตอร์น้ำแข็งที่ค่อยๆไถพื้นที่ลาดเขาลงมา พร้อมกับขูดผืนดินลงไปด้วย โดยทิ้งเศษดินหินเป็น   สันสูงไว้ข้างๆ ขณะที่มันแล่นไปข้างหน้า  สันเหล่านั้นคือกองตะกอนธารน้ำแข็ง (moraine) และเมื่อ       ธารน้ำแข็งละลายและหดตัวลง น้ำก็ไหลลงไปในร่องที่เหลืออยู่โดยมีกองตะกอนธารน้ำแข็งเป็นเหมือนสันเขื่อนตามธรรมชาติ

“เริ่มจากแอ่งน้ำแข็งละลายหลายๆ แอ่ง” ไบเออร์สอธิบายและเสริมว่า “แล้วค่อยๆ เชื่อมต่อกันเป็นแอ่งเดียว กลายเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี”

และเมื่อทะเลสาบเต็ม น้ำอาจล้นข้ามกองตะกอนธารน้ำแข็งที่กั้นน้ำเอาไว้  หรือในกรณีเลวร้ายที่สุด กองตะกอนธารน้ำแข็งอาจพังลง  นักวิทยาศาสตร์เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “น้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง” (glacial lake outburst flood: GLOF) แต่ชาวเชอร์ปาเรียกว่า ชู-กยุมฮา หรืออุทกภัยขั้นหายนะ

เหตุน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็งในหิมาลัยครั้งน่าทึ่งที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคกุมบูของเนปาล ในวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1985 เมื่อน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งลังโมชีถล่มลงสู่ทะเลสาบดิ๊กรูปร่างคล้ายลูกแพร์ยาวราว 1.6 กิโลเมตร  ทะเลสาบนี้น่าจะมีอายุไม่ถึง 25 ปี  ตอนที่น้ำแข็งถล่มลงสู่ทะเลสาบ มันทำให้เกิดคลื่นสูงสี่ถึงหกเมตร ซึ่งทลายทำนบตะกอนธารน้ำแข็งและปลดปล่อยน้ำกว่าห้าล้านลูกบาศก์เมตรให้หลากท้นลงมาทางปลายน้ำ

น้ำท่วมทะลักทำลายสะพาน 14 แห่ง บ้านเรือนราว 30 หลังคาเรือน และโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่  รายงานบางฉบับบอกว่ามีผู้เสียชีวิตหลายคน “น้ำท่วมทะลักลักษณะนี้เกิดขึ้นเนืองๆครับ” ไบเยอร์สบอก “แต่เราไม่เคยพบเห็นทะเลสาบอันตรายจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ขนาดนี้มาก่อน  เรามีข้อมูลเกี่ยวกับทะเลสาบเหล่านี้น้อยมากครับ”

หิมาลัย
เมื่อเดือนพฤษภาคม นักวิทยาศาสตร์ล่องแพข้ามทะเลสาบตาโบเชซึ่งผิวน้ำส่วนใหญ่ยังเป็นน้ำแข็ง ตาโบเชและทะเลสาบอื่นๆในเขตคุมบูของเนปาลเป็นแหล่งน้ำสำคัญของคนในท้องถิ่น แต่ทะเลสาบ บางแห่งอาจเป็นอันตรายต่อชุมชนในหุบเขาบื้องล่าง ถ้าน้ำเอ่อล้นหรือทำให้ทำนบธรรมชาติพังทลาย

ยังมีภัยคุกคามอื่นๆ ซ่อนอยู่ใต้น้ำแข็งอีก  ขณะที่น้ำแข็งละลาย  ถ้ำใหญ่ๆจะกลายเป็นโพรงอยู่ภายในธารน้ำแข็งที่กำลังหดตัว  และอาจรับน้ำจนเต็มถ้ำ โพรงหรืออ่างเก็บน้ำที่ไม่มีใครรู้เหล่านี้ อาจเชื่อมต่อกับสระน้ำบนผิวดินผ่านปล่องในน้ำแข็ง  เมื่อช่องระบายน้ำของโพรงเก็บน้ำเกิดละลายอย่างฉับพลัน น้ำในสระที่เชื่อมต่อกันหลายสิบแห่ง ก็ไหลลงไปตามโพรงนั้นในทันที พอน้ำมาบรรจบกันย่อมทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ แม้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “น้ำท่วมจากปล่องธารน้ำแข็ง” (englacial conduit flood) นี้จะมีขนาดเล็กกว่าและมีอำนาจทำลายล้างต่ำกว่าน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง แต่กลับเกิดขึ้นบ่อยกว่าโดยที่เรามีข้อมูลเพียงน้อยนิด

แต่ตอนนี้ น้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็งคือข้อวิตกหลัก ไบเออร์สชี้ไปยังกองตะกอนธารน้ำแข็งที่ตีนธารน้ำแข็งคุมบูซึ่งตอนนี้มีสระเล็กๆกระจุกตัวอยู่ “นั่นคือทะเลสาบยักษ์แห่งใหม่ครับ” เขาบอกพลางชี้ไปยังกองตะกอนธารน้ำแข็งที่พูนสูงเหนือหมู่บ้านตักลา “แค่รอว่าเมื่อไรมันจะกลายเป็นภัยคุกคามเท่านั้น”

ผลการศึกษาเมื่อปี 2011 ชี้ว่า ทะเลสาบ 42 แห่งในเนปาลมีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุทกภัย ทั่วภูมิภาคหิมาลัยสูง (Greater Himalaya) หรือแนวเทือกเขาสูงที่สุดของระบบเทือกเขาหิมาลัย อาจมีทะเลสาบอยู่มากกว่าร้อยแห่ง

เรื่อง เฟรดดี วิลคินสัน

สารคดีเรื่องนี้สนับสนุนโดยโรเล็กซ์ ซึ่งร่วมกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จัดทำโครงการรณรงค์เพื่อโลกที่ยั่งยืน หรือสารคดีชุดว่าด้วยการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่พิเศษสุดของโลก ติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของการสำรวจสุดขั้วบนเมานต์เอเวอเรสต์ ในโครงการรณรงค์เพื่อโลกที่ยั่งยืนของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกและโรเล็กซ์ได้ที่ natgeo.com/perpetualplanet

อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2562


สารคดีแนะนำ

อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ : ปีนมือเปล่าโลกตะลึง

Recommend