จับตามองจันทรุปราคาเต็มดวง : ปรากฏการณ์ตื่นตาบนฟากฟ้า

จับตามองจันทรุปราคาเต็มดวง : ปรากฏการณ์ตื่นตาบนฟากฟ้า

จับตามอง”จันทรุปราคา”เต็มดวง : ปรากฏการณ์ตื่นตาบนฟากฟ้า

ผู้หลงใหลความงามบนฟากฟ้าอาจได้โชคสามต่อในค่ำคืนวันนี้ เมื่อ ซูเปอร์มูน ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองภายในเดือนเดียวกันยังเป็น”จันทรุปราคา”หรือ”จันทคราส”เต็มดวงอีกด้วย  ผู้ช่วยชาญด้านคลาสกล่าวว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่พบเห็นในรอบ 35 ปี และเป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปีที่คนในทวีปอเมริกาจะเห็นปรากฏการณ์นี้

คืนวันที่ 31 มกราคมนี้ พระจันทร์เต็มดวงที่เกิดขึ้นจะเป็น ซูเปอร์มูน ครั้งที่สองที่เกิดขึ้นในรอบเดือนเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระจันทร์สีน้ำเงิน หรือบลูมูน ขนาดที่เห็นใหญ่โตกว่าปกติของดวงจันทร์นั้นเกิดจากระยะทางที่โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด

จันทรุปราคา
จันทรุปราคาเต็มดวงบนฟากฟ้าเหนือเทือกเขา Zagros ในอิหร่าน (ภาพถ่าย: Babak Tafreshi, National Geographic Creative)

ถ้าเพียงเท่านี้ยังไม่ตื่นตาพอ ผู้คนในบางภูมิภาคของโลกยังจะเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงอีกด้วย และเมื่อเงามืดของโลกทาบทับบนดวงจันทร์ทั้งดวง บางครั้งเราจะเห็นดวงจันทร์กลายเป็นสีอมแดง เป็นที่มาของชื่อ พระจันทร์สีเลือด หรือ  บลัดมูน (blood moon) นั่นเอง

ความพิเศษที่จะเกิดขึ้นในค่ำคืนนี้จึงเป็นที่มาของชื่อปรากฏการณ์ว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน” (super blue blood moon)

จันทรุปราคา
จันทรุปราคาเต็มดวงแต่งแต้มสีแดงให้ดวงจันทร์บนฟากฟ้าเหนือหอดูดาว La Silla ในชิลี (ภาพถ่าย: Babak Tafreshi, National Geographic Creative)
  • ระยะทางที่ดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในคืนนี้อยู่ที่ประมาณ 223,069 ไมล์ (358,996 กิโลเมตร) ทำให้ ดวงจันทร์ในค่ำคืนนี้ดูใหญ่กว่าปกติราวร้อยละ 7 และดูสว่างขึ้นร้อยละ 14

 

  • ส่วนปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงนั้นนับว่าน่าตื่นตายิ่งนัก จันทรุปราคาเกิดขึ้นเมื่อโลกอยู่ระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์จึงโคจรผ่านเงามืดของโลก ทว่าคลาสไม่ได้เกิดขึ้นทุกเดือน เพราะองศาวงโคจรของดวงจันทร์ทำมุมเอียงกับวงโคจรของโลก ดวงจันทร์จึงมักโคจรสูงกว่าหรือต่ำกว่าเงามืดของโลก โดยเฉลี่ยเงามืดของโลกจะบดบังดวงจันทร์ทั้งดวงปีละ 2 ครั้ง

 

  • สาเหตุที่ทำให้เราเห็นพระจันทร์เป็นสีแดงหรือสีเลือด : แม้ว่าดวงจันทร์จะอยู่ในเงามืดในช่วงที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านบรรยากาศของโลกเกิดการหักเหไปทางด้านสีแดงของแถบสเปกตรัม และทาบทาบนพื้นผิวดวงจันทร์ ผลที่ตามมาคือ ดวงจันทร์ที่เราเห็นเป็นสีเทาเข้มในช่วงที่เกิดจันทรุปราคาบางส่วนค่อยๆ กลายเป็นสีส้มแดงเมื่อจันทรุปราคาเต็มดวง สีของดวงจันทร์ในช่วงที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงอาจแปรผันไปขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศโลกขณะนั้น เป็นต้นว่า หากมีกิจกรรมภูเขาไฟที่ส่งเถ้าธุลีปริมาณมหาศาลขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบน เราก็อาจได้เห็นจันทรุปราคาปรากฏสีแดงเข้มราวสีเลือด หรือ พระจันทร์สีเลือด นั่นเอง
จันทรุปราคา
พระจันทร์สีแดงจากจันทรุปราคาเต็มดวงปรากฏคู่กับภาพทางช้างเผือกบนฟากฟ้า (ภาพถ่าย: Babak Tafreshi, National Geographic Creative)

สำหรับค่ำคืนนี้ ผู้คนในภูมิภาคต่างๆ อาทิ ทางตอนเหนือของชายฝั่งตะวันตกหรือแถบเวสต์โคสต์ในอเมริกาเหนือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย จะสามารถเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้  นับว่าโชคดีที่จะได้เห็นปรากฏการณ์ 3 อย่างพร้อมกันใน Super Blue Blood Moon

สำหรับเมืองไทย คงต้องลุ้นให้ฟ้าเปิด เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ 3 อย่างนี้รวมถึงจันทรุปราคาเต็มดวงด้วยเช่นกัน

เรื่อง  แอนดรูว์ เฟซแคส

 

อ่านเพิ่มเติม

ดวงจันทร์ : ภาพถ่ายจากโครงการอะพอลโล รำลึก 49 ปี การขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์

Recommend