มรดกภารกิจ แคสซีนี-ไฮเกนส์ กับการสำรวจ ดาวเสาร์

มรดกภารกิจ แคสซีนี-ไฮเกนส์ กับการสำรวจ ดาวเสาร์

ในภาพประกอบนี้ ละอองไอน้ำและน้ำแข็งถูกพ่นออกจากปล่องน้ำร้อนบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส บริวารที่ใหญ่เป็นอันดับหกของดาวเสาร์ ภายใต้เปลือกเยือกแข็งคือมหาสมุทรซึ่งอาจมีเมล็ดพันธุ์ของชีวิตยุคแรกเริ่มซ่อนอยู่ (ภาพประกอบโดย มาร์ก การ์ลิก/SCIENCE PHOTO LIBRARY)

เกือบหกเดือนต่อมา ในวันก่อนวันคริสต์มาส ยานสำรวจไฮเกนส์ขนาดราว 2.7 เมตรและหนักประมาณ 318 กิโลกรัม ได้แยกตัวออกจากยานแคสซีนีและลดระดับลงถึงพื้นดวงจันทร์ไททันเมื่อวันที่ 14 มกราคม ปี 2005 ยานทำงานได้นานกว่า 72 นาทีหลังการลงจอด และส่งข้อมูลกลับไปยังยานแคสซีนีตลอดเวลานั้น บริเวณที่จอดยานเป็นที่ราบพื้นแน่นเต็มไปด้วยก้อนกรวด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นน้ำแข็ง บรรยากาศแวดล้อมเป็นหมอกสีส้มซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสารอินทรีย์

บรรยากาศของดวงจันทร์ไททันราวร้อยละห้าเป็นมีเทน ซึ่งดูจะมีบทบาทเหมือนน้ำบนโลก แม้ดวงจันทร์ไททันจะมีอุณหภูมิต่ำถึงติดลบ 179 องศาเซลเซียส แต่ก็มีหลายอย่างคล้ายโลก หลังการประเมินข้อมูลภารกิจ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในสหรัฐฯเรียนรู้ว่า ไฮโดรเจนไซยาไนด์ถูกสร้างขึ้นเนื่องจากปฏิกิริยาของมีเทนกับแสงแดดในบรรยากาศอันหนาแน่นของดวงจันทร์ไททัน และอาจมีชีวิตบนดาวเคราะห์ในระยะเริ่มแรกบางรูปแบบเกิดขึ้น

ในช่วง 13 ปีของการสำรวจ ยานแคสซีนีเผยแง่มุมที่เราไม่เคยรู้จักทุกรูปแบบเกี่ยวกับดาวเสาร์ ซึ่งใหญ่กว่าโลก 764 เท่า ยานค้นพบดวงจันทร์ใหม่จำนวนหนึ่ง รวมถึงดวงจันทร์มีโทนี, พาลลีนี, แอนที, แดฟนิส และอีจีออน การค้นพบอย่างอื่นคือแสงเหนือใต้ที่ขั้วดาวและพายุเฮอร์ริเคนยักษ์ ในจำนวนนี้ลูกหนึ่งที่สังเกตได้ในซีกใต้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 8,000 กิโลเมตร

สิ่งที่ถือกันว่าเป็นการค้นพบสุดมหัศจรรย์ของภารกิจแคสซีนี-ไฮเกนส์มาจากดวงจันทร์ไททันและดวงจันทร์อื่นๆ บางดวงของดาวเสาร์

หลังจากเกือบ 20 ปีของการเดินทางในอวกาศและการสำรวจ ภารกิจของยานแคสซีนีก็เสร็จสมบูรณ์ แนวบินสุดท้ายของยานคือการจงใจพุ่งเข้าสู่บรรยากาศของดาวเสาร์ เป็นการทำลายตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะไปปนเปื้อนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ (ภาพประกอบโดย NASA/JPL-CALTECH)

มหาสมุทรที่อาจมีเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตยุคแรกเริ่มซ่อนตัวอยู่ใต้เปลือกเยือกแข็งของดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับหกของดาวเสาร์ คือดวงจันทร์เอนเซลาดัส ภาพถ่ายจากกล้องบนยานแคสซีนีแสดงลำอนุภาคน้ำแข็งและไอน้ำหลายลำพุ่งขึ้นจากปล่องน้ำร้อนที่ก้นมหาสมุทรของดวงจันทร์ดวงนั้น ขณะที่ดวงจันทร์ไดโอนีเยือกแข็งมีหน้าผาธารน้ำแข็งและไอออนของโมเลกุลออกซิเจนซึ่งยืนยันความมีอยู่ของบรรยากาศที่เบาบาง สารประกอบไฮโดรเจนและคาร์บอนอันเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของชีวิตถูกพบบนดวงจันทร์ดวงประหลาดที่สุด คือดวงจันทร์ไฮเพียเรียน

ยานแคสซีนีอำลาเอกภพเมื่อวันที่ 15 กันยายน ปี 2017 ด้วยภารกิจเสร็จสมบูรณ์และเชื้อเพลิงใกล้หมด ผู้ควบคุมโครงการส่งยานไปตามแนวบินที่ควบคุมให้เข้าสู่บรรยากาศดาวเสาร์จนเผาไหม้เป็นจุณ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนที่อาจเกิดกับดวงจันทร์ของดาวเสาร์ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลปริมาณมหาศาลที่รอการตรวจสอบ และการค้นพบใหม่อันน่าตื่นใจก็น่าจะเกิดขึ้นได้อีกมากในหลายปีต่อจากนี้

เรื่อง อีวา แวน เดน เบิร์ก

 

อ่านเพิ่มเติม

มองโลกเปลี่ยนไปเมื่อได้ท่องอวกาศ

Recommend