เบอร์นี เคราส์ กับสรรพเสียงธรรมชาติที่เงียบงันลงทุกที ครั้งหน้าเมื่อออกไปในธรรมชาติ ลองหยุดนิ่ง หลับตา และเงี่ยหูฟังสิ เบอร์นี เคราส์ อยากให้เราทำอย่างนั้น ก่อนสายเกินไปที่จะฟังเสียงซิมโฟนีแห่งโลกธรรมชาติ เคราส์เป็นนักดนตรีแจ๊สผู้โด่งดัง ระหว่างเรียนปริญญาเอกสาขา Bioacoustics เขาก่อตั้งสาขา “นิเวศวิทยาของเสียงจากสิ่งแวดล้อม” เคราส์อัดเสียงต่างๆ จากป่าดงพงไพร ทั้งบนบกและในทะเล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เขารวบรวมเสียงจากถิ่นที่อยู่ต่างๆ มากกว่า 5 พันชั่วโมง บันทึกเสียงจากสิ่งมีชีวิตอย่างน้อย 15,000 ชนิด บางคนถือว่าห้องสมุดเสียงของเขาเป็นสมบัติของชาติ แต่ที่น่าเศร้าคือการรบกวนของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นทุกทีกำลังทำให้เสียงธรรมชาติเหล่านั้นแผ่วลง จากเสียงนกร้องถึงเสียงหมาป่าหอนและเสียงขยับจังหวะของแมลง และเสียงที่บันทึกจากระบบนิเวศหลายแห่งที่เคราส์เรียกว่า “biophonies”—เสียงสรรพชีวิต—ก็หยุดบรรเลงไปตลอดกาลเสียแล้ว “ออร์เคสเตรธรรมชาติกำลังสาบสูญไป ไม่ใช่แค่เสียง แต่เป็นตัวผู้บรรเลงเองด้วย” เคราส์ เคยให้สัมภาษณ์ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ว่าทำไมเสียงของธรรมชาติจึงสำคัญ เสียงจากสิ่งแวดล้อม (soundscape) บอกอะไรเราต่างไปจากภูมิทัศน์ (landscape) ? แน่นอน มีตัวอย่างหนหนึ่งที่บริษัทตัดไม้เข้าไปยังเซียราเนวาดา เมื่อ พ.ศ. 2531 ผมบันทึกเสียงธรรมชาติตอนรุ่งอรุณทั้งก่อนและหลังการตัดไม้ ถ้ามองด้วยตาเปล่า ป่าดูเหมือนเดิมหลังจากต้นไม้ที่ถูกเลือกตัดบางต้นถูกขนย้ายออกไป แต่เสียงนกที่เคยร้องหายไปอย่างมากและแม้อีกทศวรรษให้หลัง เสียงนกร้องแบบที่เคยมีดั้งเดิมก็ยังไม่หวนกลับมาอีกเลย […] Environment